เวลาประมาณ 15.00 น. แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวประกอบด้วย นายอานนท์ นำภา น.ส. ชลธิชา แจ้งเร็ว และนางสาวณัฏฐา มหัทธนา
เหตุการณ์ควบคุมตัวเกิดขึ้นขณะที่ น.ส.ณัฏฐา และ น.ส. ชลธิชา กำลังอ่านแถลงการณ์บริเวณสะพานมัฆวานฯ เรียกร้อง 5 คือ
1.เลือกตั้งต้องเกิดขึ้นในเดือน พ.ย.61
2. คสช.ยุติความพยายามในการสืบทอดอำนาจ
3. ต้องปลดอาวุธ คสช. ประกาศและคำสั่งต่างๆ
4 เปลี่ยนรัฐบาลประยุทธ์ เป็นรัฐบาลรักษาการก่อนการเลือกตั้ง
5.กองทัพยุติการสนับสนุน คสช.
ก่อนหน้านี้ เวลาประมาณ 14.00 น. เจ้าหน้าที่ตรึงกำลังเตรียมความพร้อมรับมือผู้ชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งบางส่วนเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อมุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาลเรียกร้องการเลือกตั้งภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม การเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจยืดเยื้อ และผู้ชุมนุมบางส่วนเริ่มเดินทางไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ในฐานะทีมโฆษก คสช. แถลงถึงแนวทางการจัดการเกี่ยวกับการชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โดยทราบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะเคลื่อนไหวจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยังทำเนียบรัฐบาล จึงต้องสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่าย ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเป็นไปตามโรดแมปเดือน ก.พ. 2562 อย่างแน่นอน และทราบดีว่ากลุ่มผู้ชุมนุมอยากจัดกิจกรรมแสดงออกทางการเมือง ซึ่งการชุมนุมจะต้องไม่กระทบต่อประชาชนทั่วไป ไม่มีการปลุกเร้า
ส่วนฝ่ายความมั่นคงก็ต้องทำหน้าที่ป้องกันผู้ไม่หวังดี และอำนวยความสะดวกการชุมนุมให้ปลอดภัย แต่การเคลื่อนขบวนอาจมีผลกระทบต่อการจราจรช่วงเปิดเทอม จึงมอบหมายให้ตำรวจดำเนินการ โดยยึดหลักความสะดวกปลอดภัย เหมาะสมตามอำนาจหน้าที่
พันตำรวจเอก กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงถึงการขออนุญาตจากกลุ่มผู้ชุมนุมว่า นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม ได้ทำหนังสือขออนุญาตกับผู้กำกับการตำรวจนครบาลชนะสงครามตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. และมีการประสานงานระหว่างกันมาโดยตลอด แต่ภายหลัง คสช. ได้แจ้งความต่อสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม เพื่อดำเนินคดีแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง 6 คน ประกอบด้วย นายรังสิมันต์ โรม , นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ , นายเอกชัย หงส์กังวาน , นายปิยรัฐ จงเทพ , นางสาวณัฏฐา มหัทธนา เนื่องจากจัดชุมนุมผิดเงื่อนไข ในข้อหาขัดคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ร่วมกันมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ล่าสุดมีรายงานว่า มีการแจ้งข้อหาเดียวกันนี้เพิ่มเติมกับ นายนิกร วิทยาพรรณ
ขณะที่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มอบหมายให้พลตำรวจเอก ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดูแลการชุมนุมในภาพรวม โดยมีแนวทางไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนโดยภาพรวม ซึ่งหลังศาลยกคำร้องของแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม และยืนยันจะยังมีการเคลื่อนขบวนนั้น ตำรวจคงไม่สามารถห้ามเดินหรือไม่เดิน
แต่จะดำเนินการเพื่อไม่กระทบการใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน ทั้งนี้ มีการประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มผู้ชุมนุมทราบ หากพบความผิดซึ่งหน้า ก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมถึงดำเนินคดีภายหลังด้วย
รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บอกด้วยว่าหลังจากนั้นนางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว และนายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ได้ยื่นคำร้องคุ้มครองการชุมนุมต่อศาลปกครองเมื่อคืนนี้ จนในที่สุดเมื่อเช้าวันนี้ศาลปกครองมีผลออกมาว่าไม่รับคำร้อง พลตำรวจเอกศรีวราห์ จึงแจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบถึงเงื่อนไขที่เกิดขึ้น ซึ่งถือว่าผู้ชุมนุมได้กระทำการขัดต่อกฎหมายแล้ว โดยหลังจากนี้จะมีการดำเนินคดีตามขั้นตอนต่อไป และย้ำว่า แม้จะครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร แต่ทางตำรวจทำหน้าที่ตามกฎหมายไม่มีการเลือกปฏิบัติ
พันตำรวจเอกกฤษณะ ยืนยันว่าการนำกำลังตำรวจมากว่า 3,000 นาย แต่กลุ่มผู้ชุมนุมมีเพียงหลักร้อยคนนั้น ไม่ใช่การนำกำลังมาข่มขู่หรือรังแก แต่เป็นยุทธวิธีในการควบคุมฝูงชนในการชุมนุมเท่านั้น และการปฏิบัติเป็นไปตามหลักสากลที่ใช้กันทั่วโลก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง