ไม่พบผลการค้นหา
ใครๆ ก็อยากร่ำรวยจากการขุดเหรียญ-ซื้อขายบิทคอยน์ รวมถึงเงินดิจิทัลสกุลอื่นๆ แต่เงินเหล่านี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับของทางการไทย "วอยซ์ ออนไลน์" คุยกับ "หนึ่ง-ปรมินทร์ อินโสม" วิศวกรคอมพิวเตอร์หนุ่มวัยใกล้ 30 ปี หนึ่งในผู้พัฒนาเงินดิจิทัลที่เรียกว่า "ซีคอยน์" (Zcoin) ที่กำลังถูกจับตามอง

Cryptocurrency (คริปโตเคอเรนซี่) คำนี้อาจเป็นคำใหม่สำหรับบางคน แต่ในบางกลุ่มคนที่รู้จักคำว่า “บิทคอยน์” รวมถึงคำว่า “ขุดเหรียญ” หรือ “ขุดเหมือง” ก็นับว่า ไม่ใหม่แล้ว เพราะทั้งหมดนี้ เป็นกลุ่มคำที่ผูกโยงกัน จากการมาถึงของเทคโนโลยี “บล็อกเชน” และ “สกุลเงินดิจิทัล” ซึ่งเกิดขึ้นในโลกนี้มาเกือบ 10 ปีแล้ว และปัจจุบันมีเงินดิจิทัลเกิดขึ้นมากกว่า 1,300 สกุล อาทิ บิทคอยน์, อีเธอเลียม, ริปเปอร์, บิทคอยน์ แคช เป็นต้น

สำหรับในประเทศไทย แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่รับรองเงินดิจิทัลว่า เป็นเงินตราที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่ใช่ว่า เมืองไทยจะไม่มีคนใช้จ่ายผ่านเงินดิจิทัล แล้วนับวันยิ่งพบว่า มีคนไทยเกี่ยวข้องกับ “เงินดิจิทัล” นี้ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในระบบนิเวศน์เงินดิจิทัลเพิ่มขึ้นทุกวัน

บางคนลงทุนติดตั้งซุปเปอร์คอมพิวเตอร์เพื่อ “ขุดเหรียญ” ออกมาขาย บางคนซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญเพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และมีคนร่ำรวยผสมคนเจ๊งจากการลงทุนในเงินดิจิทัลแล้วเช่นกัน  

5 ปีบิทคอยน์ กับย่างก้าวสู่ปีที่ 2 ของซีคอยน์

"ปรมินทร์ อินโสม" พัฒนาเงินดิจิทัล ในชื่อ “ซีคอยน์” (Zcoin) มาปีกว่า เขาจบวิศวะ คอมพิวเตอร์จากเมืองไทย และจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยจอนห์ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา ด้วยวิทยานิพนธ์เรื่อง “บล็อกเชน” ที่ทำให้เขารู้เรื่องเงินดิจิทัลอย่างลึกซึ้ง

ส่วน Zcoin เข้าสู่ตลาดคนเล่นเหรียญตั้งแต่เดือน ต.ค. 2559 ปัจจุบัน (11 ม.ค. 2561) Zcoin มีราคา 1 หน่วย เท่ากับ 91.89 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,940 บาท) มีมูลค่าตลาด (มาร์เก็ตแคป) 354 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แม้ซีคอยน์ยังมีราคาและมูลค่าตลาดเทียบไม่ได้กับ “บิทคอยน์” ซึ่งปัจจุบัน มีราคา 13,737.40 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 439,596 บาท) เพิ่มขึ้นมากกว่า 100 เท่า เมื่อนับจากวันที่ซื้อขายครั้งแรกในเดือนเม.ย. 2556 ที่ราคา 1 บิทคอยน์ เท่ากับ 135.30 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4,329 บาท) และตอนนี้มีมูลค่าตลาดมากถึง 2.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ ผู้พัฒนาซีคอยน์ บอกว่า ขณะนี้ อยู่ในช่วงสร้างการยอมรับของตลาดของนักลงทุ�� ซึ่งต้องทำให้คนรู้จักและใช้งานมากขึ้นก่อน ดังนั้น จึงมีการดีลกับร้านค้าให้รับชำระเงินค่าสินค้าและบริการด้วยซีคอยน์ โดยหวังว่า หากตลาดยอมรับมากขึ้น ก็จะทำให้มีคนใช้เพิ่มขึ้น เข้าถึงง่ายขึ้น

แหล่งซื้อขาย –ลงทุนเงินดิจิทัลอยู่ที่ใดในโลกบ้าง

“ปรมินทร์” เล่าว่า ตอนนี้น่าจะมีคนไทยประมาณ 5-6 พันรายแล้วที่รู้จักคริปโตเคอเรนซี่ หรือสกุลเงินที่มาจากการแก้โจทย์ถอดรหัสนี้ ส่วนตลาดซื้อขายเหรียญเหล่านี้ ถ้าอยู่ในประเทศไทย จะมีตลาด TDAX.com และ Bx.in.th

สำหรับต่างประเทศ ในเกาหลีใต้ มีตลาด bithumb และ korbit.com ในญี่ปุ่น มี coincheck.com และ bitflyer.jp ขณะที่ ในลักเซมเบิร์ก มี bitstamp.net เป็นต้น


“ปัจจุบันเงินดิจิทัลยังไม่มีกฎหมายรองรับจากธนาคารแห่งประเทศไทย จึงมีความสงสัยกันอยู่ว่า การซื้อขายในตลาดแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลอย่าง TDAX ในประเทศไทยที่ยังไม่ได้รับการกำกับดูแลจากทางการไทย อนาคตจะเป็นอย่างไร"

ขณะที่ ภายในปี 2561 นี้ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะออกเกณฑ์กำกับดูแลการลงทุนเงินดิจิทัล ที่เรียกว่า ICO หรือ Initial Coin Offering ออกมาบังคับใช้

อีกด้านหนึ่ง ในเดือน ธ.ค. 2560 ในสหรัฐฯ มีการเปิดตลาดซื้อขาย “บิทคอยน์ ฟิวเจอร์ส” หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ได้ผลตอบแทนจากราคาขึ้น-ลงของบิทคอยน์ ซึ่งปัจจุบันมี 2 ตลาดให้บริการซื้อขาย ได้แก่ ตลาด The Chicago Mercantile Exchange (CME) กับ ตลาด The CBOE Futures Exchange (CBOE) โดยทั้ง 2 แห่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ สหรัฐอเมริกา หรือ US CFTC

โดยล่าสุดต้นปี 2561 มีข่าวฮือฮาจากกรณีบริษัทหลักทรัพย์รายหนึ่งในประเทศไทย เปิดให้บริการชักชวนนักลงทุนชาวไทยซื้อขายบิทคอยน์ฟิวเจอร์สใน 2 ตลาดดังกล่าวในสหรัฐฯ

เตือนนักลงทุน ต้องเข้าใจเทคโนโลยีพื้นฐาน พร้อมทำใจรับความเสี่ยงสูง

ความสนใจลงทุนในเงินคริปโตฯ ในสังคมไทยที่เพิ่มขึ้น ทำให้หลายคนเริ่มเป็นห่วงว่าจะนำไปสู่การถูกชักชวนหลอกลวงจากมิจฉาชีพ หรือไปพัวพันกับการผิดกฎหมายฟอกเงิน

ประเด็นนี้ “ปรมินทร์” บอกว่า หากเป็นไปได้ ก็อยากแนะนำให้ผู้ลงทุนในบิทคอยน์มีความรู้พื้นฐานเรื่องเทคโนโลยีบิทคอยน์ ซึ่งก็คือบล็อกเชน เพราะถ้าไม่รู้จักเทคโนโลยีนี้ ก็อาจทำให้ปะติปะต่อข่าวไม่ได้ อีกทั้งการรู้เทคโนโลยีพื้นฐานเงินดิจิทัลจะทำให้ผู้ลงทุนวิเคราะห์ได้ว่า เราควรลงทุนในเหรียญใด และต้องทำใจยอมรับให้ได้ด้วยว่า มีโอกาสที่ราคาเหรียญจะร่วงมากกว่า 40% ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และเป็นเรื่องปกติมากของกลไกตลาด

เพราะเขาเชื่อว่า การเข้าใจเทคโนโลยีพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญ และสำคัญกว่านโยบายของรัฐบาลด้วยซ้ำ


“ตอนนี้ตลาดยังไม่ใหญ่มาก เวลาผู้เล่นรายใหญ่ขายออก จึงมีผลกระทบต่อราคาค่อนข้างมาก แต่มันก็เป็นเสน่ห์ของตลาดเงินดิจิตอล ที่คุณมีโอกาสกำไรภายใน 1 วัน และมีโอกาสขาดทุนเยอะเช่นกัน ดังนั้น ผู้ลงทุนต้องเข้าใจความเสี่ยง” ปรมินทร์กล่าว

สายเทรด กับ สายขุด คืออะไร

ในระบบนิเวศน์ของเงินคริปโตฯ ในปัจจุบัน ปรมินทร์เล่าว่า มันมี “สายเทรด” คือ นักลงทุนซื้อ-ขายเงินดิจิตอล กับ “สายขุด” หรือ mining ที่ลงทุนซื้ออุปกรณ์ที่มีความสามารถในการประมวลผลเร็วที่สุด เพื่อแก้โจทย์คณิตศาตร์ อย่างพวกที่ขุดบิทคอยน์โดยตรง ก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า “เอซิส” (ASIC) ที่สามารถขุดบิทคอยน์อัตโนมัติ

สำหรับสายเทรด มีความเสี่ยงจากข่าวสารที่ส่งผลให้ราคาเหรียญขึ้นเร็ว ลงเร็ว ส่วนสายขุดต้องควบคุมต้นทุนพวกค่าไฟฟ้า ค่าดูแลรักษาอุปกรณ์ให้ดี เนื่องจากที่ผ่านมา เคยมีเหตุการณ์ คนลงทุนสร้างโรงงานขนาดใหญ่เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ขุดเหรียญ แต่ประสบภาวะราคาบิทคอยน์ตกรูด จาก 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 400 ดอลลาร์สหรัฐ หายไป 60% จนโรงงานแห่งนั้นต้องหยุดขุด เพราะราคาเหรียญไม่คุ้มค่าจ้างคนดูแล ค่าไฟฟ้าที่ใช้เดินเครื่องอุปกรณ์ แต่ยังดีที่ในเมืองไทยยังมีคนลงทุนทำโรงงานขุดเหรียญระดับ 100 ล้านบาท ต่างจากในจีนลงทุนกันเป็นพันๆ ล้านบาท

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเตือนว่า ไม่อยากให้มองที่ราคาเป็นหลัก แม้ว่าราคายิ่งเพิ่มมาก คนยิ่งสนใจ แต่สิ่งสำคัญคือคุณต้องเข้าใจเทคโนโลยี อย่างที่มีโฆษณาว่าลงทุน 3 เดือน คืนทุน ประเด็นอย่างนี้ นักลงทุนต้องศึกษาตลาดดีๆ ว่าคำโฆษณานั้น หมายถึง ราคาบิทคอยน์ ณ ขณะนั้น คืนทุนได้ แต่อนาคต หากราคาลดลง ก็อาจไม่ได้ตามที่คาดหวังเช่นกัน

ดังนั้น การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้เทรด และผู้ขุดเหรียญ จึงต้องศึกษาตลาด ทำความเข้าใจเทคโนโลยี อีกทั้งต้องติดตามข่าวสารในระดับโลกให้ทัน ถ้าไม่อยากถูกทิ้งไว้กลางทาง! 

อ่านเพิ่มเติม :

เกาหลีใต้ออกกฎหมายห้ามซื้อขายบิทคอยน์