ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงยุติธรรมเพิ่งประกาศว่า ตั้งใจจะร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตและยื่นให้สนช.ผ่านร่างพ.ร.บ.ให้ได้ภายในเดือน ธ.ค. ปีนี้ เพื่อให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนกันได้ หลายคนต่างตื่นเต้นว่าคนรักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานได้เหมือนกับคู่ชายหญิงแล้ว ทั้งที่จริงแล้วพ.ร.บ.นี้ไม่ได้ทำให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศอย่างที่หลายคนเข้าใจ

ช่วงเดือนที่ผ่านมา การแต่งงานเพศเดียวกันกลับมาเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจและมีการถกเถียงกันมาก ทั้งฝ่ายสนับสนุนพ.ร.บ.คู่ชีวิต ทั้งฝ่ายคัดค้านการจดทะเบียนระหว่างคนรักเพศเดียวกัน ทั้งฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร แต่สิ่งที่กลับไม่ค่อยเห็นพูดคุยกันจริงๆ จังๆ ทั้งที่สำคัญมาก ก็คือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต กับการสมรสของคู่ชายหญิง มันต่างกันอย่างไร?

ก่อนหน้านี้ พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเปิดงาน Gender Matters ว่า กระทรวงยุติธรรมจะนำร่างพ,ร,บ.คู่ชีวิตเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบหลักการให้เดือน ธ.ค. 2561

แล้วเมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มโรงน้ำชา หรือ TEA group (Togetherness for Equality and Action) ออกรายการ “นโยบายประชาชน” ของช่อง ไทยพีบีเอส เรียกร้องให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่องของการสมรสและการรับบุตรบุญธรรมทั้งหลายแหล่ หมายความว่า ขณะนี้ เรามี 2 แนวทางในการผลักดันให้คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิประโยชน์จากคู่รักของตัวเอง

เราเชื่อว่ามีหลายคนอ่านย่อหน้าด้านบนแล้วสับสนกับกฎหมายต่างๆ นี่จึงเป็นที่มาให้เราอยากหยิบเรื่องนี้มาคุยกันแบบที่คนไม่รู้กฎหมายก็ควรจะทำความเข้าใจว่า ที่หลายคนดีใจล่วงหน้าไปก่อนแล้วว่า ไทยกำลังจะมีพ.ร.บ.คู่ชีวิต มันทำให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศสมรสกันได้ “เหมือนคู่ชายหญิง” จริงหรือ? แล้วทำไมนักเคลื่อนไหวอย่างโรงน้ำชาต้องออกมาเรียกร้องการแก้กฎหมายให้วุ่นวาย ในเมื่อเรากำลังจะมีพ.ร.บ.คู่ชีวิตอยู่แล้ว?

LGBT.jpg

“อ้าว! มันไม่เหมือนกันหรอพี่?”

นี่เป็นคำถามของรุ่นน้องคนหนึ่ง เมื่อฉันแสดงความเห็นต่อข่าวพ.ร.บ.คู่ชีวิตว่า ฉันอยากให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสกันได้มากกว่า จากนั้นก็มีหลายคนเข้ามายอมรับว่า พวกเขาไม่รู้เลยว่าพ.ร.บ.คู่ชีวิตที่ว่านี้ไม่ได้ทำให้คู่รักเพศเดียวกันสมรสกันได้เหมือนคู่รักชายหญิง บล็อกนี้จึงต้องการอธิบายคำศัพท์อันชวนสับสนนี้ให้ทุกคนได้เข้าใจ และขอนำภาษาอังกฤษมากำกับ เพื่อให้แยกได้ชัดขึ้น

แต่งงาน (Wedding) : การแต่งงานเป็นพิธีหรือการประกาศว่าคนสองคนจะใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภรรยา สามีสามี ภรรยาภรรยา ใครๆ ก็จัดงานแต่งงานกันได้ทั้งนั้น จะแต่งที่บ้าน จะรดน้ำสังข์กัน จะไปแต่งงานกันริมทะเลหรือใต้น้ำก็ได้ทั้งนั้น แต่คู่แต่งงานนี้จะเลือกไปจดทะเบียนสมรสเพื่อให้รัฐรับรองสถานะคู่สมรสและมีข้อผูกพันทางกฎหมายกันหรือไม่ นั่นก็เป็นเรื่องของแต่ละคู่

สมรส (Marriage) : การจดทะเบียนสมรส คือการที่รัฐรับรองสถานะทางกฎหมายของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในรัฐนั้น โดยสถานะการสมรสจะทำให้คู่สมรสมีภาระผูกพันกันทางกฎหมาย ทั้งเรื่องการจัดการทรัพย์สิน หนี้ สิน หรือมรดก การตัดสินใจด้านการแพทย์ การรับสิทธิประโยชน์ของคู่สมรส การรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน หรือแม้แต่การจัดการศพ

ในแต่ละประเทศก็มีเงื่อนไขแตกต่างกันออกไป เช่น ไทยระบุว่า คู่สมรสต้องอายุเกิน 17 ปี เป็นคู่ชายหญิงเท่านั้น ทั้งคู่ต้องยินยอมสมรสกัน ไม่สมรสซ้อน ไม่มีใครเป็นคนวิกลจริตหรือไร้ความสามารถตามคำสั่งศาล เป็นต้น ซึ่งคู่รักเพศเดียวกันมีคุณสมบัติไม่ครบตามเงื่อนไขนี้

คู่ชีวิต (Civil Partnership / Civil Union) : ในภาษาไทย คำเหล่านี้ฟังดูเหมือนๆ กันหมด แต่ถ้าเทียบความหมายของคำว่า ‘คู่ชีวิต’ กับภาษาอังกฤษอาจทำให้เข้าใจมากขึ้น Civil แปลว่าพลเมือง Partnership แปลว่า หุ้นส่วน Union แปลจากรากศัพท์ภาษาละตินว่า ความเป็นหนึ่ง ดังนั้น มันคือการที่พลเมืองมาเป็นหุ้นส่วนกัน ซึ่งก็จะมีสิทธิบางอย่างร่วมกันทางกฏหมาย แต่จะไม่เท่ากับการสมรส

พรีเว็ดดิ้ง-แต่งงาน-เจ้าบ่าว-เจ้าสาว-คู่รัก-งานแต่ง-pre wedding-ริมหาด-AP

ทำไม(รัก)เราไม่เท่ากัน?

ย้อนกลับมาที่เรื่องของการร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต หลายคนที่สนับสนุนพ.ร.บ.คู่ชีวิตต้องการเห็นความเท่าเทียมทางเพศ แต่พ.ร.บ.นี้ไม่ได้ให้ความเท่าเทียมกับคู่รักหลากหลายเพศ สิ่งที่พ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับนี้ให้ก็คือ กฎหมายเฉพาะที่เอาไว้ใช้กับคู่รักเพศเดียวกันเท่านั้น

หากถามว่า กฎหมายเฉพาะที่เอาไว้ใช้กับคู่รักเพศเดียวกันเท่านั้น เป็นปัญหาตรงไหนกัน? จึงขอย่อยออกมาเป็นข้อๆ ให้ติดตามกันไปได้ง่ายๆ

กฎหมายเฉพาะ เขียนมาเพื่อคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ในขณะที่คนอื่นเขาใช้กฎหมายอื่นๆ กัน นี่จึงเป็นสิ่งชัดเจนมากที่ระบุว่า คู่รักหลากหลายเพศถูกปฏิบัติแตกต่างไปจากคนอื่น ทั้งที่ความเท่าเทียมที่แท้จริงก็คือการมีมาตรฐานเดียว ใช้กฎหมายเดียวกัน และที่สำคัญก็คือ กฎหมายเฉพาะ ที่ว่านี้เป็น “พระราชบัญญัติ แยกออกจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.)ที่คู่ชายหญิงใช้กัน จนควรตั้งคำถามว่าถึงศักดิ์ศรีของกฎหมายนี้ เพราะในแง่การทำงาน นักกฎหมายมอง ปพพ. เหมือนกับกฎหมายแม่บท

คู่รักเพศเดียวกันเท่านั้น ส่วนนี้เป็นส่วนที่พ.ร.บ.คู่ชีวิตมีปัญหา เพราะโลกปัจจุบันนี้มีเพศสภาพที่หลากหลาย มีรสนิยมทางเพศที่หลากหลาย โลกเราไม่ได้มองเรื่องเพศแบบขาวกับดำ หญิงกับชาย คู่รักต่างเพศกับคู่รักเพศเดียวกันอีกต่อไป เราเห็นหญิงข้ามเพศรักกัน เห็นทอมรักกับกะเทย และอีกมากมาย ถ้าพ.ร.บ.คู่ชีวิตจำกัดเพียงคู่รักเพศเดียวกัน เราจะต้องมานั่งตีความความสัมพันธ์ของคนหลากหลายเพศกันให้วุ่นวายอีก ทั้งที่มันควรจะทำให้ชีวิตของคู่รักเพศหลากหลายง่ายขึ้น มองว่าทุกคนทุกเพศมีสิทธิที่จะเข้าถึงการสมรสและการเป็นคู่ชีวิตได้เหมือนกันๆ

คู่ชายหญิงจดทะเบียนคู่ชีวิตไม่ได้ ส่วนตัวไม่ได้ต่อต้านว่าเราไม่ควรมีพ.ร.บ.คู่ชีวิต เพราะคิดว่าพลเมืองก็ควรมีตัวเลือกว่าอยากผูกพันทางกฎหมายกับอีกคนในระดับไหน คนที่อยากผูกพันทางกฎหมายกับอีกคน แต่ไม่ต้องการผูกพันกันถึงขั้นเป็นคู่สมรสก็น่าจะมี รวมถึงคู่ชายหญิงด้วย

ขณะที่ พ.ร.บ.คู่ชีวิตของไทยยังไม่คลอด ศาลอังกฤษเพิ่งตัดสินให้คู่หญิงชายคู่หนึ่งชนะคดี หลังจากที่พวกเขายื่นฟ้องว่า กฎหมายนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะมีการกีดกันคู่รักชายหญิง ทำไมคู่ชายหญิงจึงไม่มีสิทธิจดทะเบียนคู่ชีวิตล่ะ? ไทยกลับจะเสนอพ.ร.บ.คู่ชีวิตที่จำกัดให้แค่คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนกันได้เท่านั้น แทนที่เราจะเรียนรู้จากประเทศที่เขาถกเถียงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศกันมาก่อนเรา

LGBT Exhibition 1.jpg

ทำไมไม่ค่อยเป็นค่อยไปเหมือนในต่างประเทศล่ะ?

หลายคนมองว่าแล้วทำไมเราไม่ค่อยเป็นค่อยไป ทำพ.ร.บ.คู่ชีวิตให้คู่รักเพศเดียวกันพอจดทะเบียนกันได้เสียก่อน แล้วค่อยไปแก้กฎหมายแต่งงานเดิมให้สิทธิเต็มที่ทีหลัง เหมือนหลายประเทศเช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ที่มีกฎหมายคู่ชีวิตขึ้นมาก่อน แล้วสุดท้ายก็มาแก้กฎหมายสมรส แต่หากมองกลับไปก็ยังเหตุผลที่เขาต้องมาแก้กฎหมายสมรสก็เพราะเขาเห็นแล้วว่า นั่นคือความเท่าเทียมที่แท้จริง

นอกจากวิธีค่อยเป็นค่อยไป ไต้หวันก็มีวิธีที่ไวกว่านั้นคือ การใช้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน แล้วกำหนดเวลาการแก้ไขประมวลกฎหมายทั้งหมดภายใน 2 ปี แน่นอนว่ากว่าจะชนะคดี นักเคลื่อนไหวในไต้หวันก็ใช้เวลาต่อสู้กันอยู่หลายปี แต่เมื่อชนะแล้วก็ถือเป็นชัยชนะที่เด็ดขาดทีเดียว

เราควรเรียนรู้การเคลื่อนไหวจากต่างประเทศ เพื่อมาปรับปรุงการเคลื่อนไหวในประเทศเรา ให้การต่อสู้เป็นการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมที่แท้จริงและมีวิธีการเคลื่อนไหวที่เฉียบขาดตรงเป้า ไม่ใช่ศึกษาเพื่อคัดลอกมาทำตามทุกขั้นตอน ไม่คิดจะลัดขั้นตอนใดๆทั้งสิ้น

LGBT จีน

โชคดีเหลือเกินที่คณะราษฎรกำหนดให้ผู้ชายและผู้หญิงมีสิทธิในการเลือกตั้งพร้อมกันเลยตั้งแต่ประกาศการเปลี่ยนแปลงปกครอง ลองนึกดูว่า หากคณะราษฎรคิดว่าจะต้องทำทีละขั้นตอนเหมือนฝรั่งเศสหรืออังกฤษ ที่ให้สิทธิผู้ชายเลือกตั้งได้ แล้วค่อยเป็นขั้นเป็นตอนให้ผู้หญิงต้องต่อสู้เพื่อสิทธิเลือกตั้งทีหลัง ผู้หญิงไทยอาจต้องใช้เวลาต่อสู้เพื่อสิทธิเลือกตั้งกันถึง 30 – 90 ปีเลยทีเดียว

ปัญหาที่จะเกิดขึ้นของการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมในการสร้างครอบครัวแบบแบ่งเป็น 2 ขยักก็คือ สาธารณะจะไม่เข้าใจว่าทำไมจึงมีการเรียกร้องสิทธิที่ (ดูเหมือน) ซ้ำซ้อน หรือหลายคนมองว่าการแก้ไขกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมในการสมรสกลายเป็นการ “ได้คืบจะเอาศอก” เรียกร้องไม่มีวันหยุด เพราะคนทั่วไป รวมถึงคนที่มีความหลากหลายทางเพศเองที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ไม่เข้าใจว่า ความเท่าเทียมทางเพศยังไม่เกิดอย่างแท้จริง ดังนั้น คณะทำงานที่ต้องการผลักดันการแก้ไขปพพ.จึงมีโจทย์ใหญ่ที่ต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไร ให้สังคมเข้าใจว่าทำไมยังต้องเรียกร้องต่อ

นี่ไม่ใช่การโปรยทานสิทธิแก่ผู้ด้อยโอกาส

นับตั้งแต่ที่มีการประกาศว่าจะพยายามยื่นพ.ร.บ.คู่ชีวิตของกระทรวงยุติธรรมเข้าสภาและผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.ให้ได้ภายในปีนี้ ผ่านมา 1 เดือนยังไม่มีใครได้เห็น พ.ร.บ.คู่ชีวิตร่าง 3 แม้แต่นิดเดียว ไม่รู้แม้กระทั่งว่าเนื้อหาคร่าวๆ เป็นอย่างไรบ้าง นักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศของไทยส่วนใหญ่ก็ไม่รู้เช่นกัน เพราะนักเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ไม่มีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่มีใครรู้เลยว่าพ.ร.บ.คู่ชีวิตจะครอบคลุมถึงเรื่องอะไรบ้าง คู่รักเพศเดียวกันจะรับเด็กมาเลี้ยงร่วมกันได้หรือไม่ เป็นต้น มันช่างลับลวงพรางเสียเหลือเกิน ขณะที่การผลักดันเรื่องนี้ในต่างประเทศ มีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดกันทั่วประเทศ เป็นข่าวดังกันไปทั่วโลก

พ.ร.บ.คู่ชีวิตนี้น่าสนใจตรงที่มีกำหนดว่าจะเปิดให้มีการประชาพิจารณ์ในเดือนก.ย. แล้วให้เวลาคัดค้านแก้ไขร่างเพียงไม่นาน แล้วจะยื่นให้สนช.พิจารณาในเดือนธ.ค. ราวกับไม่ต้องการให้ใครรู้เรื่องมาก จะได้รีบๆ ผ่านร่างให้มันจบๆ ไป แทนที่จะมีตัวแทนจากภาคประชาสังคมไปร่วมร่างด้วยตั้งแต่ต้น

สิ่งที่น่าเศร้าก็คือ กฎหมายที่เกิดจากความตั้งใจสร้างความเท่าเทียมทางเพศ กลับถูกร่างขึ้นมาแบบหวงอำนาจ รวมศูนย์อยู่ที่กระทรวงยุติธรรมเท่านั้น ราวกับว่า รัฐเป็นผู้สูงส่ง มีความรู้และอำนาจมากกว่า อุตส่าห์เขียนกฎหมายขึ้นมาให้ผู้ด้อยโอกาส ทั้งที่จริงๆ แล้วสิทธิเท่าเทียม เป็นสิทธิอันพึงมีแต่ถูกรัฐจำกัดไว้ ประเด็นสำคัญของกฎหมายจึงควรเป็นการฟังเสียงของประชาชนที่ถูกลิดรอนสิทธิ ไม่ใช่การที่รัฐคิดเองเออเอง สับไฟเขียวไฟแดงว่าจะให้สิทธินี้ แต่ไม่ให้สิทธินั้นได้ตามชอบใจ

สัญญาณไฟข้ามถนน LGBT อาจติดตั้งถาวรในลอนดอน

เรียกร้องสิทธิรัฐบาลทหาร

ประเด็นนี้น่าจะมีคนพูดถึงไปบ้างแล้ว แต่ก็น่าจะต้องย้ำอีกรอบว่า เป็นเรื่องน่าเศร้ามากที่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศของไทยบางส่วน (ไม่ใช่ทั้งหมด) ภาคภูมิใจเหลือเกินที่สามารถจะผลักดันสิทธิความเท่าเทียมทางเพศได้จากรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร และกำลังจะได้พ.ร.บ.คู่ชีวิต (ที่ไม่รู้เลยว่าจะครอบคลุมสิทธิมากน้อยขนาดไหน) เพราะหากเข้าถูกทาง รัฐบาลเผด็จการจะออกกฎหมายได้เร็วมาก ไม่วุ่นวายยุ่งยาก เถียงกันไปมา น่ารำคาญ แบบรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมจากรัฐบาลที่ไม่เคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานใดๆ เลย การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ทางเพศ แสดงออกซึ่งความรักต่อคนรักของเรา จากคนที่ไม่เคยแยแสเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในการเลือกตั้ง สิทธิในการชุมนุม เสรีภาพสื่อ หรือมองว่าประชาชนนั้นโง่เขลาจนเขาต้องเข้ามาดูแลประเทศแทน นี่มันช่างย้อนแย้งและเห็นแก่ตัวมาก

อยากสรุปเรื่องนี้ไว้ด้วยคำถามต่อไปนี้

1. หากเราต้องการ “ความเท่าเทียม” อันไหนที่ทำให้เรา “เท่าเทียม” อย่างแท้จริง?

2. ประชาชนควรมีส่วนร่วมกับกฎหมายที่สำคัญขนาดนี้หรือไม่?

3. เรายอมเสียสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน เพื่อให้ได้กฎหมายที่ยังเลือกปฏิบัติกับคนหลากหลายทางเพศไปเพื่ออะไร?