ไม่พบผลการค้นหา
ผู้นำเกาหลีใต้ส่งหน่วยบรรเทาสาธารณภัยไปยัง สปป.ลาว ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม หลังเขื่อนแตกในแขวงอัตตะปือ พร้อมสั่งสอบความรับผิดชอบกรณีบริษัทเอก���นและรัฐวิสาหกิจเกาหลีใต้ร่วมถือหุ้นในโครงการ

นายมุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มีคำสั่งระดมความช่วยเหลือและเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยเพื่อส่งไปยัง สปป.ลาว หลังเกิดเหตุการณ์สันเขื่อนกั้นอ่างเก็บน้ำในโครงการก่อสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ในเมืองสะหนามไซย แขวงอัตตะปือ ทางใต้ของ สปป. ลาว รองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องหลายวันไม่ไหว จึงเกิดแตกร้าว มวลน้ำกว่า 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตรไหลบ่าท่วมบ้านเรือนประชาชนละแวกใกล้เคียง เมื่อช่วงค่ำวันที่ 24 ก.ค.

ทางการลาวเปิดเผยว่าพบศพผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 20 ราย และผู้สูญหายอีก 34 รายส่วนประชาชนที่ถูกอพยพออกนอกพื้นที่มีประมาณ 6,600 คน แต่ตัวเลขดังกล่าวอาจจะเปลี่ยนแปลงในภายหลัง แต่ทั้งรัฐบาลลาวและเกาหลีใต้ได้สั่งให้มีการตรวจสอบสาเหตุที่ทำให้เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกร้าวในครั้งนี้แล้ว

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เป็นของบริษัท เซเปียน-เซน้ำน้อย เพาเวอร์ จำกัด (PNCP) ซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนระหว่างลาว-ไทย และเกาหลีใต้ โดยเอกชนไทย คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ถือหุ้นร้อยละ 25 ส่วนบริษัทเอกชนเกาหลีใต้ คือบริษัทเอสเค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรักชั่น (SK E&C) ถือหุ้นร้อยละ 26 และบริษัทรัฐวิสาหกิจเกาหลีใต้ โคเรีย เวสเทิร์น เพาเวอร์ (KOWEPO) ถือหุ้นร้อยละ 25 และอีกร้อยละ 24 เป็นของกิจการรัฐวิสาหกิจ สปป.ลาว (LHSE)

AFP-เขื่อนลาวแตก-เซเปียน-เซน้ำน้อย-อัตตะปือ

บริษัท SK E&C ซึ่งเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่อันดับ 3 ของเกาหลีใต้ด้านธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 และมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อให้ทันเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าในปี 2562 โดยกำลังการผลิต 410 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นร้อยละ 90 ขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และอีกร้อยละ 10 จะใช้ใน สปป.ลาว

21 องค์กรสิ่งแวดล้อม ออกแถลงการณ์เรียกร้องผู้ลงทุนต่างชาติรับผิดชอบความเสียหาย

ขณะที่สำนักข่าวทรานส์บอร์เดอร์นิวส์รายงานว่า เครือข่ายภาคประชาสังคมไทย ซึ่งเป็นการรวมตัวกันขององค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมในไทย 21 องค์กร ออกแถลงการณ์เรียกร้องความรับผิดชอบจากกลุ่มผู้ลงทุนไทยที่ไปดำเนินการในต่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับความสูญเสียกรณีเขื่อนในลาวแตก

เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่า เขื่อนคันดินแตกในครั้งนี้ ก่อให้เกิดคำถามถึงกระบวนการก่อสร้างต่อมาตรฐานระดับโลกด้านความปลอดภัยของเขื่อน ตามหลักการและแนวทางของคณะกรรมการเขื่อนโลก ซึ่งหลักการดังกล่าวเสนอว่า ควรมีการพัฒนากลไกเพื่อให้การชดใช้ค่าเสียหายหรือการชดเชยย้อนหลังสำหรับผู้ที่ทุกข์ทรมานจากเขื่อนที่มีอยู่แล้วตลอดจนฟื้นฟูความเสียหายเพราะการขาดกระบวนการที่สอดคล้องต่อมาตรฐานในการสร้างเขื่อนระดับโลกของเขื่อนเซน้ำน้อยนี้ เป็นผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตและสูญหายของประชาชนจำนวนมาก 

เครือข่ายประชาสังคมไทยจึงขอเรียกร้องให้ผู้ลงทุนไทยในต่างประเทศเรียนรู้ว่า ความปลอดภัยของเขื่อน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงการประเมินผลกระทบเชิงลึกต่อเขื่อนที่สร้างไปแล้ว ก่อนที่จะมีการดำเนินการในโครงการใหม่บนแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา พร้อมทั้งเรียกร้องให้บริษัทไทยแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการเร่งชดเชยและเยียวยาชุมชนจากการสูญเสียครั้งนี้ และบริษัทต้องให้ชุมชนได้เข้าถึงกระบวนการพูดคุยเกี่ยวการชดเชยและเยียวยาอย่างเหมาะสมและเร็วที่สุด

ที่มา: PNCP/ Relief Web/ Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: