ไม่พบผลการค้นหา
หาคำตอบทำไมผู้ประกอบการสถานบันเทิงหลายแห่ง ถึงเลือกใช้ทหาร-ตำรวจ ดูแล

เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจก้าวเข้าไปช่วยดูแลความปลอดภัยให้กับสถานบันเทิง ในช่วงเวลานอกราชการ เขาอาจมีความมุ่งหวังเพียงแค่รายได้พิเศษ ตามข้อเสนอที่เจ้าของสถานบันเทิงหยิบยื่นให้ 

อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำหน้าที่ในฐานะลูกจ้างหรือลูกน้อง ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพล มากกว่านั้นยังอาจหมายถึงการเพิ่มโอกาสให้เกิดการปล่อยปละละเลยหรือเอื้อประโยชน์ในทางที่มิชอบได้อีกด้วย 


ร้านปลอดภัย-จนท.ได้เงิน

เร็วๆ นี้เพิ่งมีเหตุสลด ‘ดาบตำรวจ’ ที่ภายหลังมีการระบุว่าเป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลสถานบันเทิง ย่านสุขุมวิท กรุงเทพฯ ก่อเหตุชกต่อยกับชาวต่างชาติ ก่อนควักปืนไล่สังหารคู่กรณี ตายคาล็อบบี้อาคารแห่งหนึ่ง คำถามที่สังคมสงสัยก็คือ เหตุใดจึงต้องใช้เจ้าหน้าที่รัฐคุมสถานบันเทิง 

พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร หรือ ผู้การวิสุทธิ์ อดีตนายตำรวจฝีปากกล้า อธิบายว่า ต้นเหตุของการว่าจ้างเจ้าหน้าที่รัฐมาช่วยดูแลร้านเหล้า เกิดจากการทำธุรกิจสถานบันเทิงผิดกฎหมาย โดยแบ่งการจ่ายออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ 1. ส่วย 2. ค่าจ้างดูแล ทั้งหมดมีเหตุผลเพื่อให้ธุรกิจดำเนินการได้โดยสะดวก 

“ทำเลทองพื้นที่ที่มีแหล่งอบายมุขเยอะ ไม่ว่าจะสถานบันเทิง สถานบริการ ไม่มีใบอนุญาตเปิดใกล้สถานศึกษาหรือวัดวาอาราม ใช้เหล้าเถื่อน ไม่เสียภาษี พวกนี้มันต้องเคลียร์ทุกฝ่าย ตั้งแต่ตำรวจทั้งในท้องที่และหน่วยอื่น ทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ใครที่มีอำนาจจับกุมต้องจ่ายหมด เป็นรายวัน รายเดือน แล้วแต่ตกลง ไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ได้”

ส่วนการว่าจ้างเจ้าหน้าที่รัฐมาเป็นการ์ดหรือคนคอยดูแลร้าน มีเหตุผลในด้านความปลอยภัยและมีบางประเภทที่ว่าจ้างเพื่อหวังใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวลดหย่อนมูลค่าการจ่ายส่วย

“สถานบันเทิงมันเสี่ยงอยู่แล้ว ทั้งทะเลาะวิวาท นักเลงกินฟรี ยาเสพติด พกพาอาวุธ ถ้าอยากให้ปลอดภัยก็ใช้ตำรวจ ทหาร เป็นการ์ดดูแลไปเลย แต่ไฮไลท์คือถ้าไม่อยากจ่ายเยอะ ก็หาจ้างพวกทหาร ตำรวจมาดูแลร้านซะ ตัวอย่างเช่น ให้เสธ ก. มาดูแล เสธก็ไปเอาลูกน้องมาเป็นการ์ด เสธยังสามารถประสานกับทหารได้ มันก็ตัดค่าใช้จ่ายไปส่วนหนึ่ง ไหนจะเคยเรียนเตรียมทหารรุ่นนั้น รุ่นนี้ มีเพื่อนรักเป็นผู้กำกับ เป็นรองผู้การ ก็ตีตั๋วฟรี ลดค่าใช้จ่ายไปอีก ฝ่ายปกครองมาก็บอก ผมขอเคลียร์ 50 เปอร์เซนต์นะ” นายตำรวจฝีปากกล้าเล่า 


 AFP-ตำรวจ-ตรวจค้น-จับกุม-นานา-พัฒน์พงษ์-รวบชาวต่างชาติ-


น่าเกรงขาม ป้องกันเหตุร้าย 

ผู้ประกอบการอย่าง วรวุฒิ (นามสมมุติ) หุ้นส่วนสถานบันเทิงย่านไฮโซ ‘ทองหล่อ-เอกมัย’ เลือกใช้เจ้าหน้าที่ทหารเป็นการ์ดด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและความสัมพันธ์ในกลุ่มธุรกิจประเภทเดียวกัน  

“ในวงการถ้าจะนึกถึงการ์ดสักกลุ่มเราก็จะนึกถึงทหาร เพราะเขาทำมานาน เช่นเจ้าของร้านรู้จักนายทหารยศสูง ก็ไปขอให้เขาจัดหาลูกน้องมาช่วยดูแล สองคือ ทหารเขามีกลุ่มก้อนและรู้จักกัน หากร้านใกล้เคียงมีปัญหา หรือร้านเรามีปัญหาก็สามารถเรียกพรรคพวกจากร้านอื่นๆ มาช่วยเหลือได้ สาม ทหารได้รับการฝึกฝนในแง่ระเบียบวินัย ความแข็งแรง ขณะที่รูปลักษณ์ภายนอกยังมีผลให้นักท่องเที่ยวเกรงขามอีกด้วย” 

เขาบอกต่อว่า สถานบันเทิงบางแห่งที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นหุ้นส่วน ก็ง่ายต่อการว่าจ้างลูกน้องมาช่วยดูแล ซึ่งมักทำหน้าที่ได้ดีมาก เนื่องจากเห็นว่าเป็นร้านของเจ้านายตัวเอง โดยค่าจ้างของการ์ดอยู่ที่คืนละ 500-600 บาทต่อคน หรือคิดเป็นชั่วโมงละ 100 บาท 

เจ้าของสถานบันเทิงที่มีประสบการ์ในวงการสังสรรค์มากว่า 10 ปี เห็นว่า การว่าจ้างเจ้าหน้าที่อย่างทหารและตำรวจ ไม่ถือเป็นการเอาเปรียบหรือเบียดเบียนเวลาของรัฐแต่อย่างใด 

“เป็นเวลานอกราชการ เงินเดือนตำรวจทหารชั้นประทวนก็น้อยมาก ถ้ากินอยู่ไม่พอใช้ ก็ต้องอยากหารายได้พิเศษ เป็นโอกาสของเขา” 


โรงหนังสถานบันเทิงเปิดได้แต่ต้องให้อยู่ในพื้นที่ปิด

ไม่มีแล้วตำรวจ-ทหารมาเฟีย ?

เมื่อช่วงเดือน ก.ย. พ.ท.ปิยะภัทร เสนีวงษ์ หัวหน้ากรมกำลังพลทหารบก (กพ.ทบ.) มีคำสั่งส่งถึงกำลังพลทุกหน่วยสังกัดกองทัพบก “ให้ปฏิบัติตามคำสั่ง ทบ.ที่ 1301/2534 ลงวันที่ 17 ธ.ค.34 เรื่องให้ข้าราชการไปเกี่ยวข้องกับสถานเริงรมย์ แหล่งอบายมุข เช่น ห้ามข้าราชการไปทำงานหรือเกี่ยวข้องกับสถานเริงรมย์ ร้านค้า ร้านอาหาร สถานบริการ แหล่งอบายมุขต่างๆ หรือกิจการใดๆ ที่ไม่สมควร รวมถึงการประกอบอาชีพเสริมนอกเวลาราชการ จะต้องเป็นงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อการปฏิบัติราชการ หรืองานนั้นมีผลกระทบต่อหน้าที่ประจำ และการประกอบอาชีพเสริมจะต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชารับทราบ”

ซึ่งระเบียบการห้ามไปยุ่งเกี่ยวกับ ‘อบายมุข’ นั้น มีการวิเคราะห์ว่า เป็นการป้องกันการใช้ ‘อิทธิพล’ ผ่านเครื่องแบบไปในตัว เพราะธุรกิจเหล่านี้ในอดีตก็เป็นจุดกำเนิดของ ‘ทหารมาเฟีย - คนมีสี’ รวมถึงป้องกันการไป ‘เรียกรับประโยชน์’  

ขณะที่ฟากฝั่งของตำรวจ พล.ต.ต.ปิยพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บอกว่า ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบห้ามเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เวลานอกราชการไปรับงานพิเศษดูแลสถานบันเทิง 

“ห้ามจริงๆ ไม่มีหรอก มันอยู่ที่การจัดเวร แบ่งเวลาหน้าที่ของเขาเอง แต่ต้องไม่ผิดกฎหมายและไม่กระทบกับการทำงาน”

เขาบอกว่า สมัยนี้แทบไม่มีอีกแล้ว พฤติกรรมมาเฟีย ไปทำหน้าที่ควบคุมดูแลสถานบันเทิงหรือสร้างอิทธิพล ปัญหาที่เกิดขึ้นมักเกิดจากพฤติกรรมส่วนตัวของบุคคล โดยอาศัยความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าของร้านไปกระทำความผิดหรือแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม 

“มีพวกตำรวจนอกแถว เวลาออกเวรแล้วไปสร้างเพาเวอร์ให้ตัวเอง เป็นเรื่องส่วนบุคคล บางคนเป็นพวกสายสืบไปหาข่าวตามแหล่งสถานบันเทิง คลุกคลีตีมงในท้องที่นั้น ไปทุกวันบ่อยเข้าก็รู้จักคุ้นเคยกับคนในพื้นที่ กลายเป็นขาใหญ่ พอเกิดเหตุวิวาทหรือปัญหาขึ้น ก็ทำให้ถูกมองว่าเป็นตำรวจคุมร้าน ทั้งที่ไม่ใช่” 

รองโฆษกตร. บอกว่า ปัจจุบัน สตช. มีนโยบายส่งสายตรวจเดินเท้าป้องกันอาชญากรรมตามพื้นที่สถานบันเทิงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องจ้างตำรวจไปดูแลสถานบันเทิงแต่อย่างใด 

“สมัยนี้เขาไม่ต้องจ้างหรอก เพราะถือว่าเราไปทำงานดูแลความปลอดภัยให้เขาฟรีอยู่แล้ว ”


CLIP Wake Up News : ห้ามเด็กเข้าร้านเหล้าไม่พอ ต้องทำพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กด้วย

การ์ดมืออาชีพ ลดผลประโยชน์ทับซ้อน 

ทางออกของปัญหาดังกล่าวอาจเป็นการกำหนดกฎหมายและยกระดับให้มีอาชีพผู้ดูแลรักษาความปลอดภัยหรือการ์ดประจำสถานบันเทิงอย่างชัดเจน 

พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ พูตระกูล ประธานหลักสูตรอาชญาวิทยาและบริหาร งานยุติธรรม วิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์ว่า ไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะสำหรับการดูแลความปลอดภัยสถานบันเทิงเหมือนในประเทศที่พัฒนาแล้ว ตัวอย่างเช่น อังกฤษ ที่มีการเปิดให้ขึ้นทะเบียนอาชีพการ์ด ซึ่งต้องผ่านการอบรม มีการแสดงตัวตนที่ชัดเจน 

“มืออาชีพมาก ดูแลความปลอดภัยรอบด้าน ทั้งยาเสพติด อาวุธ เหตุวิวาท รวมถึงควบคุมจำนวนผู้เข้าสถานบันเทิงอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันหากเกิดเหตุเพลิงไหม้”

การไม่มีกฎหมายดูแลอย่างเฉพาะเจาะจง ส่งผลต่อความทับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ทางราชการ 

“มีทั้งพวกที่ออกจากราชการไปแล้วและรับงานในเวลานอกราชการ ซึ่งเป็นความก้ำกึ่งกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ทางราชการ เช่น วันนี้ไม่ได้เข้าเวร ก็ไปดูแลสถานบันเทิง ผลก็คือ หากคนที่ไปเที่ยวรู้จักมักคุ้นกับการ์ด เป็นผู้มีอิทธิพลหรือเป็นหุ้นส่วนรู้จักกับเจ้าของร้าน ก็อาจมีผลให้เกิดความอะลุ่มอะหล่วยและลดความเข้มงวดในการตรวจค้นได้เช่นกัน”


police-378255_1280.jpg

ความไม่มืออาชีพและไร้กฎหมายดูแลยังอาจนำไปสู่ปัญหาการโยกย้ายตำรวจท้องที่ ซึ่งนักวิชาการด้านอาชญวิทยารายนี้มองว่า เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ 

“เวลาสถานบันเทิงถูกสุ่มตรวจจากหน่วยงานส่วนกลาง แล้วพบเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีหรือเจอยาเสพติด ก็จะตามมาด้วยคำสั่งโยกย้ายตำรวจในท้องที่ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ในทางกลับกัน ถ้ามีกฎหมายดูแลสถานบันเทิงที่กำหนดจำนวนการ์ดต่อพื้นที่สถานบันเทิง มีทะเบียน ได้รับการอบรมมาตรฐานความรู้ทางกฎหมายและแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ลักษณะนี้จะช่วยเหลือตำรวจในการดูแลท้องที่ได้มาก และหากวันข้างหน้าตำรวจตรวจพบว่า ผับแห่งนี้มีการปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าหรือพบยาเสพติด การ์ดและผู้ดูแลการ์ดต้องรับผิดชอบด้วย คุณปล่อยให้เข้าไปได้ยังไง” 

ทั้งนี้เขาเห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรอ้างเรื่องหารายได้พิเศษ เพื่อรับงานที่สุ่มเสี่ยงหรือก้ำกึ่งกับผลประโยชน์ส่วนตัว ที่สำคัญที่ผ่านมามักพบว่า อาชญากรรมและยาเสพติดมักจะเกิดขึ้นที่สถานบันเทิง ฉะนั้นควรถอยออกมาเป็นผู้ควบคุมให้ทุกฝ่ายปฏิบัติงานได้ตามมาตรฐาน 

ภาพบางส่วนจาก Photo by Dan Gold on Unsplash และ Sora Sagano on Unsplash

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog