เราคุยกันถึงความท้าทายของพรรค ทั้งความท้าทายจากภายในและภายนอก ซึ่งดูเหมือนว่า พรรคที่เคยหัวก้าวหน้าเป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ กำลังมีภาพของความอาวุโสเข้ามาแทนที่
ด้วยพรรษาสูงทางการเมือง และผ่านความขัดแย้งอย่างยาวนาน ทั้งการถูกตัดสิทธิทางการเมือง กลายเป็นสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ที่ต้องเว้นวรรคการเมืองไป 5 ปี ผ่านวิกฤตความขัดแย้งของการเมืองแบ่งสีและการรัฐประหาร 'จาตุรนต์' ให้สัมภาษณ์โดยยังเชื่อมั่นและหวังว่า พรรคเพื่อไทยและนักการเมืองของพรรคจะยังมีโอกาสนำในการฝ่าทางตันทางการเมืองไปได้
คุณจาตุรนต์เคยกล่าวว่าทางตันสังคมไทย จะอยู่ไปนานแม้มีเลือกตั้ง
แนวโน้มจะนานกว่าการเลือกตั้งอยู่แล้ว คงต้องใช้คำว่าอาจจะอยู่กับเราไปอีกนาน หรือสามารถจะอยู่กับเราไปอีกนาน ขึ้นกับผลของการเลือกตั้ง ขึ้นกับความเข้าใจของประชาชนทั่วประเทศด้วย คือถ้าในการเลือกตั้ง เสียงสนับสนุนคนนอกเป็นนายกฯ สูง ก็รัฐบาลคนนอกก็ตั้งได้และอาจจะมีความมั่นคงอยู่กับรัฐธรรมนูญที่เอื้อให้คนนอกเป็นผู้นำรัฐบาล และก็ใช้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปตามที่ คสช. สร้างไว้ มันก็เป็นการปกครองภายใต้ระบอบที่ คสช. กำหนดไว้ แล้วก็ให้มีคนของ คสช. มาบริหารประเทศต่อไปด้วย ซึ่งนี่ก็คือทางตันของประเทศ คือเป็นระบบที่จะไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ไม่แก้ปัญหาประเทศ ประชาชนตรวจสอบได้ยาก กำหนดอะไรได้ยาก อย่างนี้ก็อาจจะอยู่ไปได้นานเพราะตามแผนของ คสช. หรือผู้มีอำนาจ เขาต้องการจะอยู่ไปอีก 10 ปี 20 ปี ก็นานแน่
แต่ว่าถ้าเสียงสนับสนุนคนนอกมีน้อย และสนับสนุนให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย เริ่มตั้งแต่ว่าให้นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง หรือสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีนโยบายที่จะสร้างประชาธิปไตยอย่างชัดเจนเข้ามาท่วมท้น อย่างนี้ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยได้เร็วขึ้น เราก็จะพ้น ออกจากทางตันนั้นได้เร็วขึ้น
พรรคเพื่อไทยก็เป็นปัจจัยที่คนมองว่า จะสามารถช่วยย่นระยะเวลาในการผ่าทางตันไปได้ แต่พรรคเพื่อไทยเองก็มีข้อท้าทายหลายอย่าง ทั้งพรรคใหม่ๆ เงื่อนปมทางกฎหมาย คำสั่ง คสช. เป็นต้น อะไรเป็นเงื่อนไขท้าทายพรรคเพื่อไทยที่สุดในเวลานี้
ผมยังคิดว่าที่สำคัญคือจะรักษาจุดแข็ง ส่งเสริมให้มีความเข้มแข็งขึ้นในเรื่องที่พรรคเพื่อไทยถนัดได้อย่างไร และลดส่วนที่เป็นจุดอ่อนได้อย่างไร
นี่ยังไม่พูดถึงการมีพรรคการเมืองใหม่ๆ พรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นนะครับ
ผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยมีจุดแข็งคือการทำนโยบาย คนเชื่อว่า ทำนโยบายได้ดีและเมื่อมีนโยบายแล้ว ประกาศแล้วก็นำไปปฏิบัติจริงๆ ได้ผลตามที่ประกาศ ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากพรรคไทยรักไทย ต้องรักษาจุดแข็งตรงนี้ไว้ แต่เวลานี้เป็นเรื่องของความเชื่อ เป็นเรื่องของต้นทุนที่มีมาเดิม แล้วก็มีคนที่เคยทำมา มีประสบการณ์มาอยู่กับพรรค แต่ระบบกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำอะไร การทำนโยบายพรรคต้องมีการพูดคุยกับฝ่ายต่างๆ ทั้งนักวิชาการ กลุ่มอาชีพต่างๆ ประชาชนอาชีพสาขาต่างๆ ตอนนี้ทำไม่ได้เลย ทำไม่ได้มา 3-4 ปี แล้วก็จะยังทำไม่ได้ไปอีกนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้ด้วย เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นจุดท้าทายมากพอสมควรว่าจะทำนโยบายที่ดี เป็นที่ยอมรับและแก้ปัญหาประเทศได้จริงๆ ในเวลาที่จำกัด ด้วยเงื่อนไขที่มีอุปสรรคมากได้อย่างไร นี่เป็นเรื่องหนึ่ง
และสภาพของโลก ของบ้านเมืองเปลี่ยนไป โจทย์ใหม่ๆ เกิดขึ้นในหลายๆ เรื่องรวมทั้งอาจจะมีพรรคการเมืองอื่นที่เสนออะไรใหม่ๆ ได้ด้วย ก็เป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยจะต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้มากๆ
อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องพรรคเพื่อไทยมีจุดแข็งจากพัฒนาการมาในช่วงสิบกว่าปีนี้ เป็นพรรคที่มีจุดยืนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยชัดเจนก็ต้องรักษาไว้ และแค่รักษาจุดยืนหรือแสดงจุดยืนอย่างเดียวอาจจะไม่พอ แสดงจุดยืนก็อาจจะต้องแสดงครับถ้าเกิดมีเรื่องที่ต้องแสดงจุดยืนแล้วไม่แสดง มีเรื่องที่ต้องทำแล้วไม่ทำ อันนั้นก็เสียละ
แต่ว่าผมคิดว่าบ้านเมืองต้องการมากกว่านั้น คือต้องการเห็นกระบวนการในการที่จะทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย จะมีแผนมีขั้นตอนอย่างไร จะเสนออะไรก่อน เสนออะไรบ้าง เสนออะไรก่อน เสนออะไรหลัง นี่เป็นเรื่องที่ต้องคิดกัน
นี่เป็นส่วนที่ต้องทำจริงจัง ยิ่งมีพรรคใหม่ๆ เกิดขึ้นก็จะยิ่งต้องให้ความสนใจทำเรื่องเหล่านี้ให้แม่นยำมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนที่เป็นจุดอ่อนสำคัญผมคิดว่าอาจจะเป็นเรื่องที่คนยังมองพรรคเพื่อไทยไม่เป็นสถาบันทางการเมือง ไม่เป็นสถาบันพรรคการเมือง ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำให้ได้ ที่สำคัญคือกระบวนการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยต้องเป็นการตัดสินใจร่วมกันของผู้ที่มาร่วมงานร่วมเป็นร่วมตายทั้งหลาย ไปจนถึงสมาชิกพรรค เพราะกฎหมายใหม่กำหนดให้สมาชิกพรรคมีบทบาท มีอำนาจมากขึ้นด้วย ฉะนั้นก็ต้องทำให้มีความเป็นประชาธิปไตย ตัดสินใจร่วมกันแล้วก็สร้างให้พรรคเพื่อไทยเป็นสถาบันการเมืองที่อยู่ไปอีกนานๆ โดยส่วนตัวผม ผมอยากเห็นพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่อยู่คู่ไปกับการเมืองไทยไปอีกนานๆ เลยนะครับ
นอกจากนั้น เรื่องยุ่งยากท้าทายมากๆ อาจจะเป็นเรื่องกฎหมายซึ่ง ทุกพรรคก็ต้องเจอคล้ายๆ กัน พรรคที่มีอยู่เดิมแล้วก็ต้องเจอปัญหาคล้ายๆ กัน จากที่มีสมาชิกมากๆ อาจจะเหลือสมาชิกนิดเดียว แล้วก็ยังยุ่งยากในการบริหารมาก การวางบทบาทระหว่างสมาชิกกับกรรมการพรรค การเลือกผู้สมัคร การเลือกกรรมการบริหารพรรค ผู้นำพรรค แคนดิเดท ผู้ที่จะไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเรื่องใหม่หมด แล้วก็จะต้องปรับตัวกันอย่างมาก ซึ่งการปรับตัวที่ว่านี้ก็อยู่บนพื้นฐานกติกาที่กำหนดมาเพื่อทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เป็นอุปสรรคต่อพรรคการเมือง ไม่ใช่ว่าทำตามไปแล้วจะดี ทำตามไปแล้วจะลดปัญหาได้บ้างเท่านั้น
สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเติบโตขึ้นมา ไม่ได้ผ่านประสบการณ์ที่อยู่ในวังวนความขัดแย้ง พรรคเพื่อไทยสามารถจะเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้หรือไม่
ถ้าคนที่ไม่เคยไปลงคะแนนเลย ถึงวันเลือกตั้งอาจจะมีสัก 5 ล้าน คนหรือช้าไปก็อาจจะ 6-7 ล้านคน แต่ถ้านับถึงผู้ที่ไปลงคะแนนเสียงตอนปี 2557 ที่เลือกแล้วเป็นโมฆะไป ก็จะมากกว่านั้นอีก เราก็กำลังพูดถึงตัวเลขประมาณ 8-9 ล้านคน ถ้าหากเลื่อนเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ ก็จะมีจำนวนคนมาก และยังมีคนที่อายุไม่มาก เคยเลือกตั้งมาแล้ว แต่ยังเป็นคนรุ่นใหม่ เกือบๆ จะกลางๆ ซึ่งก็เป็นกลุ่มคนที่จะมีความสำคัญ เพราะว่าความสนใจอาจจะแตกต่างจากเดิม ความรับรู้ก็แตกต่างจากคนในช่วงก่อนหน้านี้เพราะเขาต้องผ่านสภาพทางการเมืองที่แตกต่างจากสมัยก่อน เช่นผ่านช่วงเวลาที่บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยเสียเยอะ ผ่านช่วงที่มีแต่การประณาม การโจมตีนักการเมือง พรรคการเมือง ผ่านช่วงที่มีเหตุการณ์ความวุ่นวาย มีการทำผิดกฎหมาย เกิดความสับสนอลหม่าน ในขณะที่โลกก็เปลี่ยนไปเร็วมาก เขาเจอกับโลกที่เปลี่ยนไปเร็วมาก เศรษฐกิจแบบใหม่ ระบบอินเตอร์เน็ต ระบบคอมพิวเตอร์กำลังมีบทบาทต่อเศรษฐกิจสังคมและเขาสัมผัสกับเรื่องพวกนี้มากกว่าคนรุ่นก่อนๆ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าพรรคการเมืองทุกพรรคต้องให้ความสนใจ ให้ความสำคัญ
ในส่วนของเพื่อไทย ที่ผมพูดไปแล้วนะครับว่าต้องให้ความสำคัญเรื่องประชาธิปไตย เรื่องนโยบาย เรื่องกระบวนการตัดสินใจภายในพรรค เรื่องการทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบัน และเราก็คุยกันอยู่ว่าทำอย่างไรเราจะสนับสนุนคนรุ่นใหม่ หรือตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ หรือผู้ที่จะมาเลือกตั้ง หรือไม่เคยเลือกตั้งมาก่อน ก็คือคนใหม่ๆ ที่จะมาเลือกตั้ง ซึ่งก็มีหลายเรื่องด้วยกัน
เราอาจจะต้องเริ่มจากการส่งเสริมให้คนรุ่นกลางๆ หรือคนรุ่นใหม่ๆ ที่อยู่ในพรรคอยู่แล้วได้มีบทบาทสำคัญๆ มากขึ้นในกระบวนการตัดสินใจ ในกระบวนการทำงาน ซึ่งตรงนี้เริ่มได้เลยเพราะมีคนอยู่แล้ว แต่ว่า สำคัญคือไม่ใช่ไปติดยึดอยู่กับว่าคนรุ่นเก่าเท่านั้น คนมีประสบการณ์มากๆ เท่านั้นถึงจะนำพรรคได้ บริหารพรรคได้ ซึ่งถ้าคิดอย่างนี้ ถ้าเปรียบเป็นฟุตบอลทีมชาติบางประเทศ ที่เก่งมากๆ เป็นแชมป์โลกเลย พอเล่นไปสักระยะหนึ่งเขาพบว่าเขาสู้คู่แข่งไม่ได้เพราะว่าหันมาดูจริงๆ ปรากฏว่าเป็นนักฟุตบอลรุ่นที่เคยเป็นแชมป์สองสมัยที่แล้วเต็มไปหมด นั่��ก็กลายเป็นต้องมาทำทีมกับแบบใหม่ พรรคการเมืองก็ต้องคิดคล้ายๆ กัน คือต้องให้คนรุ่นกลางๆ รุ่นใหม่ๆ ได้มาร่วมเสียเลยแล้วอย่าไปติดยึดว่า เอ๊ะ เขาประสบการณ์น้อยกว่าเรา เขาจะบริหารได้เรอะ เขาจะนำได้เรอะ เพราะมันคือความเป็นจริงว่าคนเหล่านี้เป็นคนของพรรคนี้ เป็นกำลังสำคัญอยู่ในพรรคนี้ แล้วจะไม่ส่งเสริม ทำไมจะไม่ส่งเสริมเขา
นอกจากนั้นก็คือต้องขยายกว้างออกไป คือต้องเปิดรับคนใหม่ๆ เข้ามาร่วมทำงาน แล้วก็สำรวจศึกษาเรียนรู้ความต้องการของคนรุ่นใหม่ๆ ที่พรรคการเมืองจะต้องทั้งชวนเขามาร่วมและตอบสนองความต้องการของเขาในฐานะที่เขาเป็นผู้ออกเสียงลงคะแนน ทั้งหมดนี้มันต้องมีกระบวนการมารองรับ ซึ่งมันจะต้องเป็นกระบวนการเดียวกับการที่จะต้องทำพรรคให้เป็นประชาธิปไตย ทำพรรคให้เป็นพรรคที่มีจุดยืน มีแผนในการทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย มีนโยบายที่ดี เรื่องเหล่านี้ มันต้องทำเสียให้เป็นอันเดียวกัน
แล้วก็อาจจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้น ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับกลุ่มคนที่เราไม่เคยทำงานด้วยมาก่อน ไม่เคยลงคะแนนให้เรามาก่อน หรือไม่เคยลงคะแนนให้ใครเลยมาก่อน ตรงนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง ต้องให้ความสนใจ
แล้วพรรคเพื่อไทยตอนนี้มีคนรุ่นกลางๆ และคนรุ่นใหม่ๆ ที่พร้อมทำงานอยู่จริงๆ ใช่ไหม
คำถามนี้เป็นคำถามที่ถูกเลย และคงต้องตอบอย่างจริงจังด้วย ว่ามีจริงไหม ผมคิดว่ามี และเราเทียบกับคนใหม่ๆ ที่จะเข้ามาอีก ที่เด่นมากๆ คนนั้นอาจจะใช่เลย แต่ต้องกล้าทำด้วย ต้องเปิดโอกาสให้มีการตัดสินใจที่เชื่อมโยงกับเขาด้วย