ในการแถลงข่าว ณ กรุงอังการากับ ซาอูลี นีนีสเตอะ ประธานาธิบดีฟินแลนด์ เออร์โดกันกล่าวชื่นชม "ขั้นตอนที่แท้จริงและเป็นรูปธรรม" ของฟินแลนด์ เกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงของตุรเคีย ทั้งนี้ การขยายตัวเพื่อการรับรัฐสมาชิกใหม่ของ NATO ในรัฐใดๆ จะต้องการการสนับสนุนจากสมาชิกทุกคน โดยตอนนี้ฟินแลนด์จะเข้าใกล้การเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO ผ่านการลงคะแนนเสียงที่จะมีการพิจารณา จากรัฐสภาของตุรเคียเพื่อการอนุมัติการเป็นสมัคร
ฟินแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของรัสเซีย ได้ยื่นขอเข้าร่วมเป็นพันธมิตรป้องกันกับชาติตะวันตก เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาพร้อมกันกับสวีเดน อย่างไรก็ดี ทั้งคู่ถูกตุรเคียคัดค้านคำร้องดังกล่าว ทั้งนี้ ต่างจากกรณีของฟินแลนด์ เออร์โดกันยังคงปฏิเสธที่จะสนับสนุนสมาชิกภาพ NATO ของสวีเดน และจะสนับสนุนเพียงแต่ฟินแลนด์โดยลำพัง
เออร์โดกันยังคงแสดงท่าทีต่อต้านสวีเดน ในการขอเข้าร่วมเป็นนสมาชิก NATO และยังคงระบุว่า สวีเดนยังคงให้การสนับสนุน “กลุ่มก่อการร้าย” ชาวเคิร์ด อีกทั้งยังอนุญาตให้มีการชุมนุมของมวลชนที่เผาคัมภัร์อัลกุรอานบนถนนของกรุงสตอกโฮล์ม
ในทางตรงกันข้าม โทเบียส บิลล์สตรอม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสวีเดน ตอบกลับจากท่าทีของเออร์โดกันว่าเป็น "การพัฒนาที่เราไม่ต้องการ แต่เตรียมพร้อมสำหรับ" ท่าทีดังกล่าวแล้ว พร้อมกล่าวเสริมว่า มันยังคงเป็นเรื่องของสวีเดนที่จะเข้าร่วมกับ NATO เมื่อไหร่ ไม่ใช่ว่าสวีเดนจะเข้าร่วมกับ NATO หรือไม่
ฟินแลนด์และสวีเดนละทิ้งความเป็นกลางทางทหารที่ยึดถือมานาน เพื่อตอบโต้การรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบของรัสเซียเกือบชั่วข้ามคืน ทั้งนี้ ทั้ง 2 ประเทศยังคงตั้งเป้าที่จะเป็นส่วนหนึ่งของ NATO ให้ทันเวลาสำหรับการประชุมสุดยอดในเดือน ก.ค.ที่ลิทัวเนีย แต่สมาชิกใหม่จะต้องได้รับการอนุมัติจากสมาชิก NATO ทั้ง 30 รัฐ ทั้งนี้ ประธานาธิบดีฟินแลนด์ระบุว่า การเข้าร่วม NATO ของฟินแลนด์จะ ”ไม่สมบูรณ์หากไม่มีสวีเดน”
ตุรเคียกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาในวันที่ 14 พ.ค. โดยถึงแม้ว่ารัฐสภาตุรเคียจะให้สัตยาบันการเข้าเป็นสมาชิก NATO ของฟินแลนด์ล่วงหน้า แต่ฟินแลนด์ยังคงต้องได้รับการสนับสนุนจากฮังการี ทั้งนี้ พรรคฟิเดสซ์ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลฝ่ายขวาของฮังการีกล่าวเมื่อวันศุกร์ (17 มี.ค.) ว่า การลงคะแนนเสียงรับรองสมาชิกภาพ NATO ของฟินแลนด์ จะเกิดขึ้นในรัฐสภา ณ กรุงบูดาเปสต์ในวันที่ 27 มี.ค. และจะเป็นการลงมติเห็นด้วย ในขณะที่การตัดสินใจเกี่ยวกับสวีเดนจะเกิดขึ้น "ในภายหลัง"
ทั้งนี้ เออร์โดกันระบุว่า อุล์ฟ คริสเตอช็อน นายกรัฐมนตรีสวีเดนเป็น "คนดี" แต่รัฐบาลตุรเคียขอให้รัฐบาลสวีเดนส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนราว 120 คนที่เหลือ ซึ่งยังไม่ถูกส่งตัวไปยังตุรเคีย
ที่มา: