ไม่พบผลการค้นหา
บลูคาร์บอน คือ การลดก๊าซเรือนกระจกด้วยระบบนิเวศชายฝั่งทะเล จะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เร็วกว่ากรีนคาร์บอน หรือพื้นที่ป่าไม้ ประมาณ 4 เท่า

ที่ผ่านมา เมื่อกล่าวถึงการลดคาร์บอนไดออกไซด์หรือการลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน คนทั่วไปมักจะนึกถึง 'กรีนคาร์บอน' ซึ่งก็เป็นการอาศัยพื้นที่ป่าไม้ในการดูดซับคาร์บอน และเปลี่ยนเป็นออกซิเจน แต่ระบบนิเวศชายฝั่งทะเลที่กระจายอยู่ทั่วโลกนั้น ถือเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ 

'บลูคาร์บอน' หรือ การลดคาร์บอนด้วยระบบนิเวศชายฝั่งทะเล จะสามารถลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากอุตสาหกรรมและชีวิตประจำวันของมนุษย์ได้เร็วกว่ากรีนคาร์บอนถึง 4 เท่า เนื่องจากโลกของเรามีน้ำเป็นองค์ประกอบกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงทรัพยากรตามแนวชายฝั่ง ทั้งป่าชายเลน หญ้าทะเล หรือพื้นที่ลุ่มน้ำเค็มที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก จึงทำให้ 'บลูคาร์บอน' เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อน

ทั้งนี้ มีการประเมินว่า ก๊าซคาร์บอนกว่า 50-99 เปอร์เซ็นต์ถูกดูดซับโดยทรัพยากรตามแนวชายฝั่งเหล่านี้

milos-prelevic-510953-unsplash.jpg

ประเทศไทยและบลูคาร์บอน

ภายใต้ความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเมื่อปี 2016 ประเทศไทยได้ลงนามร่วมกับประเทศอื่นๆอีก 196 ประเทศทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มสูงเกิน 2 องศาเซลเซียสโดยเฉลี่ย และถ้าหากโลกสามารถชะลอการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในอากาศได้ ระบบนิเวศต่างๆ ก็จะมีโอกาสในการฟื้นคืนตัวได้เร็วขึ้น

ไทยได้วางเป้าหมายให้สอดคล้องกับเงื่อนไขในความตกลงปารีสว่าในอีก 15 ปีข้างหน้าจะต้องลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25 เปอร์เซ็นต์ที่ปล่อยออกมาในปัจจุบัน แต่การจะลดก๊าซเรือนกระจกได้นั้นจะต้องใช้พื้นที่ป่าถึง 32 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศทั้งหมด แต่ปัจจุบันประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าเพียง 23 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น 

มาร์ติน ฮาร์ท-แฮนเซ่น รองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 20 ประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด แต่ไทยประสบปัญหาการทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ส่งผลให้แต่ละวันมีขยะพลาสติกจำนวนมากไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำที่กินขยะไม่ย่อยสลาย ทั้งยังเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศและสมดุลทางธรรมชาติในทะเล

_P3A8997.JPG

เครือข่ายบลูคาร์บอนฟื้นฟูชายฝั่งทะเลไทย

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (12 มี.ค.) ดร.ชวัลวัฒน์ อริยวราภิรมย์ และทิพพาภรณ์ อริยวราภิรมย์ ได้ร่วมกันเปิดตัวเครือข่าย Blue Carbon Society ที่จะเป็นองค์กรทำงานด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งทะเล เพื่อให้เป็นพื้นที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยเครือข่ายบลูคาร์บอนโซไซตี้มีโครงการร่วมกับ UNDP เพื่อทำงานพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต

ดร.ชวัลวัฒน์กล่าวว่า บลูคาร์บอนโซไซตี้ จะเป็นตัวส่งข้อความที่ดีๆ ให้กับสังคม โดยผลงานก่อนหน้านี้ของเขาคือการเป็นผู้สร้างภาพยนต์การ์ตูนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชื่อดังอย่าง 'เชลดอน' เพราะเชื่อว่าการสื่อสารด้วยภาพยนต์จะเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างความตระหนักในเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แก่สังคมได้

ส่วนเป้าหมายหลักของบลูคาร์บอนโซไซตี้ที่ระบุไว้ในเว็บไซต์และเฟซบุ๊กขององค์กร คือ การรักษาระบบนิเวศบริเวณชายฝั่งเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูต้นโกงกาง หญ้าทะเล และลุ่มนํ้าเค็ม ซึ่งจะช่วยปกป้องสัตว์ป่าและกักเก็บ 'บลูคาร์บอน' ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ และต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ