ไม่พบผลการค้นหา
ศาลแขวงดุสิต อนุญาตฝากขัง 19 ผู้ชุมนุม พิเคราะห์แล้วมีพฤติการณ์ก่อความวุ่นวาย ยากต่อการควบคุม ปล่อยไปเชื่อว่าจะกระทำซ้ำ

วันที่ 14 ต.ค.2563 ที่ศาลแขวงดุสิต ถ.นครไชยศรี ภายหลังพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ได้นำตัวผู้ชุมนุมกลุ่มคณะราษฎรจำนวน 19 คน มายื่นคำร้องผัดฟ้องฝากขังครั้งที่ 1 เป็นเวลา 6 วัน เนื่องจากควบคุมตัวจะครบ 48 ชั่วโมงแล้วยังไม่สามารถยื่นฟ้องได้ 

โดยผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ ภายหลังถูกจับกุมพร้อม จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน เมื่อวันที่ 13 ต.ค. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน

ผู้ต้องหา 19 ราย ประกอบด้วย

  • วชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์ ผู้ต้องหาที่ 1
  • ปริญญ์ รอดระหงษ์ ผู้ต้องหาที่ 2
  • ปวริศ แย้มยิ่ง ผู้ต้องหาที่ 3
  • ฐิติสรรค์ ญาณวิกร ผู้ต้องหาที่ 4 
  • ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ผู้ต้องหาที่ 5 
  • วันชัย สุธงสา ผู้ต้องหาที่ 6
  • วรางคณา แสนอุบล ผู้ต้องหาที่ 7
  • นันทพงศ์ ปานมาศ ผู้ต้องหาที่ 8
  • ทวีชัย มีมุ่งธรรม ผู้ต้องหาที่ 9
  • เมยาวัฒน์ บึงมุม ผู้ต้องหาที่ 10
  • ธนกฤต สุขสมวงศ์ ผู้ต้องหาที่ 11
  • เพ็ญศรี เจริญเณรรักษา ผู้ต้องหาที่ 12 
  • อภิชญา เพิ่มพงษ์พิพัฒน์ ผู้ต้องหาที่ 13
  • มุสิก ผิวอ่อน ผู้ต้องหาที่ 14
  • ภักดี ศรีรัตอำไพ ผู้ต้องหาที่ 15 
  • นวพล ต้นงาม ผู้ต้องหาที่ 16
  • กิตติภูมิ ทะสา ผู้ต้องหาที่ 17 
  • ทรงพล สนธิรักษ์ ผู้ต้องหาที่ 18 
  • จิรวัฒน์ รูปใหญ่ ผู้ต้องหาที่ 19

ทั้งนี้ ผู้ต้องหา 19 คน ได้ยื่นคำคัดค้านการปัดฟ้องฝากขัง เพราะเห็นว่าการชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ โดยคดีไม่มีเหตุจะฝากขัง เพราะอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน


ศาลกลัวก่อความวุ่นวายอีก

เวลาประมาณ 20.00 น. ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องฝากขังครั้งที่ 1 สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 19 คนได้เป็นเวลา 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 14-19 ต.ค.นี้ เนื่องจากเห็นว่า ตามคำร้องของพนักงานสอบสวนอ้างว่า ต้องรอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือและสอบพยานเพิ่มเติม ซึ่งพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนพยานดังกล่าวได้โดยชอบ กรณีมีเหตุจำเป็นไม่สามารถยื่นฟ้องได้ทันภายใน 48 ชั่วโมงเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 19 คนพร้อมแจ้งข้อกล่าวหาหลายข้อกล่าวหา 

ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ผู้ต้องหาทั้ง 19 คน มีพฤติการณ์ส่อไปในทางที่ก่อให้เกิดความรุนแรง และมีพฤติการณ์ต่อสู้เจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ในลักษณะเป็นกลุ่มชนหมู่มาก อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะก่อความวุ่นวายในที่ชุมนุมและยากต่อการควบคุมสถานการณ์อันอาจเกิดอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้อื่นและประชาชน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในช่วงเวลานี้เชื่อว่าจะไปร่วมก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองอีก จึงให้ยกคำร้อง


เจอ 10 ข้อหา

ข่าวสดรายงานว่า ผู้ชุมนุมเจอเอาผิดทั้งหมด 10 ข้อกล่าวหา ดังนี้

1.ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ประมวลกฎหมายอาญา

2.ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกันในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน มาตรา 9/ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3.ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวางหรือทอดทิ้งสิ่งของหรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด ประมวลกฎหมายอาญา

4.ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดส่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร พ.ร.บ.จราจราทางบก

5.ร่วมกัน ตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535

6.ร่วมกันขูด กระเทาะ ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ บนถนน พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535

7.ร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ประมวลกฎหมายอาญา

8.ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ประมวลกฎหมายอาญา 

9.ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ประมวลกฎหมายอาญา 

10.ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ พ.ร.บ.ควบคุมโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: