ไม่พบผลการค้นหา
ชาวไต้หวันลงประชามติไม่เห็นด้วย กับการอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรส ขณะเดียวกัน พรรครัฐบาลของไช่อิงเหวินก็เสียเก้าอี้ในการเลือกตั้งมิดเทอมไปจนลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค

ผลการลงประชามติถามความเห็นชาวไต้หวันเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ รวมถึงสิทธิของคู่รักเพศเดียวกันในการจดทะเบียนสมรส ออกมาว่า ชาวไต้หวันส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการจำกัดการสมรสไว้สำหรับผู้ชายกับผู้หญิงเท่านั้น แม้ศาลสูงสุดของไต้หวันจะตัดสินให้สภานิติบัญญัติแก้ไขกฎหมายอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ก็ตาม

นอกจากนี้ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ของไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันยังเสียที่นั่งในสภาไปมากในการเลือกตั้งกลางเทอมที่จัดขึ้นพร้อมกับการลงประชามติครั้งนี้ เนื่องจากประชาชนจำนวนมากไม่พอใจที่เศรษฐกิจย่ำแย่ และความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ก็ย่ำแย่ลงมากนับตั้งแต่ ไช่อิงเหวินขึ้นมาบริหารประเทศ ส่งผลให้พรรคก๊กมินตั๋งชนะการเลือกตั้งใน 15 เมืองจากทั้งหมด 22 เมือง จนไช่อิงเหวินประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค DPP เพื่อรับผิดชอบกับคะแนนนิยมที่ตกต่ำของพรรค

ผลประชามติในประเด็น LGBTIQ ออกมาว่าอย่างไรบ้าง?

  • คุณเห็นด้วยหรือไม่ว่า คำนิยามการสมรสในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ควรจำกัดไว้สำหรับผู้ชาย 1 คนและผู้หญิง 1 คนเท่านั้น? - เห็นด้วย
  • คุณเห็นด้วยหรือไม่ว่า กระทรวงศึกษาธิการไม่ควรนำ "กฎหมายการศึกษาเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ" มาบังคับใช้ในโรงเรียนประถมศึกษและมัธยมศึกษา? - เห็นด้วย
  • คุณเห็นด้วยหรือไม่ กับการปกป้องสิทธิของคู่รักเพศเดียวกันในการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างถาวรด้วยวิธีอื่น นอกเหนือจากการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ - เห็นด้วย
  • คุณเห็นด้วยหรือไม่ กับการปกป้องสิทธิการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันด้วยการแก้ไขนิยามการสมรสในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ - ไม่เห็นด้วย
  • คุณเห็นด้วยหรือไม่ กับ "กฎหมายการศึกษาเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ" ที่ระบุว่า การศึกษาทุกระดับของไต้หวันควรให้ความรู้กับนักเรียน เกี่ยวกับความสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศ การศึกษาเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก เพศศึกษา และการศึกษาเรื่องการรักเพศเดียวกัน? - ไม่เห็นด้วย

จากคำถามทั้งหมด 5 ข้อ เป็นคำถามที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเป็นผู้เสนอ 3 คำถาม และเป็นคำถามจากฝ่ายสนับสนุนสิทธิ LGBTIQ เพียง 2 ข้อ ซึ่งคำถามเหล่านี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีลักษณะเป็นคำถามนำ ไม่ตรงไปตรงมา ซึ่งอาจทำให้คนสับสนได้

อย่างไรก็ตาม ผลการลงประชามติครั้งนี้ไม่ถือว่าผิดคาดนัก เนื่องจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายศาสนาคริสต์ในไต้หวันมีจำนวนมาก ผลสำรวจของมูลนิธิความเห็นสาธารณะของไต้หวันก่อนการลงประชามติก็พบว่า ผู้ตอบสำรวจร้อยละ 77 ไม่เห็นด้วยกับการสมรสเพศเดียวกัน


ศาลสูงสุดตัดสินไปแล้ว ทำไมยังต้องทำประชามติ?

เมื่อพ.ค. ปี 2017 ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาตัดสินให้ฝ่ายนิติบัญญัติของไต้หวันออกกฎหมายเพื่อเปิดทางให้กลุ่มหลากหลายทางเพศจดทะเบียนสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้เวลา 2 ปีในการแก้ไขกฎหมายให้เสร็จ แต่หากกฎหมายยังแก้ไขไม่เสร็จภายในพ.ค. 2019 คู่รักเพศเดียวกันก็สามารถจดทะเบียนสมรสได้เลย

อย่างไรก็ตาม ศาลไม่ได้ระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่าให้แก้ไขนิยาม "การสมรส" ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) หรือให้ออกกฎหมายใหม่ ส่งผลให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมใช้ช่องทางนี้ได้การเรียกร้องให้มีการถามความเห็นของประชาชนว่าควรมีการแก้ไขปพพ.อย่างที่ฝ่ายสนับสนุนสิทธิ LGBTIQ ผลักดันหรือไม่

ชาวไต้หวันค้านแต่งงานเพศเดียวกันแล้วยังไงต่อ?

การลงประชามติครั้งนี้มีคำถามเกี่ยวกับการให้สิทธิคู่รักเพศเดียวกันด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การแก้ไขปพพ. ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย จึงเป็นไปได้ว่าจะมีการร่างกฎหมายใหม่แยกออกมาจากกฎหมายการสมรสของคู่หญิงชาย คล้ายกับการร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตแยกออกมาจากปพพ.ของไทย

แม้รัฐบาลจะยืนยันว่าผลการลงประชามติจะไม่ส่งผลกระทบกับการคำพิพากษาของศาลสูงสุดที่ให้มีการออกกฎหมายอนุญาตการแต่งงานเพศเดียวกัน แต่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิกลุ่มหลากหลายทางเพศก็กังวลว่าการร่างกฎหมายใหม่แยกออกมาจะลดทอนสิทธิของคู่รักเพศเดียวกันให้ไม่เทียบเท่ากับคู่สมรสชายหญิง

ปฏิกิริยาต่อผลการลงประชามติเป็นอย่างไร?

"แนวร่วมเพื่อความสุขของคนรุ่นต่อไป" ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านการแต่งงานเพศเดียวกันระบุว่า ผลการลงประชามติครั้งนี้แสดงถึงชัยชนะของทุกคนที่ให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครั้วแบบดั้งเดิม และทุกเสียงที่โหวตเห็นด้วยกับการห้ามสอนเรื่องความหลากหลายทางเพศในโรงเรียนก็เป็นการบอกกับเจ้าหน้าที่ว่ากระแสหลักในสังคมคิดเห็นอย่างไร

ด้านกลุ่ม TAPCPR ที่สนับสนุนสิทธิ LGBTIQ กล่าวว่า พวกเขารู้สึกถึงความไม่ยุติธรรมที่ฝ่ายต่อต้านความหลากหลายทางเพศทำแคมเปญล้างสมองชาวไต้หวันด้วยข้อมูลที่ผิดและข่าวปลอม แต่จะยังต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศต่อไป พร้อมเรียกร้องให้มีการทบทวนการตีความของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้ "เสรีภาพในการแต่งงาน" และ "การคุ้มครองสิทธิเท่าเทียม" ของประชาชน

ขณะที่แอมเนสตี้ อินเทอร์เนชันแนล องค์กรสิทธิมนุษยชนสากลเตือนรัฐบาลไต้หวันว่า รัฐบาลจะต้องไม่ลดทอนสิทธิของคู่รักเพศเดียวกัน แม้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะชนะการลงประชามติครั้งนี้ก็ตาม


ที่มา : Taipei Times, BBC, Al Jazeera, TAPCPR


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :