นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ร่วมกับบริษัทอาหารและลูกอม มาร์ส ซึ่งเป็นผู้ผลิตช็อกโกแลตรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก กำลังหาวิธีการปลูกต้นโกโก้ในสภาพภูมิอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากทางนักวิทยาศาสตร์คาดว่าภายในปี 2050 โกโก้อาจจะไม่สามรถปลูกในบริเวณพื้นที่ราบได้อีกต่อไป เนื่องจากปัจจัยด้านอุณหภูมิที่สูงขึ้นและสภาพอากาศที่แห้งแล้งที่เกิดจากภาวะโลกร้อน
ปัจจุบันทีมนักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาการใช้เทคโนโลยีตัดต่อพันธุกรรมแบบ CRISPR เพื่อช่วยให้ต้นโกโก้สามารถผลิตผลได้ภายใต้เงื่อนไขของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก เมียง เจโชว ผู้อำนวยการสภาบันพันธุกรรมพืช กล่าวว่า รูปแบบของผลผลิตจากต้นโกโก้กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป และหนทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้พืชชนิดนี้อยู่รอดต่อไปคือ ผลโกโก้อาจจะต้องเล็กลง
ต้นโกโก้จะเจริญได้ดีในเขตภูมิอากาศแบบป่าฝนด้วยอุณหภูมิเฉลี่ย 20 องศา บริเวณทางตอนเหนือและใต้ใกล้เส้นศูนย์สูตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีฝน และความชื้นที่กำลังพอเหมาะตลอดทั้งปี ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตผลโกโก้กว่าครึ่งหนึ่งของโลกอยู่ในประเทศไอเวอรี่โคทและประเทศกานา ทวีปแอฟริกา แต่ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าในอีก 20-30 ปีข้างหน้า บริเวณดังกล่าวจะไม่สามารถปลูกโกโก้ได้อีกต่อไป และอาจจะต้องขยับพื้นที่การปลูกโกโก้ขึ้นไปบนภูเขาสูงกว่า 1,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล
ทั้งนี้บริษัทมาร์ส ได้ประกาศเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า ทางบริษัทได้ลงทุนเงินไปกว่า1พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ สำหรับแผนการพัฒนาที่ยั่งยืน ในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมของตนและผู้ค้าของตนให้ได้กว่า60 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2050
ที่มา Bussinessinsider และ sciencealert