นายปรมินทร์ อินโสม ผู้สร้าง Zcoin สกุลเงินดิจิทัล และ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันน่าจะมีคนไทยหลักหมื่นคน ที่รู้จักสกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency และคาดว่า เฉพาะในประเทศไทยน่าจะมีการซื้อขายเงินดิจิทัลมากถึงวันละ 350 ล้านบาท โดยล่าสุด (21 พ.ย.) อัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินดิจิทัล เช่น บิทคอยน์ 1 BTC หรือ 1 บิทคอยน์ อยู่ที่ประมาณ 270,000 บาท
อย่างไรก็ตาม นับวันยิ่งมีคนไทยสนใจลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น แม้ว่าเงินดิจิทัล ไม่ได้เป็นเงินที่ตราขึ้นตามกฎหมายในประเทศไทย แต่สถาบันที่ก่อตั้งสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ ได้พยายามที่จะทำตัวเองให้เหมือนสถาบันการเงินให้มากที่สุด เพราะผู้ผลิตสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ ไม่ต้องการทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย ปปง. เช่นกัน
"ตอนนี้คนไทยที่รู้จักและมีการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล เท่าที่ประเมินจากมาฟังสัมมนา หรือพบเจอทั่วไป ตอนนี้ก็มีระดับหมื่นคน ส่วนอนาคตอาจมีระดับล้านคนก็ได้ ส่วนผู้พัฒนาสกุลเงินดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นทีเด็กซ์ สตางค์ ซีคอยน์ แต่ทุกสถาบันที่เกี่ยวข้องกับเงินดิจิทัล พยายามทำตัวเองให้ใช้มาตรฐานเดียวกับสถาบันการเงิน เพราะเขาก็ไม่อยากมีปัญหากับ ปปง. อยู่แล้ว แม้จะไม่ใช่สถาบันการเงินอยู่แล้ว" นายปรมินทร์ กล่าว
สำหรับผู้สนใจลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันมีทั้งในชื่อ Zcoin บิทคอยน์ ริปเปอร์ อีเธอเรียม (Ethereum) เป็นต้น ผู้ก่อตั้งสกุลเงินดิจิทัล แนะนำว่า ให้ใช้เงินเย็นในการลงทุน เพราะเงินดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงราคารวดเร็ว ตามข่าวสารต่างๆ ที่ออกมา ซึ่งบางครั้งสามารถทำให้ราคาตกลงมาถึงร้อยละ 30 ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงต้องระมัดระวัง
ด้าน นางสาวกชพร วนิชกีรติ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เข้าฟังเวิร์กชอปเรื่องบิทคอยน์ในงาน Thailand MBA Forum และกล่าวว่า ส่วนตัวสนใจด้านการลงทุนมาตั้งแต่เรียนปี 1 และเริ่มลงทุนในกองทุนรวมบ้างตอนเรียนปี 2 ซึ่งให้ผลตอบแทนในระยะยาว ส่วนเรื่องบิทคอยน์ เป็นเรื่องใหม่ที่สนใจเข้าลงทุน แต่พอมาฟังมาศึกษา ก็คิดว่าต้องใช้เวลาศึกษาอีกสักพัก เพราะไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด และหากจะลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล ก็คงต้องวางแผนเก็บเงิน และวางแผนการลงทุนก่อน แล้วค่อยเอาเงินลงไป
ปัจจุบัน สกุลเงินดิจิทัล ได้รับการรับรองเป็นเงินตราตามกฎหมายเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แม้ว่า จะมีการขุดบิทคอยน์และการซื้อขายแลกเปลี่ยนบิทคอยน์อย่างกว้างขวางในหลายประเทศ รวมทั้งในการระดมทุนเพื่อก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพในปัจจุบัน นอกจากผู้ก่อตั้งจะระดมทุนจากบริษัทร่วมลงทุน หรือ VC แล้ว การระดมทุนผ่านคริปโทเคอร์เรนซี ยังเป็นอีกช่องทางการระดมทุนก่อตั้งธุรกิจที่แพร่หลายมากขึ้น เพราะไม่ต้องมีผ่านตัวกลาง และสามารถโอนถ่ายได้ทันที ทุกที่ ทุกเวลา
รายงานโดย : อังศุมาลิน บุรุษ