กระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปวงการนักมวยเด็กดังกระฉ่อน ภายหลังการเสียชีวิตของเพชรมงคล ป. พีณภัทร หรือ ด.ช.อนุชา ทาสะโก วัย 13 ปี จากสาเหตุเลือดคั่งในสมอง หลังขึ้นชกบนสังเวียนใน จ.สมุทรปราการ
นาทีนี้ฝ่ายหนึ่งกำลังเห็นว่ามวยเด็ก กลายเป็นสิ่งบั่นทอนวงการและถึงเวลาห้ามเด็กอายุน้อยกว่า 12 ปีชกมวยอย่างเด็ดขาด ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าการสั่งแบนมวยเด็กนั้นเป็นเรื่องเกิดเหตุและส่งผลกระทบต่อการพัฒนานักกีฬา
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และ ผอ.วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีระบุว่า ผลศึกษาและงานวิจัยความแตกต่างระหว่างสมองของเด็กที่ชกมวย 323 คน กับเด็กทั่วไปที่ไม่ได้ชกมวย 253 คน ที่ศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้า (ไอแมค) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า การชกมวยในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีนั้นมีผลต่อสมองของเด็ก คือ
1.เลือดออกในสมองจากการถูกชกหัว ทำให้มีธาตุเหล็กสะสมในปริมาณที่สูงจะส่งผลต่อการทำลายเนื้อเยื่อสมองและทำให้สมองฝ่อ
2.เซลล์สมองและใยประสาทฉีกขาด ถูกทำลาย ทำให้สมองไม่สามารถสั่งการได้ตามปกติ เพราะเซลล์สมองสร้างสัญญาณที่เดินทางผ่านใยประสาท เพื่อส่งไปสั่งการส่วนต่างๆ ของร่างกาย เปรียบเสมือนกับเครื่องกระจายเสียง
3.การทำงานของสมองด้านความจำลดลง นำไปสู่อาการบกพร่องทางปัญญา หรือภาวะสมองเสื่อม
4.ยิ่งชกนานไอคิวหรือระดับสติปัญญายิ่งต่ำ พบว่าน้อยกว่าเด็กทั่วไปเกือบ 10 คะแนน
โดยระดับไอคิวของเด็กทั่วไปในประเทศไทยอยู่ระหว่าง 90-110 ซึ่งสามารถเรียนจบระดับอนุปริญญาหรือปริญญาตรี ส่วนนักมวยเด็กที่ขึ้นชกมากกว่า 5 ปีมีไอคิว 84 คะแนน ซึ่งคะแนนระหว่าง 80-89 จะสามารถเรียนจบระดับมัธยมปลายเท่านั้น
เขาบอกว่าผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นวิทยาศาสตร์ ข้อเท็จจริงที่ทุกคนควรยอมรับและเปลี่ยนแปลงวิธีคิดตลอดจนทัศนคติ ที่มีต่อมวยเด็ก เช่น ทำไปเพื่อหาเลี้ยงชีพ ช่วยเหลือครอบครัวเพราะข้อกล่าวอ้างเหล่านั้นส่งผลกระทบในทางลบต่อเด็ก
รศ.นพ.อดิศักดิ์ เรียกร้องให้การกีฬาแห่งประเทศไทย ทำการ แก้ไข พ.ร.บ. มวย 2542 ห้ามเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี ชกมวยไทยอาชีพ โดย 1. ขอให้ยกเลิก ข้อความตอนหนึ่งในมาตรา 29 ที่ระบุว่า ผู้เยาว์ที่ได้จดทะเบียนเป็นนักมวยแล้ว อาจทำนิติกรรมอันเกี่ยวข้องกับการแข่งขัน กีฬามวยได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอม จากผู้แทนโดยชอบทำอีก
จากข้อความนี่ทำให้มองว่า “มวยไทย” ซ่อนเร้นด้วยการ“หาผลประโยชน์จากเด็ก” ซึ่ง เป็น หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ไทยถูกจัดอยู่ในระดับ Tier 3 จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ของสหรัฐอเมริกา เพราะในต่างประเทศถือว่ามวยเด็กเป็นการทารุณกรรม เป็นการใช้แรงงานเด็กขั้นเลวร้ายที่สุด ที่ผ่านมามีสื่อต่างชาติรายงานข่าวเรื่องมวยเด็กในไทยออกมาในเชิงลบอยู่เป็นประจำ
2. ให้ระบุในมาตรา 29 ว่า ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 15 ปี ให้เล่นกีฬามวยไทยได้ ตามระเบียบมวยสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี โดยมีรายละเอียด ดังนี้คือ
อายุต่ำกว่า 9 ปี ให้แค่รำมวย แสดงท่าทางอันหลากหลายของแม่ไม้มวยไทย เน้นสวยงาม เตะต่อยเป้า
อายุ 9-12 ปี แข่งแบบปะทะได้ แต่ห้ามชกศีรษะ ถ้าชกที่ศีรษะจะไม่ได้คะแนน แถมถูกตัดคะแนน หรือจับแพ้ ที่สำคัญต้องใส่บอดี้การ์ด หรือเฮดการ์ดด้วย
ส่วนอายุ 13-15 ปี แข่งแบบปะทะได้ มุ่งเป้าศีรษะได้ แต่ต้องชกแบบเบา เน้นเข้าเป้า ไม่เน้นการทำให้น็อก การได้คะแนนจะวัดจากความแม่นยำ ไม่ใช่การต่อสู้กันแบบเอาเป็นเอาตายเหมือนที่เป็นอยู่
“กติกาเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมนักกีฬา เราควรเน้นไปที่ความแม่นยำมากกว่าความรุนแรง เป็นลักษณะสัมผัสเท่านั้น โดยสวมเฮดการ์ดไว้ด้วยเพื่อป้องกันหากเกิดความรุนแรงขึ้น ผมไม่คิดว่าเด็กจะเก่งน้อยลงหากเรารักษาสมองของเขาตามวัย”
รศ.นพ.อดิศักดิ์ มองว่าผลกระทบอย่างเดียวของการเปลี่ยนแปลงกติกาไม่ใช่ทักษะความสามารถที่ลดลงของเด็ก แต่เป็นเรื่องของความสนุกสนานในการเชียร์
“ผู้ใหญ่บางคนเชียร์ไม่มัน แต่ผมถามว่าเลิกได้หรือยังการเชียร์ให้เด็ก 7-8 ขวบ มันจ้วงหัวกัน เตะก้านคอกัน พอได้หรือยัง”
(Photo by Frida Aguilar Estrada)
ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก กล่าวว่า ความรุนแรงที่มาปะทะกับศีรษะจนทำให้เลือดออกในสมองและสร้างความเสียหาย ประกอบไปด้วย 2 แรง คือ แรงตรงกับแรงหมุน
แรงตรง – คือการกระแทกทางตรง ศีรษะเคลื่อนที่ตามแรงกระแทกนั้น ตัวอย่างเช่น ถูกหมัดพุ่งตรงมาด้านหน้า ส่งผลให้ศีรษะกระแทกไปด้านหลัง ลักษณะนี้เฮดการ์ดช่วยในการกระจายน้ำหนักและลดความรุนแรงที่พุ่งตรงมา
แรงหมุน – คือแรงที่กระแทกที่ใบหน้าด้านข้างหรือส่วนปลายคาง แรงหมุนลักษณะนี้อุปกรณ์อย่างเฮดการ์ดช่วยได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องการศีรษะเกิดการเคลื่อนที่เป็นวงกลมหรือหมุน จนกระทบต่อเส้นประสาท
“หมัดที่ชกเข้าใบหน้าด้านขวา ตัวแรงไม่ได้วิ่งจากขวามาซ้าย แต่ส่งผลให้ศีรษะหมุนสะบัดเป็นวงกลม ซึ่งทำให้สมองเกิดความเสียหาย เซลล์ประสาทด้านนอกเคลื่อนที่ด้วยความเร็วขณะหนึ่ง เส้นใยประสาทก็เคลื่อนที่ด้วยความเร็วขณะหนึ่งเช่นกัน ทำให้เกิดการฉีกขาด เฮดการ์ดช่วยไม่ได้แล้ว มันช่วยกระจายความรุนแรงเมื่อตอนปะทะแต่จังหวะแรงหมุนสะบัดช่วยไม่ได้ นอกจากนั้นเฮดการ์ดยังทำให้น้ำหนักศีรษะเพิ่มมากขึ้น ตามหลักฟิสิกส์ แรงมันขึ้นอยู่กับมวล ฉะนั้นการใส่เฮดการ์ดกลับส่งผลเสียมากขึ้น สำหรับการถูกชกด้านข้างที่นำไปสู่แรงหมุน”
(Photo by Nathz Guardia on Unsplash)
นพ.อี๊ด ลอประยูร ผู้อำนวยการบริหารโรงพยาบาลปิยะเวท และแพทย์ที่ดูแลอาการบาดเจ็บของนักกีฬาทีมชาติไทย ระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า การใส่ที่ป้องกันศีรษะอย่างเฮดการ์ด ไม่ช่วยป้องกันสมองบาดเจ็บจากการถูกกระทบกระเทือน ซึ่งกลายเป็นเหตุผลให้ปัจจุบันมวยสากลสมัครเล่นเลิกบังคับให้นักมวยชายใส่ที่ป้องกันศีรษะเวลาขึ้นชก
“การบาดเจ็บของสมองเวลาศีรษะถูกกระแทกเกิดจากกลไกดังแสดงในภาพที่ 2. นั่นคือ ตามลักษณะทางกายวิภาคสมองนิ่มๆ ของเราถูกบรรจุลอยอยู่ในกะโหลกศีรษะที่แข็งมากและมีน้ำอยู่เต็ม เมื่อถูกกระแทกด้านหน้าศีรษะจะถูกดันเอียงไปทางด้านหลังอย่างเร็วเนื้อสมองก็จะถูกเหวี่ยงไปกระทบกับกะโหลกศีรษะด้านหน้าอย่างแรง จากนั้นเมื่อศีรษะเหวี่ยงก้มกลับมาทางด้านหน้าอย่างเร็วสมองด้านหลังก็จะถูกเหวี่ยงไปกระแทกกับกะโหลกศรีษะด้านหลังอย่างแรงอีกครั้ง การที่สมองทั้งหมดถูกกระแทกเหวี่ยงไปมาก็จะเกิดการบาดเจ็บจะน้อยหรือมากก็จะขึ้นกับแรงหรือการกระแทกที่เกิดขึ้นว่ารุนแรงหรือต่อเนื่องอยู่นานเท่าใด”
“ซ้ำร้ายเมื่อใส่นวมและที่ป้องกันศีรษะยิ่งทำให้การบาดเจ็บของสมองเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความรู้สึกว่ามีที่ป้องกันทั้งมือและศีรษะ แรงที่ชกก็จะทำได้มากขึ้น หนักขึ้น เพราะไม่เจ็บทั้งมือและหน้า แต่สมองที่เรามองไม่เห็นนั้นความเป็นจริงกลับถูกทำร้ายต่อเนื่องตลอดเวลาครับ”
นพ.อี๊ด ระบุว่า สำหรับที่ป้องกันศีรษะจะช่วยลดการบาดเจ็บของใบหน้า เช่น การเกิดแผลแตก การมีใบหน้าช้ำ การแตกของกระดูกใบหน้า เป็นต้น
การชกมวยเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ในลักษณะเป็นการชกมวยอาชีพ มีความขัดแย้งกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ซึ่งระบุ “ให้ผู้ปกครองดูแลมิให้เด็กทำงานหรือประกอบกิจการเพื่อหารายได้อันจะเป็นอันตรายต่อเด็ก”และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่ง “กำหนดมิให้มีการใช้แรงงานในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี”
"วาสนา เก้านพรัตน์" ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ระบุว่า การเติบโตของเด็กควรได้รับการดูแลพัฒนาทักษะที่หลากหลายตามวัย การนำเด็กไปสู่โหมดของการฝึกฝนเพื่อเป็นนักมวยอาชีพตั้งแต่ยังเล็ก ส่งผลให้เขาได้รับการพัฒนาเพียงแค่ด้านเดียวคือความชำนาญในการเป็นนักมวยเท่านั้น ทั้งที่การเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์ไม่ได้มีแค่นั้น
เธอกล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 ระบุคีเวิร์ดอย่างชัดเจนว่า ผู้ปกครองเด็กไม่ว่าจะเป็นบิดา มารดา พ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยง ต้องเป็นคนทำหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองเด็ก ซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ
“เราไม่ควรปล่อยให้เด็กเข้ามาสู่สังเวียนตั้งแต่เล็ก ที่บอกว่าต้องทำเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ มันกลับบทบาทกันหรือเปล่า ผู้ปกครองต่างหากที่ต้องทำหน้าที่เลี้ยงดูเด็กตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมาย คำถามคือ การส่งเสริมให้เด็กชกมวย เป็นประโยชน์สูงสุดที่เด็กหรือผู้ใหญ่ได้รับกันแน่”
เธอยืนยันไม่ได้ปฏิเสธความยากจนที่เกิดขึ้นกับเด็ก ซึ่งเป็นแรงขับให้รู้สึกต้องออกมาทำอาชีพเพื่อช่วยเหลือครอบครัว อย่างไรก็ตามเห็นว่าปัจจุบันประเทศไทยมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก คอยดูแลอยู่แล้ว ซึ่งประเด็นสำคัญคือการทำให้เด็กยากจนเหล่านี้เข้าถึงบริการของรัฐ
“เขาเข้าถึงบริการของรัฐหรือเปล่า คือสิ่งที่เราต้องทำให้สังคมเข้าใจ คุณทำให้คนเหล่านั้นเข้าถึงสิ ไม่ใช่เอาชีวิตเด็กไปเสี่ยง มันมีความจนจริง แต่มันมีทางออกอื่น ถ้าคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก อย่าเอาคำเหล่านี้มาอ้างเลย”
ทั้งนี้เว็บไซต์ tcijthai รายงานผลการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนตาม พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ. 2542 จากข้อมูล ณ วันที่ 6 มี.ค. 2560 พบว่าในแต่ละปีมีนักมวยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขึ้นทะเบียนเป็นนักมวยจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยระหว่างปี 2553-2560 มีนักมวยไทยเด็กขึ้นทะเบียนไว้กว่า 10,373 คน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่ห่างจากนักมวยผู้ใหญ่ที่มีอายุเกิน 15 ปี ที่ขึ้นทะเบียนไว้ 17,508 คน ซึ่งนี่เป็นเพียงตัวเลขอย่างเป็นทางการเท่านั้น เชื่อว่าในความเป็นจริงแล้วนักมวยไทยเด็กน่าจะมีมากกว่านี้ โดยมีการประมาณการเมื่อปี 2550 ว่าน่าจะมีถึง 100,000 คน
ขณะที่ฝ่ายแพทย์และหน่วยงานพิทักษ์สิทธิเด็กเห็นว่าควรยกเลิกการชกมวยในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ฝ่ายนักมวยหลายรายต่างออกมาต่อต้านเสียงแข็งและยืนยันหนักแน่นว่า การยกเลิกดังกล่าวมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อวงการมวยเมืองไทย
“ขาวผ่อง สิทธิชูชัย” หรือ ทวี อัมพรหมา เลขาธิการสมาคมมวยไทยนายขนมต้มที่ระบุผ่านรายการเจาะลึกทั่วไป Inside Thailand ว่า มวย เป็นพื้นฐานของคนจนที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด เป็นวิชาชีพเลี้ยงตัว หนำซ้ำนักมวยไทยที่เติบโตสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ ล้วนแต่ชกมวยมาตั้งแต่อายุต่ำกว่า 12 ปีแทบทั้งสิ้น
ด้าน "สมจิตร จงจอหอ" อดีตนักชกเหรียญทองโอลิมปิก เห็นว่า มวยไทยต้องเริ่มฝึกตั้งแต่เด็ก ตนชกมวยมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ โดยหมั่นฝึกซ้อมมาตลอด จนประสบความสำเร็จ สิ่งที่ต้องปรับปรุงควรเป็นการยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัย ทั้งผู้ฝึกสอน คณะกรรมการจัดการแข่งขัน และเพิ่มเติมอุปกรณ์เซฟตี้ให้กับนักมวยเด็ก
(ยงศักดิ์ ณ สงขลา อดีตประธานเทคนิคกรรมการมวยไทย 7 สี)
ขณะที่ ยงศักดิ์ ณ สงขลา อดีตประธานเทคนิคกรรมการมวยไทย 7 สี เห็นว่า สังคมต้องแยกระหว่างเรื่องอายุ กับกรณีการเสียชีวิตของนักมวยเด็กครั้งล่าสุด โดยจากคลิปภาพและคำบอกเล่าของผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ พบว่า เป็นความผิดพลาดของผู้ตัดสิน
“นักมวยร่วงลงไปและรุกขึ้นมาอย่างขาดสติ ทรงตัวไม่ได้ แต่ผู้ตัดสินผิดพลาดในการสังเกตและประเมินสถานการณ์ บทบาทของผู้ชี้ขาดที่สำคัญที่สุดคือการปกป้องนักมวยที่อ่อนแอกว่า ไม่ให้เกิดการบอบช้ำเกินควร บางคนไม่ต้องรอให้นับ 1 เห็นท่าไม่ดีเขาโบกมือปิดเกม ยุติการแข่งขันเลย”
นอกเหนือจากยกระดับมาตรฐานการทำหน้าที่ของกรรมการและแพทย์สนามแล้ว เรื่องสำคัญที่ต้องตระหนักคือ การทำหนังสือหรือคู่มือการเล่นกีฬาสำหรับเด็กที่เหมาะสมสำหรับเพศและวัย เหมือนในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่น ออสเตรเลีย
“เราต้องสร้างกติกาสำหรับเด็ก เพื่อให้เกิดการยอมรับจากผู้ปกครอง อย่างกีฬารักบี้ที่ดูรุนแรง แต่ในต่างประเทศพ่อแม่เขาจูงลูกไปสนามเลย เพราะมีกติกาพิเศษที่หลีกเลี่ยงการปะทะ ทำให้การแข่งขันเป็นไปในแง่ความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง”
อีกหนึ่งสาเหตุนำไปสู่ความรุนแรงในวงการมวยเด็กก็คือ การพนัน ที่เป็นแรงจูงใจให้บางคนมองข้ามเหตุผลเรื่องความปลอดภัย
“เงินกลายเป็นแรงจูงใจให้อยากชนะ นักมวยไม่ไหวแล้วแต่หยุดไม่ได้เพราะคนที่ถือเดิมพันสั่งให้สู้ ทั้งๆ ที่เขาไม่รู้ว่าสู้เพื่อใคร เพื่อตัวเองหรือว่าเพื่อเงินในกระเป๋าของใคร” เปายงศักดิ์บอกและย้ำว่าไม่จำเป็นต้องยกเลิกหรือแบนการชกมวยในเด็ก เพียงแค่ยกระดับมาตรฐานปรับปรุงกฎกติกาให้ทุกฝ่ายยอมรับ
ภาพจาก Photo by Asa Rodger