ไม่พบผลการค้นหา
คณะก้าวหน้า ยกกฎหมายชี้แจงเฟซบุ๊กระดมทุนแจกเงินเยียวยาโควิด-19 ยืนยันการเรี่ยไรไม่ต้องขออนุญาตทุกกรณี ย้ำไม่เป็นภัยมั่นคง ขีดเส้นปิดยอดบริจาค 3 พ.ค.นี้

น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ และคณะก้าวหน้า กล่าวถึงกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร้องเรียนกรมการปกครองให้ตรวจสอบการระดมทุนรับบริจาคเมื่อครั้งที่ผ่านมา ว่า ก่อนที่จะเปิดระดมทุน เราได้ตรวจสอบ พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2487 แล้วว่า การเรี่ยไรไม่จำเป็นต้องขออนุญาตทุกกรณี กรณีที่ต้องขออนุญาต คือ การเรี่ยไรบนถนนหลวง หรือการเรี่ยไรโดยวิทยุกระจายเสียง หรือเครื่องเปล่งเสียง ซึ่งตาม พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ เฟซบุ๊กไลฟ์ไม่ได้ถือเป็นวิทยุกระจายเสียง ดังนั้นเรื่องนี้ก็ไม่จำเป็นต้องขออนุญาต นอกจากนี้วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมที่เป็นการเรี่ยไร ก็ไม่ได้นำเงินไปทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียศีลธรรม หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ จึงไม่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร แน่นอน

เมื่อถามว่า หากมีการดำเนินทางคดีจะทำอย่างไร น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับผู้ที่ตรวจสอบทางเราไม่มีปัญหาอยู่แล้ว ยินดีด้วยซ้ำที่มีผู้มาตรวจสอบ เพราะการทำโครงการระดมทุนเช่นนี้ต้องมีความโปร่งใส ยืนยันว่าทำทุกอย่างด้วยความโปร่งใสและยินดีให้ตรวจสอบ เมื่อโอนเงินให้ผู้ได้รับสิทธิ์เรียบร้อย ก็จะเปิดเผยรายชื่อของผู้ที่ได้รับการโอนเงินทั้งหมด เพื่อให้เห็นว่าผู้ที่ได้รับเงินคือผู้ที่ขอรับสิทธิ์เข้ามาจริง ๆ ไม่ได้เป็นการมุบมิบเงินของประชาชนที่บริจาคเข้ามา

ส่วนกรณีระบบลงทะเบียนช่องทางเฟซบุ๊กล่ม จนประชาชนต้องนำข้อมูลส่วนตัวมาโพสต์แบบสาธารณะ อาจจะมีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยในอนาคต นั้น น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เรากังวลตั้งแต่แรก เป็นเหตุให้ต้องไปลบโพสต์ที่มีข้อมูลในส่วนนั้นออกไปในภายหลัง เพราะหากลบข้อมูลในตอนแรก ไม่สามารถจัดการได้จากจำนวนคอมเมนต์เป็นล้าน และหากตัดโพสต์ที่มีข้อมูลส่วนตัวออกไป อาจจะเกิดข้อครหาว่าตัดสิทธิ์โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ จึงจำเป็นต้องปล่อยให้โพสต์เหล่านั้นอยู่ค้างไว้ก่อน

“ยืนยันว่าเรื่องข้อมูลส่วนตัวเป็นเรื่องสำคัญ และเราจะต้องปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ที่ขอรับสิทธิ์ ซึ่งทราบอยู่แล้วว่า หากเปิดระดมทุนแบบนี้ ความต้องการจะต้องมีจำนวนเยอะมาก และจำนวน 3 ล้านคอมเมนต์ก็เป็นตัวเลขที่น่าตกใจ และสะท้อนว่าคนที่ลำบากต้องการความช่วยเหลือ หรือคนที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ มีมากมายมหาศาลขนาดไหน ซึ่งเราก็เสียใจที่ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ทั้งหมด เพราะเราไม่ใช่รัฐบาลที่บริหารภาษีจำนวนเป็นล้านล้านบาทต่อปี จึงทำเท่าที่ทำได้ ถึงแม้ว่าจะถูกวิจารณ์หรือถูกโจมตีทางการเมือง ถ้าเทียบกับการอยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไรเลย กับการออกมาทำแบบนี้แล้วโดนว่า แต่สามารถช่วยประชาชนได้ 2,427 ครัวเรือน ก็ถือว่าคุ้มค่า” น.ส.พรรณิการ์ กล่าว

ส่วนจะมีโครงการช่วยเหลือประชาชนต่อจากนี้อีกหรือไม่ น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า จำเป็นต้องมีโครงการที่ 2 เพราะยังไม่สามารถปิดบัญชีได้ เนื่องจากยังโอนเงินให้ประชาชนไม่เสร็จ จึงตั้งใจว่าจะใช้บัญชีนี้โอนให้หมดทีเดียว ไม่อยากย้ายไปหลายบัญชี เกรงว่าจะเกิดข้อครหาเรื่องความโปร่งใส ขณะนี้ยังมีเงินบริจาคไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่เราจำเป็นต้องปิดยอดการการบริจาคเงิน 3,000 บาท ในเวลา 14.00 น. ของวันที่ 3 พ.ค. 2563 เพื่อให้ได้ตัวเลขผู้รับสิทธิ์ที่แน่นอน ดังนั้นจำนวนที่เกินจากวันที่ 3 พ.ค.เราจะยกยอดนำไปทำโครงการช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้การกำหนดรายละเอียดอย่างชัดเจน

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวถึงกลุ่มผู้ร่วมบริจาคเงิน ว่า เป็นเรื่องน่ายินดีมากที่ได้เห็นว่า มากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ของคนที่บริจาคเงินในครั้งนี้มาจากคนทั่วไป มียอดบริจาคตั้งแต่ 10-500 บาทต่อครั้ง ส่วนยอดตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไปจนถึงหลักหมื่น หรือภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ถือว่าน้อยมาก คือ มีไม่เกิน 20 ครั้ง สะท้อนว่าเป็นการช่วยเหลือกันของประชาชนคนธรรมดาที่ไม่ได้มีรายได้สูง ที่อยากจะช่วยเหลือเพื่อร่วมชาติ และคิดว่าอาจจะเดือดร้อนกว่าตัวเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง