พลตรีเฉลิมพล จุฬารัตน์ ตัวแทนสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สนช.) พร้อมตัวแทนกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และผู้เกี่ยวข้อง รับฟังสรุปการดำนินการโครงการพาคนกลับบ้านประจำปี 2561 ณ ห้องประชุม ฉก.ทพ.44 ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวานนี้ (14 ก.พ.) โดยมี พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4/ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 เป็นประธานการประชุม
ตัวแทนโครงการพาคนกลับบ้าน ศูนย์สันติวิธี กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวถึงโครงการพาคนกลับบ้านว่า เป็นการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี เพื่อให้กลุ่มที่มีคดีความมั่นคงและความหวาดระแวงได้กลับมามีชีวิตอย่างปกติสุข ผู้ที่ผ่านกระบวนการทางกฏหมายได้พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการใช้ยุทธวิธี "ดึงมาเป็นพวก" ระลึกว่าเป็นคนไทยด้วยกัน ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องตามจับกุม
สำหรับผู้ประสงค์เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านครั้งนี้จำนวน 103 คน เป็นคนไทยพลัดถิ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย ผู้ชาย 53 คน ผู้หญิง 25 คน เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 15 คน ส่วนผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการบีอาร์เอ็นและพูโลมีจำนวน 52 คน มีสัญชาติไทย 26 คน ไม่มีสัญชาติ 76 คน สัญชาติมาเลเซีย 1 คน ได้มีการตรวจดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์เชื่อมโยงความเป็นพ่อ แม่ ลูก จำนวน 65 ราย
พลตรีเฉลิมพล กล่าวถึงการกำหนดวิธีปฏิบัติและนโยบายที่ชัดเจนใน 2 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสมช.คือ การอำนวยความยุติธรรม ซึ่งยังใช้แนวทางเดิม และการพิสูจน์สัญชาติ หน่วยงานหลักรับผิดชอบคือกระทรวงมหาดไทย สมช.ช่วยผลักดันให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ ให้เหมาะสมกับพื้นที่ เป็นจุดเด่นของโครงการ
ตัวแทนกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า การพิสูจน์สิทธิ์ รับรองตามกฎหมาย บางรายต้องใช้กฎหมายสัญชาติ ดังนี้ 1.เคยมีชื่อในฐานข้อมูลทะเบียนราษฏร์หรือถูกจำหน่ายไป สามารถค้นรายการถึงรายการปกติ ทำบัตรประชาชนได้เลยในอำเภอเป้าหมายที่มีชื่ออยู่ 2.มีชื่อฐานข้อมูล แต่ไม่เคยทำบัตร มาแสดงตัว มีพยาน ขอค้นรายการได้ ใช้ตัวตนจริงสามรถทำบัตรได้ 3.ไม่มีชื่อ แต่มีสัญชาติ มีพ่อแม่ สามารถเพิ่มชื่อได้ที่สำนักทะเบียน ให้นายอำเภอพิจารณา 4.ไม่มีช���่อ ไม่มีสัญชาติ ไม่มีพ่อแม่พี่น้อง แต่เกิดในไทย มีคนรู้เห็น ขอเพิ่มชื่อ ให้รับรองการเกิด 5.ไม่ได้เกิดในไทย ไม่มีญาติ ถ้าเป็นคนไทยมีกฎหมายสัญชาติ ถ้าอยู่ฝั่งมาเลเซียใช้ระเบียบสัญชาติ กฎหมายคนไทยพลัดถิ่น
“เชื่อว่าทุกคนเป็นคนไทย เริ่มจากการพิสูจน์ทางกฎหมาย วิธีปฏิบัติ นายอำเภอ สำนักทะเบียนเป็นหน่วยปฏิบัติ มีชื่อสุดท้ายและตัวอยู่ที่ไหนให้ไปที่นั่น หลักฐานทางวิทยาศาสตร์กรณีสุดท้าย ถ้านายทะเบียนเชื่อก็ผ่าน เรื่องนี้ถ้าใส่ใจ การพิสูจน์จริงก็ไม่ยาก จะดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อให้ทุกคนได้ใช้สิทธิ์การเป็นคนไทย ร่วมพัฒนาพื้นที่บ้านเราต่อไป”
นายไกรสร วิศิษฏ์วงศ์ รองเลขาศอ.บต. กล่าวถึงกฎหมายทะเบียนราษฏร์ที่สามารถทำได้มี 5 ขั้นตอนคือ มีบัตร มีฐานข้อมูล มีสัญชาติ เกิดในไทย และพิสูจน์ดีเอ็นเอ เมื่อผ่านใน 5 ขั้นตอน สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ พร้อมกล่าวถึงแนวทางช่วยเหลือของศอ.บต.ว่า 1.หากไม่พร้อมกลับบ้านทางศอ.บต.จัดที่อยู่ให้ในระยะเวลาสั้นๆ ที่นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ฝึกอาชีพด้านการเกษตรทั้งพืช สัตว์และประมง 2.ตั้งชมรมหรือกลุ่มอาชีพ และจัดกิจกรรมที่สามารถขอการสนับสนุนได้ 3.ดูแลสมาชิกในครอบครัว พัฒนาคุณภาพชีวิต อาชีพ การศึกษาของบุตรหลาน คนที่จะได้สิทธิ์นี้ตลอดไปจะต้องเป็นสมาชิกโครงการ ร่วมพัฒนาสันติสุข และช่วยให้สังคมสงบ
ด้าน ดร.แวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานีกล่าวสั้นๆ ว่า เป็นการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี รัฐบาลจะดูแลในด้านต่างๆ เพื่อให้ทุกคนได้มีอิสระเสรีและสิทธิเหมือนพี่น้องคนไทยทุกคน
นางกามีละ กาเร็งสานา จาก อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ญาตินายอับดุลเราะห์มาน ผู้ประสงค์เข้าร่วมโครงการบอกว่า เมื่อกลับจากมักกะฮฺ ประเทศซาอุดีอาระเบีย นายอับดุลเราะห์มานไปมาเลเซียแล้วไม่กลับมาอีกเลย
“เขามีสัญชาติไทย ไปอยู่มาเลย์ 40 กว่าปี ไม่ได้ติดคดีอะไร มีครอบครัว แต่ลูกหลานไม่ได้เรียนหนังสือเพราะไม่มีสัญชาติ ไม่มีบัตรประชาชน ตัดสินใจกลับมาเพื่อให้ลูกหลานได้เรียนหนังสือ”
ตัวแทนของกลุ่มนี้ได้กล่าวว่า พวกเรากลับมาเพื่อร่วมพัฒนาบ้านเกิด จะปล่อยให้หนุ่มสาวเหล่านี้เป็นแบบนี้ไม่ได้ สงสาร แม่ทัพสัญญาว่าจะทำให้พวกเรามีความสุข เราจึงกลับมา
ตัวแทนอีกคนกล่าวว่า “ได้ปลูกฝังลูกหลานว่า พวกเราทุกคนเป็นคนไทย ให้กลับมาบ้านเกิด ยังมีลูกหลานคนไทยอีกมาที่อยู่ฝั่งมาเลย์แล้วไม่ได้กลับมา ให้พวกเราเป็นตัวอย่างในการกลับมาว่าเราทำได้”
นิฮายาตี นิโซะ หญิงสาววัย 27 ปี เกิดในมาเลเซีย เธอไม่มีสัญชาติไทย ตั้งใจกลับมาพิสูจน์สัญชาติและอยู่ที่ยะลา บ้านเกิดของพ่อแม่
“มากัน 8 คน พ่อกับแม่อายุ 50 กว่าแล้ว มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน เป็นลูกคนที่สอง เกิดที่มาเลย์ อยู่ที่รัฐกลันตัน ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ได้รับสวัสดิการอะไร เจ็บป่วยก็ต้องจ่ายเงินทั้งหมด โตมาก็ทำงาน รับจ้างกรีดยาง ต้องอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ อย่างผิดกฎหมาย กลับมาไทยเพราอยากมีสัญชาติไทย ถ้าได้จริงจะกลับมาอยู่ที่บันนังสตา ยะลา เพราะบ้านแม่อยู่ที่นั่น”
แม่ทัพภาคที่ 4 ย้ำว่า การจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์เริ่มต้นในอีกประมาณ 7 วันนับจากวันนี้ ขั้นตอนในการออกบัตรและได้สัญชาติคนละไม่เกิน 10 วัน จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด
ขณะที่ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เขียนจดหมายเปิดผนึกก่อนหน้านี้ ระบุว่า แม้จะมีการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินการหลายๆ ด้านเพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ แต่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สะท้อนว่า ได้เข้าร่วมโครงการลักษณะเดียวกันกับโครงการพาคนกลับบ้านมาหลายครั้งแล้ว แต่เมื่อเปลี่ยนแม่ทัพ หรือเปลี่ยนหัวหน้าหน่วยทหารในพื้นที่ พวกเขาก็จะถูกติดตามให้เข้าร่วมโครงการที่ีเหมือนกัน แต่มีชื่อแตกต่างกันไป โดยบางคนเข้าร่วมถึง 5-6 ครั้งแล้ว
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รัฐยังดำเนินการติดตามเยี่ยมบ้านผู้ที่เคยเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน และมีเงื่อนไขว่าจะต้องเข้ารายงานตัวต่อหน่วยทหารในพื้นที่ หรือมีการจับกุมควบคุมตัวซ้ำ ไม่ว่าจะด้วยเหตุใหม่หรือด้วยเหตุสงสัยเดิม ตามอำนาจกฎอัยการศึก และอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้เป็นเหมือนว่า ผู้ที่เคยถูกควบคุมตัว ผู้ต้องขัง อดีตจำเลย และหรือผู้บริสุทธิ์ที่ติดหลงในกระบวนการยุติธรรมแบบพิเศษเข้าใจไปว่า ความพยายามจะกลับคืนสู่สังคม ใช้ชีวิตปกติของพวกเขา ไม่อาจเป็นไปได้
อ่านเพิ่มเติม: