ไม่พบผลการค้นหา
ความปั่นป่วนของตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์คในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (8-12 ต.ค.) สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลกรวม 'ซีเอ็นเอ็น' พาย้อนไปทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น พามองย้อนกลับไปดูว่าเกิดอะไรบ้างในสัปดาห์ที่ผ่านมา

วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม

เศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในช่วงที่ดีอย่างมาก โดยอัตราการว่างงานในเดือนกันยายน 2561 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 3.7 ซึ่งไม่ได้มาแตะที่เลขนี้เป็นเวลากว่า 49 ปีแล้ว และเป็นตัวชี้ให้นักลงทุนเริ่มมีความกังวลว่า ธนาคารกลางของสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อป้องกันอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เร็วเกินไป ส่งผลให้ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ตกลงที่เกือบ 200 จุด

วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม

ถือเป็นวันที่ตลาดเงียบที่สุดในรอบสัปดาห์ เนื่องจากเป็นวันโคลัมบัสและเป็นวันหยุด ขณะที่ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ดัชนีเอสแอนด์พี (S&P) และแนสแด็ก (Nasdaq) ทั้ง 3 แห่งปิดตลาดลดลงเล็กน้อย พร้อมๆ กัน

วันอังคารที่ 9 ตุลาคม

หลังจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกมาประกาศปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของสหรัฐฯ และจีน เนื่องจากประเด็นความขัดแย้งกรณีการขึ้นกำแพงภาษีระหว่าง 2 ประเทศ ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวลต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ทำให้ตลาดปิดตัวผสมกันทั้งในแดนบวกและลบ

วันพุธที่ 10 ตุลาคม

ตลาดหุ้นดิ่งลงอย่างน่าใจหาย โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ตกลงถึง 832 จุด ซึ่งแย่เป็นอันดับที่สามในประวัติศาสตร์ ส่วนดัชนีหุ้น S&P 500 ตกถึงเกือบร้อยละ 3.3 โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นด้านเทคโนโลยี ขณะที่ดัชนีแนสแด็กร่วงลงร้อยละ 4 ซึ่งนับว่าแย่ที่สุดตั้งแต่ มิถุนายน 2559

ซีเอ็นเอ็นระบุว่า สาเหตุที่ดัชนีหุ้นในสหรัฐฯ พาเหรดกันร่วงลงขนาดนี้ เป็นผลจากการอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวลว่า ความคึกคักของตลาดหุ้น หรือ ภาวะกระทิง กำลังจะถึงจุดสิ้นสุด ขณะที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงปัญหาเรื่องหนี้ที่เพิ่มขึ้น ยิ่งเป็นปัจจัยกดดันให้นักลงทุนกังวลมากขึ้น

วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม

ดัชนีตลาดหุ้นในสหรัฐฯ ไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นจากวันก่อนหน้าเลย อุตสาหกรรมดาวโจนส์ตกต่ออีกกว่า 600 จุด ซึ่งหากนับรวมกันแล้วดาวโจนส์ตกถึง 1,378 จุด ภายในเวลาเพียงสองวัน ดัชนีหุ้น S&P และ Nasdaq ก็ตกเช่นกัน ทำให้มูลค่าตลาดหุ้นของทั้ง 3 ตลาดตกลงรวมกันถึงร้อยละ 5 ภายในสัปดาห์เดียว และเกิดขึ้นพร้อมกับการเทขายหุ้น หลังสหรัฐฯ ประการตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนกันยนปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เมื่อเทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า สะท้อนว่า กำลังซื้อภายในประเทศยังไม่มีความแน่นอนมากนัก

อย่างไรก็ตาม ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันที่ 11 ตุลาคม ไม่ได้ปิดตัวต่ำอย่างวันก่อนหน้า และมีการดีดตัวขึ้นในช่วงปิดตลาด เป็นผลจากข่าวประธานาธิบดีโรนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ตกลงที่จะมีการพบปะพูดคุยกันในการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ G20

วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม

หลังจากผ่าน 2 วันที่แย่เป็นประวัติการณ์ ตลาดหุ้นสหรัฐเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังคงได้รับผลกระทบจากหุ้นที่ตกลงสูงสุดตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา

โดยดัชนีดาวโจนส์ปิดตัวในแดนบวกที่ 287 จุด หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ซึ่งถือเป็นการต่อสู้ที่หนักหนานับตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่วนแนสแด็กทะยานสูงขึ้นร้อยละ 2.3 นับว่าดีที่สุดตั้งแต่เดือนมีนาคมที่่ผ่านมา แม้จะต้องสู้อย่างดุเดือดเพื่อทำให้ดัชนีหุ้นกลับมาสู่แดนบวก อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นใหญ่ทั้งสามแห่งได้รับผลกระทบจากสัปดาห์ที่แย่ที่สุดในรอบกว่า 7 เดือน

โดยดัชนีหุ้น S&P 500 ตกลงสามอาทิตย์ติดต่อกัน ซึ่งถือว่ายาวนานที่สุด นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 ซึ่งเป็นช่วงทำประชามติของประชาชนในสหราชอาณาจักรที่ต้องการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ เบร็กซิก

นับว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาน่าตื่นเต้น พอๆ กับน่าผิดหวังของนักลงทุนเกือบทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การลงทุนมีทั้งวันที่ดี และ วันที่แย่ ตามวัฎจักรของเศรษฐกิจในแต่ละห้วงเวลา