พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยในวันนี้ ( 16 ต.ค.) ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ให้มติเห็นชอบตามข้อเสนอที่ให้ตั้งพล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพกองทัพภาคที่ 4 เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขแทนพล.อ.อักษรา เกิดผล
พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงหนนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ พล.อ.อักษรา ทำงานมาหลายปีแล้ว ต้องการเปลี่ยนเป็นคนใหม่ที่เป็นคนในพื้นที่เข้าไปทำบ้าง เชื่อว่าการเป็นอดีตแม่ทัพกองทัพภาคที่ 4 ของพล.อ.อุดมชัยจะทำให้สามารถนำนโยบายของรัฐบาลไปปฏิบัติได้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาการพูดคุยภายใต้การนำของพล.อ.อักษรานั้นถือว่าได้ผลในแง่่ช่วยลดความรุนแรงได้ในหลายพื้นที่ สำหรับการเดินหน้าพูดคุยต่อไปต้องใช้นโยบายของรัฐบาลเป็นตัวนำ การพูดคุยที่ว่านี้ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการเจรจาสันติภาพเพราะไม่ได้รบกับใคร แต่เป็นการคุยเพื่อให้คนในพื้นที่ได้ร่วมมือกันและไม่ให้ไปร่วมมือเพื่อก่อเหตุกับผู้ใช้ความรุนแรง กล่าวคือให้ประชาชนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชน รวมทั้งเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินด้วย
นายกรัฐมนตรี ชี้ว่า ความขัดแย้งในพื้นที่มีแต่จะเป็นสิ่งที่ทำให้มีผู้เข้าไปใช้ประโยชน์ ดังนั้นจะต้องเร่งคลี่คลายปัญหาโดยเร็ว พล.อ.ประยุทธ์ชี้ว่าการพูดคุยต้องทำตามรัฐธรรมนูญไทย กับคำถามเรื่องว่าจะมีการดึงเอากลุ่มอื่นที่ยังไม่ได้เข้าร่วมให้เข้าสู่วงพูดคุยหรือไม่ ได้รับคำตอบว่ายังไม่ได้พูดเรื่องนี้
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นในจังหวะใกล้เคียงกันกับที่มาเลเซียโดยรัฐบาลชุดใหม่นำโดยมหาเธร์ โมฮัมหมัดได้เปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกจากอาหมัด ซัมซามิน ฮาชิม มาเป็นนายอับดุล ราฮิม นูร์ซึ่งใกล้ชิดกับมหาเธร์ และเป็นผู้ที่มีประวัติการทำงานด้านการคลี่คลายความขัดแย้งพร้อมทั้งมีส่วนในการทำให้ตกลงกันได้ในอดีตมาแล้วเช่นในกรณีพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา
โดยการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซียทำให้เป็นที่คาดหมายกันว่า รัฐบาลใหม่ของมาเลเซียต้องการจะผลักดันเรื่องการพูดคุยสันติภาพอย่างจริงจังหลังจากที่กระบวนการพูดคุยสันติสุขไม่เคลื่อนไหวมาระยะหนึ่งแล้ว โดยหลังสุดประเด็นที่ค้างคาอยู่คือเรื่องของการจัดทำพื้นที่ทดลองหรือเซฟตี้โซนเพื่อให้เป็นเขตปลอดภัยซึ่งปรากฎว่ามีการเตรียมการกันหลายระดับ แต่แล้วก็เงียบไป
แหล่งข่าวใกล้ชิดในคณะพูดคุย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาปัญหาในการทำงานของหัวหน้าคณะพูดคุยคือแทบไม่มีอำนาจในการตัดสินใจใดๆ
ส่วนการเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยของไทยและผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยจากมาเลเซียหนนี้เกิดขึ้นในจังหวะใกล้เคียงกันกับการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งสำคัญอื่นในพื้นที่ กล่าวคือตำแหน่งแม่ทัพกองทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือศอ.บต.