ไม่พบผลการค้นหา
กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ของกัมพูชากำลังจะผ่านรัฐสภาในสัปดาห์นี้ โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นกฎหมายที่คลุมเครือและมีจุดประสงค์เพื่อกำจัดศัตรูของรัฐบาลมากกว่า

รัฐบาลกัมพูชาเพิ่งร่างกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ออกมาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และคาดว่าจะผ่านรัฐสภาได้ภายในสัปดาห์นี้ เนื่องจากพรรครัฐบาลครองเสียงข้างมากในรัฐสภา โดยรัฐบาลอ้างว่า กฎหมายนี้มีไว้รับมือกับคนที่โจมตีราชวงศ์กัมพูชาที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้กระทำผิดอาจถูกปรับเกือบ 500,000 บาท หรือจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี


กฎหมายนี้มีไว้ขู่ประชาชนให้กลัวและแสดงความเห็นอย่างมีความรับผิดชอบ

ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนกฎหมายนี้มองว่า กฎหมายนี้จะช่วยรักษาพระเกียรติของราชวงศ์กัมพูชา แต่คนที่ต่อต้านกฎหมายนี้มองว่า นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาพยายามใช้กฎหมายนี้ปราบปรามคนเห็นต่าง และลดทอนเสรีภาพในการแสดงออก โดยรัฐมนตรีหลายคนเป็นคนกล่าวออกมาเองว่า กฎหมายนี้มีไว้ขู่ประชาชนให้กลัวและแสดงความเห็นอย่างมีความรับผิดชอบ

นักวิเคราะห์มองว่า กฎหมายนี้ค่อนข้างคลุมเครือ เพราะระบุว่า ห้ามหมิ่นราชวงศ์กัมพูชาทั้งหมด ซึ่งไม่มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ใครที่ถูกนับเป็นราชวงศ์กัมพูชาบ้าง และคนที่ได้รับพระราชทานยศจะนับเป็นราชวงศ์หรือไม่ เช่น คนที่มียศขึ้นต้นด้วย 'สมเด็จฯ' อย่างนายฮุนเซน และรัฐมนตรีอีกหลายคน หรือ ยศ 'ออกญา' ที่มีอยู่มากกว่า 700 คน และในจำนวนนี้ก็เป็นคนชนชั้นนำที่บริจาคเงินมากกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไปให้รับรัฐ หรือปีล่าสุดขึ้นเป็น 16 ล้านบาทแล้ว

ความคลุมเครือนี้ทำให้กฎหมายนี้ของกัมพูชาแตกต่างจากของไทย เนื่องจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ห้ามหมิ่นพระมหากษัตริย์และพระประยูรญาติใกล้ชิดเท่านั้น

พระมหากษัตริย์คือชาติ ชาติคือพระมหากษัตริย์?

นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังกังวลเกี่ยวกับการตีความกฎหมายนี้ด้วย เนื่องจากรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมกล่าวไว้ในปี 2016 จากกรณีที่พระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนีถูกตัดต่อกับภาพโป๊เกย์ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นตัวแทนของประเทศและคนที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็เท่า กับดูหมิ่นทั้งประเทศ ซึ่งอาจทำให้มีการตีความกฎหมายนี้ว่า ผู้ที่วิจารณ์ประเทศของตัวเองเท่ากับการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ได้ด้วย

ด้านนายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำภูมิภาคเอเชียแสดงความเห็นว่า ผลที่ได้จากการผ่านและบังคับใช้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ในกัมพูชามีเพียง อย่างเดียวเท่านั้นก็คือ การกดขี่เสรีภาพในการแสดงออก

ด้านนายคิงสลีย์ แอบบอต ที่ปรึกษาอาวุโสด้านกฎหมายของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือ ICJ แสดงความกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ของกัมพูชา โดยเฉพาะเรื่องที่กัมพูชาไม่มีผู้พิพากษาที่เป็นอิสระไม่มีอคติที่จะสามารถตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลได้ การรับรองกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์จึงดูเป็นความพยายามของรัฐบาลในการติดอาวุธทางกฎหมาย เพื่อปราบคนที่เป็นศัตรูกับรัฐบาล

ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลของนายฮุนเซนใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปราบปรามผู้เห็นต่าง พรรคฝ่ายค้าน นักสิทธิและสื่อมวลชนจำนวนมาก ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นการปูทางไปสู่การเลือกตั้งที่ไร้คู่แข่งในช่วงกลางปีนี้