ไม่พบผลการค้นหา
'อุตตม' เผย สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.อีอีซี แจงเร่งตั้งกรรมการนโยบายภายใน 60 วันหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ และภายใน 90 วันตั้งเลขาธิการ ฟาก 'สมคิด' ตีปีกชี้ปีนี้ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนทะลุ 2 แสนล้าน นักลงทุนเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ. อีอีซี และหลังจากนี้จะนำไปสู่ขั้นตอนการประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป ซึ่งจะเป็นหลักประกันสร้างความมั่นใจให้กับทุกภาคส่วน ทั้งนักลงทุนในและต่างประเทศในการเดินหน้าลงทุน

อีกทั้งยังเป็นหลักประกันให้กับภาคประชาชนที่ภายใต้ พ.ร.บ. ดังกล่าวจะมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาอีอีซีที่จะดูแลช่วยเหลือเยียวยาชุมชน สนับสนุนการศึกษา เพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนา รวมทั้งภายใน 60 วัน หลัง พ.ร.บ.ฯ มีผลบังคับใช้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จำนวนทั้งสิ้น 28 คน มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 14 คนเป็นกรรมการ ขณะที่รองนายกที่นายกฯ มอบหมายเป็นรองประธาน มีภาคเอกชน 3 คน ราชการประจำ 3 คน ผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 5 คน และภายใน 90 วันจะต้องตั้งเลขาธิการอีอีซีที่จะต้องมีการสรรหาใหม่ และทำสัญญาว่าจ้าง ส่วนสำนักงานอีอีซีจะเป็นองค์กรถาวร

โดยหลังจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเตรียมออกไปโรดโชว์ดึงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศในเดือน มี.ค. นี้ ทั้งที่ญี่ปุ่น จีน ยุโรป รวมถึงสหรัฐอเมริกา และเร่งรัดขับเคลื่อน 5 โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อประกาศร่างประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ เพื่อเร่งระดมให้เกิดการลงทุนจริงก่อนเดือน ธ.ค.2561

ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย (อีอีซี) กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นกฎหมายฉบับแรกที่ใช้กำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ชัดเจน 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ให้สามารถดำเนินการให้สำเร็จโดยเร็ว และใช้เป็นตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต หากจะเพิ่มเติมต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ พ.ร.บ.อีอีซีที่จะมีการจัดตั้งกองทุน ระยะแรกอาจเป็นเงินงบประมาณจากรัฐ หรือรายได้จากค่าธรรมเนียมนักลงทุน ซึ่งปีแรกคาดว่าจะเริ่มประมาณ 1,000 ล้านบาท ที่จะดูแลผลกระทบเยียวยา ประชาชน ทุนการศึกษา

นายคณิศ ระบุว่า ปีนี้มั่นใจว่าจะสามารถผลักดันให้อุตสาหกรรมเป้าหมายยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายเดิมที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คาดการณ์ไว้ จากมูลค่าคำขอรับส่งเสริมการลงทุนปีนี้ทั้งปีคาดไว้ที่ 7.2 แสนล้านบาท และคาดว่าจะมีการลงทุนเกิดขึ้นจริงภายในปีนี้ 30-40% จากคำขอรับส่งเสริมการลงทุนปีก่อนที่มี 2 แสนล้านบาท ควบคู่กับการจัดทำแผนดูแลสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและประชาชน

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อกฎหมายอีอีซีออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว จะยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนมากยิ่งขึ้น โดยเวลานี้มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีกว่า 2 แสนล้านบาท และจากนี้ไปการดำเนินการในอีอีซีต้องทำให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ พร้อมกับได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ต้องเดินสายโรดโชว์ในพื้นที่ ในประเทศที่ยังไม่เคยไปหรือไปน้อย เช่นยุโรป อังกฤษ จีน เพื่อเชิญชวนดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาในอีอีซีให้เพิ่มมากขึ้นด้วย ส่วนที่ญี่ปุ่นนักลงทุนต่างให้ความสนใจอยู่แล้ว ซึ่งตนเองพยายามให้สถาบันการศึกษาเข้ามาลงทุน