ไม่พบผลการค้นหา
ศิริกัญญา ตันสกุล อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ตั้งคำถามรัฐบาลต้องกู้เงินอย่างต่อเนื่องจนหมดวาระหรือไม่

3 ม.ค.2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 5 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ปี 2567 ศิริกัญญา ตันสกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายแสดงความต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ โดยระบุว่า นายกรัฐมนตรีมักย้ำอยู่เสมอว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังวิกฤตแล้ว โดยที่ฝ่ายค้านไม่ได้พูดเอง ซึ่งสภาวะวิกฤตก็จะสะท้อนผ่านการจัดสรรงบประมาณ

อย่างไรก็ตาม ในรายงานภาวะเศรษฐกิจและการคลัง ยังไม่มีข้อบ่งชี้ที่บอกว่าเศรษฐกิจกำลังวิกฤต แต่ขณะที่หนังสืองบประมาณฉบับประชาชน จัดทำโดยสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี ชี้ให้เห็นว่าตัวเลขอัตราการขยายตัวของ GDP โต 5.4% ในปี 2567 ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ตรงกัน เนื่องจากเป็นการคำนวณอัตราการขยายตัวของ GDP ที่รวมเงินเฟ้อด้วย ซึ่งเป็นสูตรคำนวณที่ไม่มีประเทศใดทำ

ศิริกัญญา กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมารัฐบาลก่อนทำงบขาดดุลมาตลอด ทำให้ปี 2567 ต้องมีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ถือว่าอยู่ในระดับที่สูง แต่ปีต่อไปหลังจากปี 2567 กลับมีงบขาดดุลเท่าเดิมแทบทุกปี ปีละ 3.4% เป็นอย่างต่ำ สะท้อนว่ารัฐบาลต้องกู้เงินอย่างต่อเนื่องจนหมดวาระหรือไม่

เช่นเดียวกับงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท และเพิ่มกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 1 แสนล้าน ก็ไม่ปรากฏในงบประมาณ แปลว่าต้องพึ่งพา พ.ร.บ.เงินกู้ เท่านั้นหรือไม่ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากหากออก พ.ร.บ.เงินกู้ ไม่ได้ ซ้ำยังมีข้อสังเกตว่า ใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจไปกับการตัดถนนกว่า 7 พันล้านบาท

ศิริกัญญา ยังชี้ให้เห็นว่า ในทุกครั้งที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ กระทรวงกลาโหมจะตัดลบงบของตนเองลง เพื่อนำไปพยุงเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม ในวิกฤตที่นายกรัฐมนตรีอ้าง งบประมาณของกระทรวงกลาโหมกลับเพิ่มขึ้น 2% ตลอดจนมรดกตกทอดจากรัฐบาลประยุทธ์ ที่ทำให้รัฐบาลปัจจุบันเหลือพื้นที่จัดสรรได้เองเพียงไม่ถึง 1 ใน 4 ซึ่งเป็นผลพวงจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่ได้มีการปฏิรูประบบงบประมาณ

ศิริกัญญา อภิปรายต่อไปว่า รัฐบาลมีความผิดพลาดทั้งการตั้งประมาณการรายจ่าย ซึ่งเป็นข้อผิดพลาดลักษณะเดียวกับรัฐบาลที่แล้วในการตั้งงบรายจ่ายประจำไม่เพียงพอ ทำให้ต้องไปใช้เงินคงคลังแล้วจึงตั้งงบชดเชยเงินคงคลังในปีถัดๆ มา นอกจากนี้การตั้งงบประมาณรายได้ 2.787 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วพบว่ามีการลดหย่อนและลดเว้นภาษีต่างๆ ไปเป็นจำนวนมากทำให้เห็นว่ารายได้จะลดลงไปราว 1 แสนล้านบาทในปี 2567 นี้ ซึ่งยังไม่เคยได้ยินจากรัฐบาลว่าจะชดเชยอย่างไร นอกจากฝากความหวังเดียวไว้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

“สรุปแล้วร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ดิฉันไม่เห็นอะไร นอกจากเป็นบทพิสูจน์ว่า รัฐบาลนี้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเป็นมืออาชีพ นี่หรือคือรัฐบาลที่สืบทอดชื่อเสียงกันมาว่าเก่งด้านเศรษฐกิจ ขึ้นชื่อเรื่องหาเงินได้ ใช้เงินเป็น กลับผิดพลาดในการบริหารงบประมาณมากขนาดนี้” ศิริกัญญา กล่าว