ไม่พบผลการค้นหา
“ปู่พิชัย” เชื่อ ปี 61 ไม่มีเลือกตั้ง ระบุหากปชป.-พท.ไม่จับมือสู้ทหารไม่มีวันชนะ ขณะที่ แกนนำ นปช. ชี้อนาคตการเมืองไทยขึ้นอยู่กับโรดแมปเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 2 มกราคม นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในปี61 ว่า ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ในสถานการณ์แบบนี้ แม้จะไม่ฟังธงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เชื่อเหลือเกินว่าปี 61 จะไม่มีเลือกตั้ง โดยก่อนหน้านี้มีข่าวลือว่า พรรคประชาธิปัตย์จะไปจับมือกับทหารจัดตั้งรัฐบาล ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรนั้นไม่ทราบ

 แต่อยากเห็นพรรคการเมืองจับมือต่อสู้เพื่อเอาประชาธิปไตยคืนมา มากว่าจะไปร่วมมือกันทหาร วันนี้ตนอายุมากกแล้ว คงไม่มีโอกาสได้เห็นประชาธิปไตยที่แท้จริงแล้ว เพราะดูจากหน้าตารัฐธรรมนูญเหมือนผู้มีอำนาจยังต้องการเป็นรัฐบาลต่อไป โดยมีส.ว. 250 คนมาเป็นกำลังหนุน จึงไม่มีทางอื่นที่พรรคการเมืองจะต่อสู้ได้ พรรคการเมืองใหญ่ต้องหันหน้ามาจับมือกัน ทั้งประชาธิปัตย์ เพื่อไทย แม้จะเป็นได้ยากมีบาดแผลต่อกัน แต่ต้องทำ ถ้าไม่ทำจะไม่มีทางชนะจัดตั้งรัฐบาลได้ ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย ต้องทำเพื่อสู้ให้ได้ประชาธิปไตยกลับคืนมา เพราะถ้าสู้ในกติกานี้แล้วไม่ร่วมมือกันอย่างไรก็ไม่มีทางชนะ

ส่วนสถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งต่อไป นายพิชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาหัวใจตนสนับสนุน นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน เต็มที่ในการนำพรรคสู้ศึกเลือกตั้ง แต่เมื่อนายสุรินทร์ จากไปแล้วตนก็เศร้าใจ และเสียใจ เพราะทำให้ประชาธิปัตย์ขาดกำลังสำคัญ

ดังนั้น ในตอนนี้มองเห็น 4-5 คนที่จะร่วมกันนำประชาธิปัตย์สู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้ามีทั้งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองประธานสภาที่ปรึกษาพรรค นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรค เป็นต้น ซึ่งตนเห็นว่าผู้ที่เหมาะสมที่สุดคือนายชวน แล้วให้นายบัญญัติ นายจุรินทร์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อขับเคลื่อนพรรค ทีมเวิร์คแบบนี้เป็นสิ่งที่ตนอยากเห็น แม้ว่านายชวนจะมีอายุมาก แต่ถ้าไม่ใช่นายชวนก็มองไม่เห็นคนอื่นหรือทางอื่นที่ประชาธิปัตย์จะได้คะแนนมากกว่าที่คาดไว้

ขณะที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. กล่าวว่า การเมืองในปี 2561จะเป็นปีที่ทุกฝ่ายจะเห็นภาพชัดเจนว่าใครยืนอยู่ตรงไหน ในมุมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะสืบทอดอำนาจหรือไม่อย่างไร ส่วนในมุมของนักการเมืองนั้นใครจะยืนอยู่ข้างผู้มีอำนาจ ทั้งหมดจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น

ขณะที่กลุ่มมวลชนทางการเมืองนั้น ถ้าสถานการณ์ยังเป็นไปตามโรดแมป ก็คงไม่มีเหตุอะไรที่จะต้องเผชิญหน้ากันระหว่างผู้มีอำนาจกับฝ่ายที่เห็นต่าง ดังนั้นการเมืองปี 2561จึงจะขึ้นอยู่กับว่ายังเดินตามโรดแมปอยู่หรือไม่ ซึ่งถ้าหากไม่ใช่ผู้มีอำนาจก็คงต้องตอบคำถามกับสังคมด้วย

สำหรับความเคลื่อนไหวของกลุ่มนปช.ในปี 2561นั้น ในช่วงต้นปี 2561จะเป็นการติดตามความคืบหน้าคดีสลายการชุมนุมปี 2553แต่จะเน้นหนักในทางข้อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับความเป็นธรรมก็เชื่อว่า จำเลยคงจะไม่ได้มีแค่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ แต่จะรวมถึงองค์กรต่างๆ ที่มีอำนาจเกี่ยวข้องในการดำเนินการด้วย ดังนั้นคงต้องรอดูความชัดเจนของสถานการณ์ด้วย