นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในการประชุมทางวิชาการหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง 6 สถาบัน ครั้งที่ 9 ในหัวข้อ "ก้าวต่อไปไทยแลนด์ : Thailand's Next" กล่าวว่า รัฐบาลทุกยุคสมัยมีท่วงท่าในการก้าวเดินแตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกัน คือ 'ก้าวเดินอย่างไม่มั่นใจ' เพราะมีอุปสรรคขวากหนามมากมาย โดยเฉพาะข้อติดขัดทางกฎหมาย และเสียงคัดค้านจากประชาชน แต่หลังจากนี้ รัฐบาลจะต้องก้าวเดินอย่างมั่นคง และสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น เนื่องจาก รัฐบาล คสช. กำลังจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ระยะเวลา 20 ปีแล้ว เพื่อให้รัฐบาลหลังจากนี้ มีเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น
นายวิษณุ อธิบายว่า นโยบายพรรคการเมืองที่ผ่านๆ มา ไม่มีความต่อเนื่อง เพราะอยู่ในตำแหน่งเพียงวาระละ 4 ปีเท่านั้น และหากต้องจัดตั้งรัฐบาลผสม ก็อาจทำให้นโยบายของพรรคเสียไป เพื่อให้เกิดความประนีประนอมกัน ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งประชาชนจะรับรู้นโยบายของรัฐบาลใหม่ ก็ต่อเมื่อแถลงในรัฐสภาแล้ว ซึ่งถือว่าช้าเกินไป
ดังนั้น แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือ สิ่งที่จะช่วยให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ซึ่งรัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ ต่างจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฯ ที่ประกาศใช้มา รวมกว่า 12 ฉบับ เพราะมีระยะเวลาสั้นเกินไป และไม่มีกฎหมายใดๆ รองรับ เป็นไปตามนิติประเพณี ไม่ใช่โดยนิติศาสตร์ ซึ่งหากไม่ทำตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ผิดกฎหมาย จึงเกิดความไม่แน่นอน นักลงทุนต่างชาติไม่มั่นใจในการลงทุน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คณะรัฐมนตรี กำลังส่งแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้ สนช. พิจารณา ก่อนนำขึ้นกราบบังคมทูลฯ ถวาย และคาดหวังว่าจะประกาศใช้ทัน 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณ 2562
นายวิษณุ ยืนยันว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สามารถแก้ไขได้ เมื่อเห็นว่าเกิดปัญหา หรือมีแนวทางอื่นที่ดีกว่า แต่ต้องดำเนินการเช่นเดียวกับในขั้นตอนการร่างแผนฯ คือ ฟังความเห็น 4 ภูมิภาค แล้วส่งให้คณะรัฐมนตรี-รัฐสภาพิจารณา และทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งไม่ได้ยุ่งยาก หากรัฐบาลในอนาคตอยากจะทำ
ทั้งนี้ ย้ำว่า อำนาจทั้ง 3 ฝ่าย (บริหาร, นิติบัญญัติ และตุลาการ) ต้องดำเนินการสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และผูกมัดการปฎิบัติงานของทุกส่วนราชการ หากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ตรวจสอบพบว่า เกิดการดำเนินงานขัดหรือแย้งกับแผนฯ จะเริ่มจากการตักเตือนก่อน หากไม่แก้ไขจึงจะเพิ่มมาตรการขึ้นอีก ไปจนถึงเปิดอธิปรายไม่ไว้วางใจ หรือยื่นเรื่องไปยัง ป.ป.ช.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: