ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อ 30 ปีก่อน ชายหนุ่มผู้มองโลกในแง่ดีชื่อ ‘ฉี เฉีย เหวย (Chi Chia-wei)’ เป็นคนเดียวที่กล้าออกมาเปิดเผยต่อสังคมไต้หวันว่า “ฉันเป็นเกย์”

ด้วยความภาคภูมิใจ และไม่หวาดหวั่นกับเสียงวิจารณ์รอบข้าง ฉีตัดสินใจเดินหน้ารณรงค์เรียกร้องสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่บนสังเวียนการต่อสู้ที่ต้องเผชิญหน้ากับความกดดันมหาศาล 

เมื่อ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ฉีเดินทางมาประเทศไทย เพื่อเข้ารับรางวัล ‘HERO Awards’ ประเภทฮีโร่ของชุมชนจากมูลนิธิแอ็พคอม ในฐานะผู้สร้างประวัติศาสตร์ให้ไต้หวันกลายเป็นดินแดนแรกในเอเชียที่อนุญาตให้การสมรสของคนเพศเดียวกันถูกกฎหมาย

ทุกครั้งที่ปรากฎตัวต่อสาธารณะฉีจะมาพร้อมธงสีรุ้งผืนใหญ่ อันเป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศ และข้อเสนอเกี่ยวกับการสนับสนุนความเสมอภาคในการสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน การป้องกันเชื้อเอชไอวี และสิทธิของคนข้ามเพศ

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ฉีเติบโตขึ้นท่ามกลางอำนาจครอบจักรวาลของรัฐบาลภายใต้กฎอัยการศึก ทว่าเขาได้รับการเลี้ยงดูจากครอบครัวที่เปิดใจกว้าง ไม่คิดคัดค้านเรื่องรสนิยมทางเพศ ส่งผลให้เขาไม่จำเป็นต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ แถมยังมีแรงสนับสนุนให้ลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อยืนหยัดในความเป็นตัวตนที่แท้จริง

อย่างไรก็ตาม ในปี 2529 ไต้หวันเป็นพื้นที่ที่ประชาชนไร้เสรีภาพทุกตารางนิ้ว แต่ความพยายามแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของฉีเอง ทำให้เขาตัดสินใจออกมายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก เพื่อขอให้การสมรสของกลุ่มคนรักร่วมเพศเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ทางสภานิติบัญญัติกลับปฏิเสธคำร้องขอของเขา และให้เหตุผลสุดปวดร้าวว่า ‘เป็นความคิดบิดเบือนของคนกลุ่มน้อยในสังคม’ ที่สำคัญยังเป็นการต่อต้านวัฒนธรรมไต้หวันแบบดั้งเดิม และส่งผลให้ฉีถูกสั่งจำคุกนานห้าเดือน

ยิ่งไปกว่านั้น ฝ่ายต่อต้านกลุ่มคนรักร่วมเพศยังออกมากล่าวหาฉีว่าเป็นพวก ‘ลัทธินอกรีต’ และ ‘เรียกร้องความสนใจ’ จนทำให้ความขัดแย้งกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เขาก็ยังไม่ยอมแพ้ และกลับมาเรียกร้องกับศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งในปี 2543

“การผลักดันกฎหมายคุ้มครองสิทธิสมรสของคนเพศเดียวกันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในวันเดียว ฉันใช้เวลาหมดไป 30 ปีกับการต่อสู้ เพื่อแลกกับคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนรักร่วมเพศในไต้หวัน เพราะสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคนเป็นสิ่งสำคัญ และการสมรสก็นับเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับอย่างเสมอภาค” นักเคลื่อนไหวผู้นี้กล่าว


chi chia-wei 01.jpg

ช่วง 20 ปีแรกของการรณรงค์เรียกร้องสิทธิ ฉีมุ่งมั่นทำงานแบบตัวคนเดียว ด้วยการพยายามเข้าไปเจรจากับหน่วยงานของรัฐบาล ทว่ากลับไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนให้ความสนใจเขาเลยสักคน จนบางครั้งฉีก็คิดว่า

“อุดมคติของฉันอาจจะสูงเกินไป” 

ต่อมาไม่นาน ภาพความเป็น ‘นักสู้’ ของฉีกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนบนเกาะไต้หวันมีความกล้าหาญ และหันมาก่อตั้งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนมากกว่า 100 แห่ง เช่น องค์กรสิทธิเกย์ และองค์กรพัฒนาด้านโรคเอดส์ โดยฉีมอบรากฐานให้กับพวกเขา ซึ่งตรงกับสำนวนจีนที่ว่า 

“บรรพบุรุษปลูกต้นไม้ไว้ให้ผู้สืบทอดได้มาเพลิดเพลินกับสายลมเย็น ๆ” 

จริงอยู่ บรรทัดฐานของสังคมไม่ได้เปลี่ยนแปลงในเวลาสั้น ๆ แต่ช่วง 30 ปีหลัง ไต้หวันมีการเปลี่ยนแปลงไปแบบผิดหูผิดตาทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ก่อเกิดเป็นความหวังครั้งใหม่ของฉีหลังจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าได้รับเสียงข้างมากในสภาโดยมี ‘ไช่ อิง เหวิน’ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีหญิงคนแรก พร้อมยกนโยบายสนับสนุนเสรีภาพการแต่งงานที่เสมอภาค ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของผู้มีความหลากหลายทางเพศในไต้หวัน

“ฉันพยายามทำงานร่วมกับองค์กร หรือหน่วยงานของภาครัฐต่าง ๆ คือไม่ได้ทำแบบตัวคนเดียวอีกต่อไปแล้ว และมันทำให้ฉันมองเห็นแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม เพื่อนำไปปรับปรุงการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน โดยฉันพยายามทำให้ประเด็นสิทธิการสมรสของคนเพศเดียวกัน และการศึกษาเกี่ยวกับโรคเอดส์ เกิดการพูดคุยในวงกว้างมากยิ่งขึ้น และแน่นอนในอนาคตอันใกล้เป็นไปได้ที่ประเทศไต้หวันจะมีการสมรสของคนเพศเดียวกันเกิดขึ้น” ฉีกล่าว

ตลอดสามทศวรรษ ฉีเป็นผู้นำขบวนการเรียกร้องสิทธิเกย์ของไต้หวัน โดยการรณรงค์กินเวลายาวนานจนทำให้เส้นผมดกดำของเขาแปรเปลี่ยนไปเป็นสีเทา และแม้ว่าต้องเผชิญความล้มเหลวหลายต่อหลายครั้ง ฉียังคงไม่รู้สึกท้อ

“ฉันไม่ได้ท้อแท้จากความพ่ายแพ้ มันเลยทำให้ฉันอยู่กับข้อเรียกร้องได้นาน”

หลังผ่านการต่อสู้มายาวนาน สิ่งที่ฉีทำลงไปส่งผลให้มีคนมากกว่า 250,000 คน มายืนอยู่เคียงข้างเขา และศาลสูงสุดไต้หวันได้ตัดสินเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า กฎหมายปัจจุบันที่จำกัดการแต่งงานไว้สำหรับคู่รักชาย-หญิงนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตลอดจนละเมิดสิทธิเสรีภาพ และขัดต่อหลักความเท่าเทียมกันของพลเมือง ซึ่งถือเป็นการพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับ ‘ชัยชนะของความรัก’ ของคนไต้หวันที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคต่อไป

“การพิจารณาของศาลทำให้ฉันมีความสุขมาก ฉันโบยบินเหมือนนกด้วยความยินดี ย้อนกลับไปตอนเริ่มต้น ผลกระทบของการรณรงค์อาจจะน้อย แต่มันเหมือนการกลิ้งลูกหิมะลงจากเขาแล้วมันจะค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และความเชื่อของฉันคือ ถ้าคุณสามารถทำสิ่งที่ถูกต้องในชีวิตได้ทุกอย่างก็คุ้มค่า”


Chi chia-wei 02.jpg

สำหรับฉีแล้ว แม้การเปิดทางของศาลจะทำให้ไต้หวันกลายเป็นหนึ่งในสังคมก้าวหน้าที่สุดของภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะกับเรื่องเสรีภาพทางเพศ แต่การรับรองกฎหมายสมรสของคนเพศเดียวกันกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไข ดังนั้น ฉีจะยังคงเดินหน้าเรียกร้องให้สภาไต้หวันผ่านกฎหมายดังกล่าวภายในสองปี ซึ่งจะส่งผลให้ไต้หวันกลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่การสมรสของคนเพศเดียวกันถูกกฎหมายภายในปี 2562

“ความจริงเหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นตั้งนานแล้ว ความยุติธรรมมันมาช้าไป”

ในวัย 59 ปี ฉีกลายเป็นนักรณรงค์เรียกร้องสิทธิ และความเท่าเทียมในการสมรสของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เขาได้รับรางวัลจากความพยายามอันยาวนานของเขาในการสนับสนุนสิทธิของกลุ่มคนรักร่วมเพศ และผู้ติดเชื้อเอชไอวีมาแล้วมากมาย โดยก่อนจะเดินทางมายังประเทศไทย เขาเพิ่งได้รับรางวัลทางวัฒนธรรม ‘Presidential Cultural Award’ ในฐานะผู้บุกเบิกความเท่าเทียมในชีวิตสมรส

สำหรับ ‘HERO Awards’ ย่อมาจาก HIV (เอชไอวี) Equality (ความเสมอภาค) และ Rights (สิทธิ) เป็นรางวัลพิเศษที่จัดขึ้นฉลองครบรอบ 10 ปีของมูลนิธิแอ็พคอม เพื่อเชิดชูผู้ที่มีผลงานโดดเด่นในการรับมือกับปัญหาเอชไอวีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และการทำงานเพื่อชุมชนเลสเบี้ย��� ชายรักชาย คนรักสองเพศ และคนข้ามเพศ โดยมีผู้สร้างแรงบันดาลใจจำนวน 21 คน ได้รับการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายจากผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลกว่า 350 คน