ไม่พบผลการค้นหา
เรเจป ทายยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ออกมาระบุว่า ตุรกีอาจพิจารณาลงมติหนุนให้ฟินแลนด์เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) แต่จะไม่เป็นอย่างนั้นกับสวีเดน โดยประธานาธิบดีตุรกีวิจารณ์ว่า สวีเดนปฏิเสธที่จะส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจากกลุ่มคนที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับกองกำลังเคิร์ด และผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตุรกี

“หากคุณต้องการเข้าร่วมกับ NATO อย่างแท้จริง คุณต้องส่งคืนผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ให้กับเรา” เออร์โดกันกล่าว ทั้งนี้ ความเห็นล่าสุดนี้ของประธานาธิบดีตุรกีในครั้งนี้ มีขึ้นไม่กี่วันหลังจากตุรกีระงับการเจรจาเพื่อรับสองชาติในภูมิภาคนอร์ดิกอย่างสวีเดนและฟินแลนด์เข้าเป็นสมาชิก NATO

การเคลื่อนไหวดังกล่าวของตุรกีเป็นปฏิกิริยาที่ได้รับการกระตุ้นเร้า จากการประท้วงที่ปะทุขึ้นหลายครั้งในกรุงสตอกโฮล์มของสวีเดน รวมทั้งการประท้วงที่มีการเผาคัมภีร์อัลกุรอาน อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่รัฐของสวีเดนได้ออกมาประณามการประท้วงดังกล่าว แต่ยังคงกล่าวปกป้องกฎหมายเสรีภาพทางคำพูดของสวีเดนต่อไป

เพื่อเป็นการตอบโต้การรุกรานยูเครนของรัสเซีย สวีเดนและฟินแลนด์ตัดสินใจสมัครขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO เมื่อปีที่แล้ว อันเป็นการยุติการเป็นชาติไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดทางการทหาร ที่ทั้งสองยึดถือมานานหลายทศวรรษ อย่างไรก็ดี คำขอของทั้งสองจะต้องได้รับการอนุมัติอย่างเป็นเอกฉันท์จากสมาชิก NATO ในปัจจุบันทั้งหมด แต่ตุรกีและฮังการีเป็นสมาชิกปัจจุบันที่ไม่ให้สัตยาบัน ในการเสนอให้ทั้งสองชาติเป็นสมาชิกใหม่

ในการกล่าวปราศรัยของเออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกีเสนอว่า ตุรกีควร “ให้คำตอบที่แตกต่างออกไปเกี่ยวกับฟินแลนด์” และกล่าวเสริมว่า “สวีเดนจะต้องตกใจ” กับการตัดสินใจของตุรกี “เราให้รายชื่อ 120 คนแก่สวีเดน และบอกให้พวกเขาส่งตัวผู้ก่อการร้ายเหล่านั้นกลับประเทศ” เออร์โดกันกล่าว “ถ้าคุณไม่ส่งพวกเขาข้ามแดนมา งั้นก็เสียใจด้วยนะ”

ปัจจุบันนี้ สวีเดนมีจำนวนผู้พลัดถิ่นชาวเคิร์ดมากกว่าฟินแลนด์ และการพูดคุยกับตุรกีเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกของ NATO ของสวีเดนยังคงร้อนระอุ นอกจากนี้ ตุรกียังเรียกร้องให้สวีเดนออกห่างจากพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (PKK) ซึ่งตุรกี สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปนิยามว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย

ในการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของตุรกี สวีเดนอนุมัติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอนุญาตให้มีการออกกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายที่เข้มงวดขึ้นตามที่ตุรกีเรียกร้อง นอกจากนี้ ทั้งสวีเดนและฟินแลนด์ยังได้ยกเลิกการห้ามขายยุทโธปกรณ์ทางทหารให้กับตุรกี ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่หลังจากการแทรกแซงทางทหารของตุรกีในซีเรียในปี 2562

อย่างไรก็ดี ตุรกีวิพากษ์วิจารณ์สวีเดนอย่างหนักเกี่ยวกับประเด็นการประท้วงในกรุงสตอกโฮล์มเมื่อเร็วๆ นี้ รวมถึงกลุ่มสนับสนุนชาวเคิร์ดที่แขวนหุ่นจำลองเออร์โดกันบนเสาไฟ เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมานี้ ทั้งนี้ เออร์โดกัน ยังได้ประกาศเลื่อนการเลือกตั้งของตุรกีออกไป 1 เดือนจนถึงวันที่ 14 พ.ค.นี้

เปกกา ฮาวิสโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์ออกมาระบุว่า “แรงกดดัน” จากการเลือกตั้งตุรกีได้ก่อให้เกิดการถกเถียงที่ “ร้อนระอุ” ขึ้นภายในประเทศตุรกีเอง และการเจรจาควรจะมีการหยุดไว้ก่อนชั่วคราว ฮาวิสโตยังย้ำอีกว่า ฟินแลนด์ควรได้เข้า NATO พร้อมกันกับสวีเดนในวาระเดียวกัน ซึ่งเหมือนจะสวนทางกันกับข้อเสนอในตอนแรกว่า ฟินแลนด์อาจเข้า NATO โดยไม่มีสวีเดนมาพร้อมกัน


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-europe-64446439?fbclid=IwAR0wHhoc9-dW58NQ9ExedIwNkiWU0Rv68c9yE4sLBqNWnRL0D6fvFTmuSP8