ปัจจุบันนี้ ยูเครนอยู่ระหว่างความพยายามในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของพันธมิตรทางทหารดังกล่าว ที่นำโดยสหรัฐฯ มาหลายปีแล้ว โดยหลังจากการรุกรานประเทศของรัสเซีย โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ได้ขอให้ทางองค์การมีการพิจารณารับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ยูเครนยังยื่นขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ในช่วงเวลาไม่กี่วันหลังจากการรุกรานของรัสเซียเมื่อ 24 ก.พ.ปีก่อน ก่อนที่ยูเครนจะได้รับสถานะผู้ได้รับการพิจารณาขอเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในเดือน มิ.ย.ปีก่อน
“พันธมิตรของ NATO ตกลงให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกพันธมิตรของเรา แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นมุมมองในระยะยาว” สโตลเตนเบิร์กกล่าวกับผู้สื่อข่าวระหว่างการเดินทางเยือนกรุงเฮลซิงกิ เมืองหลวงของฟินแลนด์ "สิ่งที่กำลังเป็นประเด็นในขณะนี้คือ ยูเครนสามารถมีชัยในฐานะประเทศเอกราชที่มีอำนาจอธิปไตย"
เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ยูเครนพยายามขอเข้าร่วมพันธมิตรทางทหารระหว่างสหรัฐฯ แคนาดา และ 28 ประเทศในยุโรป ซึ่งเป็นความพยายามที่ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ระบุว่าเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงแก่รัสเซีย
เซเลนสกีได้พยายามผลักดันให้เกิดกระบวนการภาคยานุวัติ เพื่อการรับรองให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกของ NATO อย่างรวดเร็ว แต่ปัจจุบันยังคงไม่มีความชัดเจนว่า การเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบเป็นสิ่งที่สมาชิกพันธมิตรจะพิจารณาอย่างจริงจังในกรณีของยูเครนหรือไม่ แม้หลังจากสงครามสิ้นสุดลง และแม้ว่าชาติพันธมิตรจะให้คำมั่นสัญญาว่าจะสนับสนุนให้ยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มก็ตาม
เมื่อสงครามสิ้นสุดลง "เราต้องแน่ใจว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย" สโตลเตนเบิร์กกล่าวระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับ ซานนา มาริน นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ “ประธานาธิบดีปูตินไม่สามารถโจมตีประเทศเพื่อนบ้านต่อไปได้ เขาต้องการควบคุมยูเครน และเขาไม่ได้วางแผนเพื่อสันติภาพ เขากำลังวางแผนทำสงครามเพิ่มเติม” สำนักข่าว AFP รายงานอ้างอิงคำพูดของสโตลเทนเบิร์ก
ในวันนี้ (28 ก.พ.) รัฐสภาของฟินแลนด์มีกำหนดจะเริ่มอภิปรายร่างกฎหมาย เพื่อเร่งการเสนอมติของประเทศเพื่อการเข้าร่วมกับ NATO โดยมีการคาดการณ์ว่ารัฐสภาฟินแลนด์จะมีการลงมติดังกล่าวภายในวันพุธนี้ (1 มี.ค.) ทั้งนี้ หลังจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ทั้งฟินแลนด์และสวีเดนตัดสินใจทั้งสองต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มพันธมิตรโดยเร็วที่สุดหลังจากวางตัวเป็นกลางมานานหลายปี
ปัจจุบันมีเพียงตุรเคียและฮังการีเท่านั้น ที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันในการรับรองให้ฟินแลนด์และสวีเดนเพื่อเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตร NATO โดยรัฐบาลตุรเคียระบุว่า ทั้งสวีเดนและฟินแลนด์กำลังให้ที่อยู่อาศัยแก่พลเมืองตุรเคีย ที่ถูกรัฐบาลตุรเคียชี้ว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" และตุรเคียกำลังเรียกร้องให้ทั้ง 2 ชาติดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับมายังประเทศถิ่นฐานอีกครั้ง
ที่มา: