คำว่า 'สกุลเงินที่ถูกเข้ารหัส' อาจจะไม่คุ้นหูคนไทยเท่าไหร่ แต่หากเป็นคำว่า 'บิทคอยน์' ผู้คนจำนวนไม่น้อยอาจจะเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้าง บิทคอยน์นั้นเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ถูกเข้ารหัสซึ่งมีทั้งข้อดี ในแง่ของความสามารถในการแลกเปลี่ยนเงินกันโดยตรงไม่ต้องมีคนกลาง แต่ประโยชน์ตรงนี้เองก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่มีการใช้สกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้ไปในทางที่ผิดกฏหมาย
บทสัมภาษณ์ 'ปรมินทร์ อินโสม' ผู้สร้าง Zcoin
'สกุลเงินที่ถูกเข้ารหัส' ที่คุณพัฒนาถูกใช้แลกเปลี่ยนในเว็บมืด หรือเว็บที่มีความเสี่ยงละเมิดกฎหมาย ทางการไทยพอจะมีอะไรป้องกัน ดูแล ได้ไหม
ปัจจุบันมันมีกฏหมายที่เป็นพระราชบัญญัติเกี่ยวกับเงินดิจิทัลหรือสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่แล้ว ซึ่งพระราชบัญญัติตัวนี้จริงๆ แล้วเป็นมาตรการของทางรัฐบาลที่ต้องการที่จะมาควบคุมผู้ที่ให้บริการหรือประกอบธุรกิจเกี่ยวกับ 'สกุลเงินที่ถูกเข้ารหัส' อยู่แล้ว ซึ่งผมมองว่าก็เป็นอีกทางนึงที่จะเข้ามาควบคุม กำกับ แล้วก็ดูแลในส่วนของ 'สกุลเงินที่ถูกเข้ารหัส' ทางอ้อม ถามว่าถ้าจะกำกับโดยตรงคงทำไม่ได้เนื่องด้วยเทคโนโลยีที่อยู่ด้านล่างของตัว 'สกุลเงินที่ถูกเข้ารหัส' ก็คือ บล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเทคโนโลยีตรงนี้ไม่สามารถที่จะมีใครคุมได้ การที่มีกฏหมายเข้ามาควบคุมในส่วนของตัวผู้ให้บริการธุรกิจเกี่ยวกับ 'สกุลเงินที่ถูกเข้ารหัส' อย่างน้อยก็ยังตรวจสอบได้ในระดับนึง แต่คงไม่ใช่ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์
'สกุลเงินที่ถูกเข้ารหัส' ที่คุณสร้าง หรือ Zcoin เน้นไปที่ความเป็นส่วนตัว โดยไม่มีการระบุบัญชีที่โอนหรือได้รับเงิน มีเพียงแค่จำนวนเงินที่ระบุอยู่ในบล็อกเชน คุณมองเห็นความเสี่ยงหรือช่องโหว่ตั้งแต่แรกอยู่แล้วไหม
ผมมองว่ามันไม่เชิงว่าเป็นช่องโหว่ ต้องบอกว่าเป็นส่วนของการใช้เทคโนโลยีเพื่อไปทำสิ่งที่ดีและก็สิ่งที่ไม่ดี ผมยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ที่เราซื้อมาเพื่อที่จะไปประกอบธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ในอนาคตหรือในขณะเดียวกันบางส่วนก็คือซื้อรถยนต์มาเพื่อที่จะไปทำก่อการร้ายหรือขนของผิดกฏหมายซึ่ งผมมองว่าคนที่ผลิตรถยนต์หรือคิดค้นรถยนต์ตั้งแต่แรกก็มองเห็นว่าตัวรถยนต์จะอำนวยความสะดวกและก็สามารถที่จะทำได้ทั้งด้านดีและก็ด้านเสีย แต่หากจะไม่ผลิตรถยนต์ออกมาเลยก็คงไม่ได้ เหมือนกับโลกปัจจุบันหรือแม้กระทั่งตัวโทรศัพท์มือถือเองที่เราใช้ปัจจุบันก็มีทั้งการที่คุยโทรศัพท์หาผู้ปกครองบิดามารดาในกรณีที่คิดถึงหรือประกอบธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกันโทรศัพท์มือถือที่เอาไปใช้ในทางที่ผิดก็มีเหมือนกัน ที่โทรศัพท์เพื่อไปจุดตัวระเบิดตรงนั้นก็มีเหมือนกัน ผมมองว่าตรงนี้เป็นในส่วนของตัวเทคโนโลยีเท่านั้น ซึ่งผู้ใช้งานจะเอาไปใช้ในทางที่ดีหรือที่ไม่ดีขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานแล้ว
ในฐานะคนที่อยู่วงการนี้ คุณอยากบอกอะไรกับคนทั่วไปที่มองว่า 'สกุลเงินที่ถูกเข้ารหัส' เป็นเรื่องอันตราย
ผมมองว่าคือสุดท้ายแล้วตัว 'สกุลเงินที่ถูกเข้ารหัส' ยังไงก็อยู่อยู่แล้วไม่ได้หายไปไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าคือผู้ที่อยู่ข้างนอกยังไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องจะเปิดใจรับมันมากน้อยแค่ไหน ถ้าปัจจุบันยังไม่ได้ปรับตัว แต่สุดท้ายแล้ว เนื่องด้วยเทคโนโลยี แล้วก็ผู้ใช้งานรอบข้าง ก็จะทำให้เหมือนกับว่าเราเองต้องปรับตัวอยู่แล้วนะครับ ผมยกตัวอย่างเช่น ไลน์ ที่ตอนแรกก็คือเฉพาะกลุ่มคนเล็กน้อยที่ใช่เท่านั้น แต่ว่าเพราะมีการขยาย ขยายจนปัจจุบันก็คือทุกคนใช้ไลน์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมมองว่า ตอนแรกเราอาจจะยังไม่ได้อยากใช้ไลน์ แต่ว่าสุดท้ายเพื่อนเราทุกคนใช้ มันก็เลยกลายเป็นว่าเราเองก็ต้องใช้ ในส่วนเดียวกันผมมองว่า 'สกุลเงินที่ถูกเข้ารหัส' ก็เหมือนกัน
"ต่างประเทศใช้หมดแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านก็เริ่มใช้แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากจะทำธุรกิจหรือทำธุรกรรมเกี่ยวกับตัวเงินต่างๆ แล้วปลายทางเขาใช้ 'สกุลเงินที่ถูกเข้ารหัส' นั่นหมายความว่าคือเราเองก็ต้องใช้ 'สกุลเงินที่ถูกเข้ารหัส' ด้วย" ปรมินทร์กล่าว
มีประสบการณ์ตรงในการเข้า 'เว็บมืด' บ้างไหม
ถามว่าเคยมีไหม มีอยู่แล้วครับ ก่อนหน้านี้คือผมทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตัวเว็บมืด ว่ามีเว็บที่ไหนบ้าง แล้วก็แต่ละเว็บทำหน้าที่อะไรบ้าง ซึ่งต้องบอกว่าการเข้าเว็บมืดก็ไม่ใช่สิ่งที่ยากอะไรขนาดนั้น มันมีโปรแกรมที่จะทำให้เราสามารถเข้าไปถึงตัวเว็บมืดได้ง่ายอยู่แล้ว แน่นอนครับก็มีในส่วนของการขายสินค้าที่ทุกคนจะบอกว่าคือสินค้าผิดกฏหมายหรือขายบริการที่ผิดกฏหมายก็ตามแต่ แต่บางส่วนที่ผมมองว่าคือสินค้าที่หาไม่ได้ในท้องตลาดทั่วไปก็มีขายในนั้นเหมือนกัน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ผมมองว่าอาจจะเป็นประโยชน์ต่อทางรัฐบาลด้วยซ้ำในกรณีสินค้าที่หาตามท้องตลาดไม่ได้
ทุกวันนี้ มีปริมาณการแลกเปลี่ยน Zcoin เฉลี่ยวันละเท่าไร
ปัจจุบันมูลค่าซื้อขายอยู่ในตลาดทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 30 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งถ้าพูดถึงระดับ 1 เดือนก็น่าจะอยู่ประมาณพันกว่าล้านบาท ซึ่งถามว่าส่วนมากเอาไปใช้ทำอะไรก็จะเป็นการซื้อขายกันทั่วไป แน่นอนครับก็อาจจะมีในส่วนของการซื้อขายของแลกเปลี่ยนกับของก็มีด้วย แต่ว่าถ้าเอารายละเอียดอย่างแบ่งแยกออกมาคงไม่มีขนาดนั้น
จะพัฒนาตัว Zcoin ต่อไปในอนาคตอย่างไร
จริงๆ แล้วคือผมมองเป็น 2 ส่วนนะครับ ก็คือในส่วนของตัว Zcoin ที่เน้นในเรื่องของนโยบายความเป็นส่วนตัวเป็นหลัก ตัวนั้นเป็นจุดเด่นของเราที่เราต้องทำให้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ในโลกนี้ เราต้องการที่จะเป็นอันดับ 1 หรือ อันดับ 2 ด้วยซ้ำ ทางด้านเหรียญที่เน้นความเป็นส่วนตัว ในขณะเดียวกันผมเองก็ตั้งบริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ที่กำลังจะได้รับใบอนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ซึ่งตรงนี้เราเองก็มั่นใจว่าทาง 'สตางค์' จะเป็นเหมือนกับแขนขาให้กับ Zcoin ให้มีการใช้งานตัว Zcoin มากขึ้นทั้งในประเทศและก็ต่างประเทศในอนาคต
บทสัมภาษณ์ ดร. ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษา ก.ล.ต.
รัฐบาลออกมาตรการอะไรมาควบคุมดูแลการใช้ 'สกุลเงินที่ถูกเข้ารหัส' บ้างไหม
เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2561 มีการออกพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ในวันที่ 10 พ.ค. 2561 ซึ่งกฏเกณฑ์บังคับก็หลากหลายตั้งแต่คนจะระดมทุนโดยใช้สิ่งนี้หรือจะสร้างพวก 'สกุลเงินที่ถูกเข้ารหัส' ขึ้นมาเป็นการระดมทุนอย่างที่เจมาร์ททำเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยควบคุมกระบวนการว่าทำได้อย่างไรบ้าง ต้องมาขอ ก.ล.ต. ต้องมีขั้นตอนอย่างไร และคนที่จะประกอบธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยน 'สกุลเงินที่ถูกเข้ารหัส' พวกนี้จะต้องมาจดทะเบียนยังไงบ้าง จะมีแนวปฏิบัติอย่างไรบ้าง
การที่ออกกฏหมายมาเพราะว่าเดิมที่ไม่มีกฏหมายเลยของเหล่านี้ใครจะทำก็ทำได้ไม่มีกฏหมายมาห้ามและก็ไม่มีกฏหมายมาปกป้องมัน ก็มีปัญหาได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ธุรกิจรายใหญ่ก็ไม่กล้าเข้ามาทำอะไรเ พราะว่าไม่แน่ใจว่าจะได้รับการปกป้องทางกฏหมายบ้างไหมเวลาเกิดปัญหาขึ้น แต่ว่าในขณะเดียวกันคนทั่วไปก็เข้าไปได้ ก็มีคนเข้าไปลงทุนไปซื้อขายเต็มไปหมด มีคนกำไรก็ไปพูดคุยกันจัดงานสอนแล้วมันก็มีกรณีการหลอกลวงกันเกิดขึ้นเต็มไปหมด
"ทีแรกสุด พอมันไม่มีกฏหมายอะไรมากำหนดชัดเจนมันก็เหมือนโลกอิสระ ใครอยากทำอะไรก็ทำ คนใจกล้าก็ทำ โจรก็ทำ คนยังไม่กล้าเพราะว่าเสี่ยงสูงกว่าถ้าเป็นธุรกิจมันมีเรื่องชื่อเสียงด้วย เงินเยอะด้วย ก็จะไม่กล้าทำ" ดร.ภูมิ กล่าว
ประเทศไทยเราเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่มีกฏหมายเฉพาะทางมาทำเรื่องนี้ครบวงจร ประเทศอื่นๆ จะมีสองประเภท คือ 1. ประเทศที่เชื่อว่ากฏหมายเดิมๆ ที่เขามีอยู่แล้วเพียงพอแล้ว เขาก็ไม่ออกกฏหมายเฉพาะ 2. ประเทศที่เริ่มพิจารณาอยู่ว่าจะออกกฏหมาย มาตรการอย่างไรดี เราเนี่ยทำเร็วกว่าใครเพื่อน
จะมีการพัฒนาผลักดันให้มีการใช้ 'สกุลเงินที่ถูกเข้ารหัส' เป็นวงกว้างมากขึ้นไหม
ตอนนี้มันเป็นที่รู้จักเฉพาะกลุ่มแน่นอน แต่กลุ่มนี้มันจะค่อยๆ ขยายช้าๆ ออกไปเรื่อยๆ แต่พอเรามีกฏหมายออกมาแล้วมันก็จะทำให้คนที่เป็นองค์กรใหญ่ๆ กล้าลองมาใช้มันทำอะไรมากขึ้น เขาคงไม่มาทำอะไรที่มันสุ่มเสี่ยงมากมาย แต่เขาก็จะหันมามองเทคโนโลยีกับวัฒกรรมตัวนี้ว่าเขาเอาไปทำอะไรในธุรกิจเขาได้ เพราะงั้นก็เชื่อว่าในระยะยาวคนจะทยอยได้ใช้มัน ทีนี้องค์กรใหญ่ๆ เขาก็อาจจะไม่ได้โฆษณาว่าพวกนี้มันใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับพวก 'สกุลเงินที่ถูกเข้ารหัส' ก็ไม่แน่ใจว่าคนจะรู้จักมันดีขึ้นไหม แต่ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้จะเริ่มมีหลายองค์กรเข้ามาใช้ประโยชน์จากมันมากขึ้น
ส่วนประเทศไทยเราสามารถพัฒนาได้ไหม ก็มีความเป็นไปได้คือกฏหมายตอนนี้ก็ยังมีข้อจำกัดนิดหน่อยว่าใครทำอะไรได้ ใครทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันก็ยังไม่ได้ถึงกับสนับสนุนแบบออกหน้าออกตา แต่ว่าในขณะเดียวกันพอมันมีความชัดเจน มันก็ทำให้คนทำนวัฒกรรมมีความกล้ามากขึ้น
มีความพยายามป้องกันไม่ให้ เว็บมืด นำ 'สกุลเงินที่ถูกเข้ารหัส' ไปใช้ในทางที่ผิดกฏหมายอย่างไร
ยากนะครับ เพราะว่าเว็บมืดเขาก็จะพยายามหาช่องทาง เขาก็จะใช้อะไรที่เขาใช้และเป็นประโยชน์ของเขาได้ มันเป็นโลกไร้กฏเกณฑ์ แล้วเทคโนโลยีตัวนี้มันทำให้คนสองคนในโลกนี้ทำธุรกรรมกันได้โดยไม่ต้องมีตัวกลาง ซึ่งมันคือสิ่งที่คนพวกนี้เขาต้องการเลย เพราะงั้นเราจะไปห้ามไม่ให้เขาใช้มันคงยาก แต่ว่าสิ่งที่ทำได้ก็คือเทคโนโลยีพวกนี้มันมีบางตัวที่ถ้าเขาใช้แล้วเรายังสามารถตามจับได้ในระยะยาวว่าเขาคือใคร เพราะฉะนั้นสิ่งที่พวกตำรวจสากลและตำรวจรอบๆ โลกเขาจับมือกันทำกันอยู่ก็คือกำลังช่วยกันพัฒนาเทคโนโลยี ช่วยกันพัฒนาความรู้เพื่อที่จะคอยไล่จับคนพวกนี้อยู่
คือโจรหรือพวกฟอกเงินเขาฟอกเงินกันด้วยเงินสดอยู่แล้ว อันนี้มันเหมือนเราเอาเงินสดไปอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต พอเอาเงินสดไปอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตมันก็ฟอกสะดวกขึ้นสำหรับคนที่ทำเป็น แต่ว่าการที่ประเทศไทยมีกฏหมายมาก็เพื่อควบคุมการฟอกเงิน เพราะฉะนั้นถ้าคนไทยจะเข้าไปร่วมในกระบวนการการฟอกเงินก็จะเจอความยากลำบากมากขึ้น ถ้าจะมาทำธุรกิจกับบริษัทไทยที่ไปจดทะเบียนไว้กับ ก.ล.ต. เพราะว่าก็จะโดนบังคับให้ตรวจเอกสารต่างๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: