สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดเผยแถลงการณ์ระบุว่า ทางการเตรียมนำเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง 80,000 นายและเหล่าอาสาของแต่ละหมู่บ้าน 20,000 คนไปช่วยดูแลความปลอดภัยตามหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ ในการเลือกตั้งที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้
สำนักข่าว เรดิโอ ฟรี เอเชีย หรือ RFA รายงานว่าตัวเลขของเจ้าหน้าที่ที่มาคุมหน่วยเลือกตั้งในครั้งนี้สูงกว่าการเลือกตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน 2017 อย่างมาก โดยการเลือกตั้งครั้งนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและสารวัตรทหารรวมกันประมาณ 50,000 นาย และทหารอีกมากกว่า 4,000 นายมาคอยดูแลความปลอดภัย
ระหว่างการอบรมเรื่องกฎหมาย ข้อบังคับและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง รวมถึงข้อปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่ปฏิบัติหน้าที่ใน วันนั้นจะต้องเข้าใจหน้าที่ของตัวเองอย่างชัดเจน เพื่อให้บรรยากาศวันเลือกตั้งเป็นไปอย่างราบรื่น เสรี ยุติธรรม และไม่คุกคามผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
คณะกรรมการเพื่อการเลือกตั้งอย่างเสรีและยุติธรรม หรือ Comfrel ในกัมพูชาได้ตั้งคำถามว่า เหล่าอาสาของแต่ละหมู่บ้านจะได้รับการฝึกอบรมอย่างเพียงพอหรือไม่ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะปลอดภัยและไม่ถูกละเมิดสิทธิ เพราะแม้เหล่าอาสาจะอยู่ภายใต้กรอบการทำงานของกระทรวงมหาดไทย แต่พวกเขาก็เป็นเพียงพลเรือนที่ได้รับเลือกมาจากทางการ เพื่อให้ช่วยอยู่แลเรื่องความปลอดภัย และอาสาเหล่านี้ก็ไม่ได้รับค่าจ้างเหมือนกับข้าราชการ
สำนักข่าว Asian Correspondent รายงานว่า นักวิเคราะห์ด้านการเมืองของกัมพูชามองว่าการเพิ่มกำลังเพื่อดูแลความ ปลอดภัยระหว่างการเลือกตั้งอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่านายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชากลัวว่าตนเองจะแพ้การเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม พรรครัฐบาลก็ยังมีแนวโน้มว่าจะชนะการเลือกตั้งอยู่ดี เพราะศาลได้ตัดสินยุบพรรคพรรคกู้ชาติกัมพูชา หรือ CNRP พรรคฝ่ายค้านหลักของกัมพูชาไปแล้ว แม้พรรค CNRP จะเรียกร้องให้ประชาชนบอยคอตการเลือกตั้งครั้งนี้แต่ก็ไม่น่ามีผลมากนัก
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลกัมพูชาถูกวิจารณ์อย่างหนักกรณีที่มีการดำเนินคดีกับนายเกิม เสิกขา ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน โดยสั่งจำคุกเขาในข้อหากบฏ สมคบคิดกับสหรัฐฯ บ่อนทำลายรัฐบาล และเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ศาลกัมพูชายังสั่งยุบพรรค CNRP สมาชิกพรรคถูกแบนจากการเมือง 5 ปี
นอกจากนี้ รัฐบาลกัมพูชายังไล่ปราบปรามเอ็นจีโอและสำนักข่าวต่างๆ ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลกัมพูชา รวมถึงมีการออกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนได้ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลกัมพูชาอาจนำข้อหานี้มาใช้ปราบปรามผู้เห็นต่าง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: