ไม่พบผลการค้นหา
'ชัชวาลย์ เจียรวนนท์' ลูกชายสุเมธ เจียรวนนท์ ประธานที่ปรึกษาซีพีกรุ๊ป ทุ่มทุน 4,800 ล้านบาท ซื้อสื่อด้านเศรษฐกิจเก่าแก่ของสหรัฐฯ เล็งขยายตลาดธุรกิจคอนเทนต์ จากก่อนหน้านี้มีนักธุรกิจใหญ่จากหลายประเทศทุ่มเงินซื้อสื่อของสหรัฐฯ ที่กำลังอยู่ในช่วง 'ขาลง' เช่นกัน

นิตยสาร Fortune ซึ่งเป็นสื่อด้านเศรษฐกิจอายุกว่า 88 ปีของสหรัฐอเมริกา รายงานข่าวว่า 'ชัชวาลย์ เจียรวนนท์' เจ้าของบริษัท ฟอร์จูน มีเดีย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด บรรลุข้อตกลงซื้อกิจการนิตยสารฟอร์จูนจาก 'เมเรดิธ คอร์ป' ในวงเงิน 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,800 ล��านบาท โดยการดำเนินธุรกรรมด้านต่างๆ จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2561 พร้อมระบุด้วยว่า นายชัชวาลย์ไม่ใช่บุคคลหน้าใหม่ในแวดวงธุรกิจแต่อย่างใด เพราะเขาเป็นบุตรชายของนายสุเมธ เจียรวนนท์ ประธานที่ปรึกษาเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี และเป็นหลานของ 'ธนินทร์ เจียรวนนท์' ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีร่ำรวยติดอันดับต้นๆ ของประเทศไทย

นอกจากนี้ นิตยสารฟอร์จูนรายงานว่า เครือซีพี เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมในด้านต่างๆ ทั่วไทย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ค้าปลีก ยานยนต์ การเงิน ยา และโทรคมนาคม ส่วนเครือธุรกิจซีพีออลล์ของตระกูลเจียรวนนท์ก็เป็นเจ้าของกิจการสาขาร้านสะดวกซื้อชื่อดังอย่าง 7-11 รวมถึงเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและทีวีดิจิทัลรายใหญ่ภายใต้บริษัท ทรู คอร์ป การตัดสินใจซื้อกิจการนิตยสารฟอร์จูนของนายชัชวาลย์ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ

นายชัชวาลย์ยังได้ให้สัมภาษณ์กับฟอร์จูนด้วยว่า เขาตั้งใจจะขยายการลงทุนของฟอร์จูน โดยจะเพิ่มความสามารถในด้านดิจิทัล ขยายขอบเขตในเชิงภูมิศาสตร์ให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น และพัฒนาคุณภาพด้านบรรณาธิการ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ที่จะผลักดันธุรกิจ 'คอนเทนต์' ระดับพรีเมียมทั่วโลก

เนื้อหาตอนหนึ่งที่ปรากฏในแถลงการณ์ของนายชัชวาลย์ระบุว่า ความต้องการข้อมูลที่มีคุณภาพด้านธุรกิจยังเติบโตขึ้นอีกเรื่อยๆ เขาจึงมีความมุ่งมั่นที่จะลงทุนเพิ่มเติมในด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารมวลชนที่เฉลียวฉลาด และคาดว่าการลงทุนในด้านต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้การเติบโตและผลตอบแทนของธุรกิจเป็นไปอย่างน่าพอใจ ทั้งในส่วนของกิจการสิ่งพิมพ์และธุรกิจอีเวนต์ต่างๆ


ผนึกกำลังกอง บก.เดิม-ดันธุรกิจคอนเทนต์

ที่ผ่านมา ฟอร์จูนยังมีธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากนิตยสารฟอร์จูนฉบับพิมพ์ ได้แก่ การจัดอันดับ Fortune 500 และ 100 Best Companies ซึ่งเป็นการจัดอันดับธุรกิจและนักธุรกิจที่น่าสนใจ 500 และ 100 แห่งทั่วโลก รวมไปถึงการสำรวจและจัดอันดับผู้หญิงทรงอิทธิพลทั่วโลก Most Powerful Women ตลอดจนการรวบรวมรายชื่อนักลงทุน-นักธุรกิจหน้าใหม่ที่น่าสนใจและอายุไม่เกิน 40 ปี หรือ 40 Under 40 

https://imagesvc.timeincapp.com/v3/mm/image?url=https%3A%2F%2Ffortunedotcom.files.wordpress.com%2F2018%2F11%2Ffortune-500-2018-crop.jpg&w=800&q=85

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงซื้อขายนิตยสารฟอร์จูนครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อกองบรรณาธิการเดิม โดย 'คลิฟตัน ลีฟ' จะยังดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร และ 'อลัน เมอร์เรย์' จะเข้ารับตำแหน่งประธานบริหารนิตยสารฟอร์จูน ซึ่งทั้งคู่ยืนยันว่า คุณค่าการทำงานและความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการนิตยสารจะไม่ถูกแทรกแซงหรือเปลี่ยนไปจากเดิม ขณะเดียวกันทั้งคู่ก็แสดงความยินดีที่นิตยสารฟอร์จูนจะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่มุ่งเน้นการเจริญเติบโตในด้านอื่นๆ และพร้อมจะปรับการทำงานให้เข้ากับนโยบายในอนาคต

ทั้งนี้ เครือบริษัทเมเรดิธจะยังให้ความสนับสนุนและช่วยเหลือบริษัทของนายชัชวาลย์ในช่วงที่ต้องดำเนินการเรื่องธุรกรรมและทำสัญญาเพื่อให้การซื้อขายบรรลุผลสำเร็จ โดยการสนับสนุนจะเป็นนโยบายระยะสั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่ากิจการต่างๆ จะไม่หยุดชะงัก รวมถึงให้คำปรึกษาด้านการตลาด กลุ่มผู้บริโภค การจัดการระบบสมาชิก การจัดซื้อจัดหากระดาษและการจัดพิมพ์นิตยสารฉบับพิมพ์ 

ขณะเดียวกัน นิตยสารฟอร์บส์ของสหรัฐฯ สื่อด้านเศรษฐกิจชื่อดังอีกรายหนึ่งซึ่งเก่าแก่กว่านิตยสารฟอร์จูน รายงานว่า นายชัชวาลย์เป็นหลานของนายธนินทร์ เจียรวนนท์ มหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย จบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนียในสหรัฐฯ และร่วมบริหารงานในกิจการของครอบครัวนานนับสิบปี ปัจจุบันเขายังดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร ทรู คอร์ปอเรชั่น และเป็นซีอีโอบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ อินโดนีเซีย ขณะที่บริษัท ฟอร์จูน มีเดีย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นกิจการส่วนตัวของชัชวาลย์ ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการของตระกูลเจียรวนนท์ 


เศรษฐีต่างชาติทุ่มซื้อสื่อเก่าแก่ในสหรัฐฯ หลายราย

กิจการนิตยสารฟอร์จูนและเครือเจริญโภคภัณฑ์ต่างก็มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานทั้งคู่ โดยฟอร์บส์รายงานว่านิตยสารฟอร์จูนก่อตั้งขึ้นช่วงปี พ.ศ.2473 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ขณะที่ซีพีกรุ๊ปมีรากเหง้ามาจาก 'ร้านเจียไต๋' กิจการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ทางการเกษตรในย่านเยาวราช กรุงเทพมหานคร ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2464 ก่อนจะตั้งบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อย่างเป็นทางการในปี 2489 และนายธนินทร์เป็นกำลังสำคัญที่ทำให้กิจการเจริญโภคภัณฑ์เติบโตเป็นเครือธุรกิจขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพลในไทยและเอเชีย

AFP-จัสติน ทรูโด-นายกแคนาดาร่วมงานผู้หญิงทรงอิทธิพลของนิตยสารฟอร์จูนปี 2017.jpg

(จัสติน ทรูโด (กลาง) ผู้นำแคนาดา ร่วมงาน 'ผู้หญิงทรงอิทธิพล' ที่จัดโดยนิตยสารฟอร์จูนในสหรัฐฯ ในปี 2560)

อย่างไรก็ตาม นายชัชวาลย์ไม่ใช่มหาเศรษฐีต่างชาติรายแรกที่สนใจลงทุนและทุ่มเงินซื้อกิจการสื่อในสหรัฐฯ โดยเมื่อปี 2558 'ฟรีด สปริงเกอร์' เศรษฐีนีชาวเยอรมัน เจ้าของกิจการสิ่งพิมพ์ แอ็กเซล สปริงเกอร์ ทุ่มเงิน 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 14,400 ล้านบาท) ซื้อหุ้นร้อยละ 43 ของนิตยสารบิสซิเนสอินไซเดอร์ และเครือบริษัทโฮลซบริงก์ พับลิชชิ่ง จากเยอรมนี เป็นผู้ซื้อหุ้นร้อยละ 53 ของนิตยสารด้านธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ Nature and Scientific American เมื่อปี 2557

'คาร์ลอส สลิม' มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดของเม็กซิโก ซื้อหุ้นในเครือบริษัทผู้ผลิตและผู้จัดพิมพ์นิตยสารนิวยอร์กไทม์ส และ 'ฟอร์บส มีเดีย' ถูกซื้อไปตั้งแต่ปี 2557 โดยบริษัทไอดับเบิลยูเอ็ม (IWM) ซึ่งเป็นการร่วมทุนของนักธุรกิจมหาเศรษฐีหลายรายในเอเชีย

และเมื่อเดือน ม.ค.2561 ที่ผ่านมา 'เมเรดิธ คอร์ป' เพิ่งซื้อกิจการในเครือไทม์ อิงก์ ซึ่งประกอบด้วย นิตยสารไทม์, สปอร์ตอิลลัสสเตรทเท็ด, ฟอร์จูน และมันนี รวมถึงบริษัทโฆษณาในเครือ ไวแอนต์ เทคโนโลยี ก่อนจะขายกิจการเครือนิตยสารไทม์ให้กับ มาร์ก เบนิออฟ เศรษฐีเจ้าของธุรกิจ salesforce.com ในสหรัฐฯ เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ด้วยวงเงิน 190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6,080 ล้านบาท) และขายกิจการ 'ฟอร์จูน' ให้แก่นายชัชวาลย์

ทั้งนี้ กิจการสื่อของสหรัฐฯ อยู่ในภาวะถดถอยอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะไม่สามารถทำกำไรได้ตามเป้า และบางสื่อประสบภาวะขาดทุนจนต้องปรับลดขนาดองค์กรเพื่อความอยู่รอด เพราะไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจสื่อออนไลน์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีความหลากหลาย ทั้งยังส่งผลในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการอ่านของคนอเมริกันไปอย่างมีนัยสำคัญ แต่การครอง 'พื้นที่สื่อ' ในสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่น่าสนใจของเศรษฐีเจ้าของธุรกิจชาวต่างชาติหลายราย และเนื่องจากสื่อดั้งเดิมอยู่ในภาวะขาลง กลุ่มทุนที่มาซื้อกิจการจึงมีอำนาจต่อรองสูงกว่า


สนใจ 'จีน' และอาจตั้งสำนักงานฟอร์จูนที่ 'ฮ่องกง'

นอกจากนี้ วาไรตี้ สื่อของสหรัฐฯ รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมของ อลัน เมอร์เรย์ ซึ่งกำลังจะเป็นประธานบริหารของนิตยสารฟอร์จูนคนต่อไป โดยเขาระบุว่า สำนักงานใหญ่ของฟอร์จูนจะยังคงอยู่ที่นครนิวยอร์ก เช่นเดียวกับพนักงานทั้งหมด 170 คน แต่อาจจะต้องจัดหาสำนักงานเพิ่มเติมให้แก่บุคลากรของบริษัท ฟอร์จูน มีเดีย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ของนายชัชวาลย์

เมอร์เรย์เปิดเผยว่า นายชัชวาลย์เป็นบุคคลที่น่าสนใจและมีเสน่ห์ ทั้งยังใส่ใจในแบรนด์ฟอร์จูนที่ก่อตั้งมายาวนาน โดยเขาเชื่อว่าแบรนด์สื่อยังสามารถเติบโตขึ้นได้อีกในระดับโลก และเขาอาจพิจารณาตั้งสำนักงานฟอร์จูนในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของจีน ซึ่งเป็นความสนใจส่วนตัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: