ไม่พบผลการค้นหา
สุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐฯ ทั้งอดีต-ปัจจุบัน วิจารณ์แผนปราบปรามผู้ลักลอบอพยพเข้าเมืองของ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ หลังเด็กเกือบ 2,000 คนถูกกักตัวแยกจากพ่อแม่ รอการตรวจสอบ-ส่งกลับ

นโยบายปราบปรามผู้อพยพเข้าเมืองที่ไม่มีเอกสารทางกฎหมาย หรือ Zero Tolerance ของรัฐบาลสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี ย้ำว่าจำเป็นต้องบังคับใช้นโยบายดังกล่าว เพราะต้องการกำจัดอาชญากรรมที่เกี่ยวกับยาเสพติดและคดีข่มขืน ซึ่งทรัมป์ถูกวิจารณ์เช่นกันว่าบังคับใช้นโยบายเหยียดเชื้อชาติ ทั้งยังเหมารวมว่าผู้อพยพมีพฤติกรรมเชิงลบเพียงฝ่ายเดียว

การบังคับใช้นโยบายปราบปรามผู้อพยพอย่างเข้มงวดตั้งแต่เดือน เม.ย.ถึงปลายเดือน พ.ค. ทำให้เยาวชน 1,995 คน รวมถึงเด็กอ่อนที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ถูกแยกมาจากผู้ปกครอง 1,940 คนที่เป็นผู้อพยพเข้าเมืองโดยไม่มีเอกสารรับรอง

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' รวมถึงนายอันตอนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ และนายเซอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ต่างประณามการปราบปรามผู้อพยพด้วยวิธีดังกล่าวของนายทรัมป์และรัฐบาลสหรัฐฯ โดยระบุว่าเป็นการละเมิดสิทธิเยาวชน เพราะเยาวชนจะต้องได้รับการคุ้มครองดูแลให้พ้นจากสภาวะยากลำบากหรือการทำร้ายร่างกายและจิตใจ


เด็กอพยพ-ศูนย์พักพิง-สหรัฐ-Zero Tolerance-AP

อย่างไรก็ตาม เด็กที่เป็นลูกหลานผู้อพยพที่่ถูกจับกุมทั้งหมดได้รับการส่งตัวไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว พรมแดนสหรัฐฯ - เม็กซิโก ซึ่งนางลอรา บุช อดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 ภริยานายจอร์จ ดับเบิลยู บุช อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน เขียนบทความวิจารณ์นโยบายดังกล่าวลงในเว็บไซต์ 'เดอะวอชิงตันโพสต์' ซึ่งนายทรัมป์เคยกล่าวหาว่าเป็นสื่อที่เผยแพร่ 'ข่าวปลอม' โจมตีรัฐบาลของตนเอง

สตรีหมายเลข 1 ทั้งอดีตและปัจจุบัน ค้านนโยบายพรากลูกจากพ่อแม่

บทความของนางบุช อดีตสตรีหมายเลข 1 ได้วิจารณ์สภาพแวดล้อมในศูนย์พักพิงชั่วคราวที่เด็กๆ ถูกแยกจากพ่อแม่ โดยเรียกว่าเป็น 'กล่องซึ่งถูกดัดแปลงเป็นที่พัก' แม้จะมีของใช้ของเล่นเพียงพอสำหรับเด็กๆ แต่ผู้ดูแลไม่ได้รับอนุญาตให้อุ้มหรือปลอบโยนเด็กเล็กที่ร้องไห้เสียขวัญเพราะไม่ได้พบหน้าพ่อแม่

นางบุชยังระบุด้วยว่า การพรากเด็กจากพ่อแม่ที่เป็นผู้อพยพเป็นการกระทำที่ไร้หัวใจ และไร้มนุษยธรรม ขัดแย้งกับคุณค่าทางศีลธรรมที่สหรัฐฯ ยึดถือ เพราะที่ผ่านมา สหรัฐฯ เป็นฝ่ายส่งกำลังเข้าแทรกแซงประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและปฏิบัติต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไม่เป็นธรรม แต่การปฏิบัติกับลูกหลานผู้อพยพกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม

ขณะเดียวกัน โฆษกส่วนตัวของนางเมลาเนีย ทรัมป์ ภริยานายโดนัลด์ ทรัมป์ สตรีหมายเลข 1 คนปัจจุบัน ให้สัมภาษณ์สื่อสหรัฐฯ ว่า นางทรัมป์ได้แสดงความเห็นพาดพิงนโยบาย Zero Tolerance โดยระบุว่า 'เกลียดที่ต้องเห็นเด็กถูกพรากจากพ่อแม่' พร้อมทิ้งท้ายว่า สหรัฐฯ จะต้องเป็นประเทศที่ปกครองด้วยหัวใจไปพร้อมๆ กับที่เคารพกฎหมาย

เด็กอพยพ-ศูนย์พักพิง-สหรัฐ-Zero Tolerance-AP

การวิจารณ์นโยบายปราบปรามผู้อพยพของนางทรัมป์ ถือเป็นครั้งแรกที่เธอแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนอกเหนือจากประเด็นการส่งเสริมสุขภาวะของเด็กอเมริกัน Be Best ซึ่งเป็นโครงการรณรงค์ในฐานะสตรีหมายเลข 1

อย่างไรก็ตาม สมาชิกพรรคฝ่ายค้านเดโมแครตระบุว่า แม้นางทรัมป์จะไม่เห็นด้วยกับการแยกลูกจากพ่อแม่ แต่เธอก็ไม่ได้เรียกร้องให้นายทรัมป์และรัฐบาลชุดปัจจุบันยุตินโยบายปราบปรามผู้อพยพแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ผู้อพยพส่วนใหญ่ที่เดินทางข้ามพรมแดนเม็กซิโกมายังสหรัฐฯ เป็นชาวลาตินอเมริกันที่ต้องการยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มาจากประเทศเอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลาและฮอนดูรัส ซึ่งประชาชนตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ทั้งจากกลุ่มอาชญากรรมค้ายาเสพติดและเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่ทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงภาวะยากจน

ในสมัยอดีตรัฐบาลที่ผ่านมา ผู้อพยพเข้าเมืองที่ไม่มีเอกสารทางกฎหมายจะถูกส่งตัวไปยังห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อรอให้ผู้พิพากษาพิจารณาคำร้องและหลักฐานอื่นๆ ที่มี ว่าจะอนุมัติคำร้องขอสถานะผู้ลี้ภัยหรือไม่ โดยห้องกักจะเป็นอาคารที่เป็นสัดส่วนและตั้งอยู่ในเขตเมือง และไม่มีการแยกลูกหลานผู้อพยพจากผู้ปกครอง

ที่มา: ABC News/ DW/ Human Rights Watch/ Reuters/ Washington Post

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: