ไม่พบผลการค้นหา
อย. เผยผลพิสูจน์ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วน 'ลีน เอฟเอส-ทรี' และ 'ลีน บล้อค เบิร์น เบรก บิวท์' ลักลอบใส่ยาบิซาโคดิลและไซบูทรามีน เข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ อย่าซื้อมาบริโภค อาจได้รับผลข้างเคียงถึงขั้นเสียชีวิตได้

นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยความความคืบหน้าการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Lyn (ลีน) โดยระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ สสจ.ชลบุรีและตำรวจ สภ.เมืองชลบุรี ได้เข้าตรวจสอบพร้อมเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสถานที่จำหน่ายและแบ่งบรรจุอาหาร ณ บ้านเลขที่ 109/8-9 หมู่ที่ 3 ถนนพระยาสัจจา ต.บ้านสวน อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา  

ผลิตภัณฑ์ที่ส่งตรวจวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี ระบุฉลากผลิตภัณฑ์ 'ลีน เอฟเอส-ทรี' (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) Lyn FS-Three (Dietary supplement product by Pim) เลขสารบบอาหาร 13-1-05459-5-0017 ผลิตโดย Food Science Supply Service Co.Ltd. 99/29 หมู่ 2 ตำบลสามโคก อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี 12160 จัดจำหน่ายโดย Lyn by Pim วันที่ผลิต 10/12/2017 วันหมดอายุ 10/12/2019 ลักษณะแคปซูลสีเขียวในแผงอลูมิเนียมพลาสติก แผงละ 10 แคปซูล ห่อด้วยซองอลูมิเนียมปิดผนึกบรรจุกล่องกระดาษ

ผลการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพบยาแผนปัจจุบัน บิซาโคดิล (Bisacodyl) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาระบาย และได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ 'ลีน บล้อค เบิร์น เบรก บิวท์' Lyn Block Burn Break Build (Dietary supplement product) by Pim ฉลากระบุ เลขสารบบอาหาร 13-1-05459-5-0006 ผลิตโดย บริษัท ฟู้ด ซายน์ ซัพพลาย เซอร์วิส จำกัด 99/29 หมู่ 2 ต. สามโคก อ. สามโคก จ. ปทุมธานี จัดจำหน่ายโดย บริษัท เอกอัครินทร์ จำกัด 109/8 หมู่ 3 ถนนพระยาสัจจา ต.บ้านสวน อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี Lot.1801 MFG 05-01-18 EXP. 05-01-20 ลักษณะแคปซูลสีขาวในแผงอลูมิเนียมพลาสติก แผงละ 10 แคปซูล ห่อด้วยซองอลูมิเนียมปิดผนึกบรรจุกล่องกระดาษ ผลการตรวจวิเคราะห์พบ ไซบูทรามีน (Sibutramine) ซึ่งออกฤทธิ์ต่อการทำงานของสมองทำให้อยากอาหารลดลงและอิ่มเร็วขึ้น

ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 25 เม.ย. ทาง อย. ได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเรื่อง ประกาศผลการตรวจพิสูจน์อาหาร เตือนประชาชนให้ระมัดระวังในการซื้อและบริโภคอาหารดังกล่าวแล้ว ขณะที่ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 รายการนี้เข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ และเป็นอาหารที่น่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรืออนามัยของประชาชน ผู้ใดผลิต จำหน่ายมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

ผอมแห้ง

นอกจากนี้ อย. ยังได้ร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ. เข้าตรวจสอบสถานที่ผลิตอาหาร บริษัท ฟู้ด ซายน์ ซัพพลาย เซอร์วิส จำกัด จ.ปทุมธานี โดยสุ่มเก็บตัวอย่างวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ทั้งสองรายการส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพ และเข้าตรวจสอบการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ 'Lyn ลีน' ณ บ้านเลขที่ 109/8 หมู่ 3 ถนนพระยาสัจจา ต.บ้านสวน อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี ซ้ำซึ่งพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่จึงได้ยึดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

เบาะแสในการสอบสวนเกิดจากเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2561 พบผู้ชายอายุ 47 ปี เสียชีวิตที่ จ.ปทุมธานี โดยพี่สาวผู้ตายให้การว่าผู้ตายไม่มีโรคประจำตัว แต่ที่ผ่านมาได้กินยาลดความอ้วนมา 2 เดือน เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ พบผลิตภัณฑ์ Lyn DTOX fS3 (ลีนกล่องสีดำ) ฉลากระบุเลขสารบบอาหาร 13-1-05459-5-0017 Lot No.1801 วันที่ผลิต (Mfg.) 05-01-18 วันหมดอายุ (Exp.) 05-04-20 และผลิตภัณฑ์ Lyn BLOCK BURN BREAK BUILD (ลีนกล่องสีขาว) ระบุเลขสารบบอาหาร 13-1-05459-5-0006 Lot 1802 วันที่ผลิต (Mfg.) 10-01-2561 วันหมดอายุ (Exp.) 10-01-2563 จึงได้เก็บผลิตภัณฑ์ลีนทั้งสองรายการที่พบภายในห้องผู้ตายไปตรวจสอบว่ามีสารอันตรายหรือไม่

สำหรับสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงอยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์ของเจ้าหน้าที่ และในวันเดียวกันนี้เจ้าหน้าที่จาก อย. สสจ.ปทุมธานี ทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 4 และเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.สามโคก จ.ปทุมธานี ได้สนธิกำลังร่วมกันตรวจสอบ ณ สถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อหาข้อมูลและพยานหลักฐานเพิ่มเติมแล้ว 

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า จากการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้าง ลดความอ้วนมักลักลอบใส่สารไซบูทรามีนซึ่งเป็นอันตรายและมีผลข้างเคียงร้ายแรง


"ขอย้ำว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่สามารถลดความอ้วนได้ หากผู้บริโภคต้องการลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและควบคุมอาหาร ไม่ทานอาหารพร่ำเพรื่อ ควรเลือกรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรส หวาน มัน เค็ม รวมทั้งออกกำลังกายอย่างเหมาะสม"


หากผู้บริโภคต้องการใช้ยาลดความอ้วนจะต้องใช้ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น ไม่ควรหาซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจส่งผลกระทบกับสุขภาพและชีวิต การใช้ยาลดความอ้วนไม่สามารถทำให้หายจากโรคอ้วนได้ เมื่อหยุดยาไประยะหนึ่งแล้ว จะทำให้น้ำหนักกลับมาเพิ่มมากยิ่งขึ้น หรือที่เรียกว่า YO – YO Effect หากผู้บริโภคพบเห็นเบาะแสการโฆษณา การผลิต/จำหน่ายยาลดความอ้วนผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ รองเรียนผาน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวดต่อไป

สธ.เตือนเจ้าหน้าที่ระมัดระวังรีวิวสินค้า 

ขณะที่ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ เครื่องสำอาง ทางเว็บไซต์โดยใช้บุคคลที่มีชื่อเสียง บุคคลที่น่าเชื่อถือ หรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งตามกฎระเบียบข้าราชการพลเรือนเจ้าหน้าที่ไม่สามารถโฆษณาหรือเป็นแบบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือการบริการ โดยเฉพาะการใส่เครื่องแบบหรือชุดที่แสดงให้เห็นว่าเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข จึงขอให้ระมัดระวังการให้ข้อมูลหรือรีวิวสินค้า ในรูปแบบโฆษณาแฝงทางเว็บไซต์ออนไลน์ หรือออฟไลน์

ซึ่งการใช้ตำแหน่งหน้าที่โฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอาจผิดวินัยข้าราชการพลเรือน กรณีอาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนหาประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบตามมาตรา 83(3) และอาจเป็นความผิดทางวินัย กรณีข้าราชการกระทำการหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการหาผลประโยชน์ซึ่งอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน ทำให้ประชาชนไม่ศรัทธาและไม่ให้ความร่วมมือกับทางราชการตามมาตรา 83(5) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 โดยจะต้องให้กลุ่มเสริมสร้างวินัยและระบบคุณธรรมพิจารณาเป็นกรณีไป

ขอเตือนประชาชนให้เลือกซื้อสินค้าจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และตรวจสอบความน่าเชื่อถือจากสายด่วน อย. 1556,  Oryor Smart Application ,Line : FDAthaiหรือเว็บไซต์ fda.moph.go.th  สำหรับบริการสุขภาพและคลินิกทุกประเภทให้ตรวจสอบที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพที่ 02-193-7000นายแพทย์โอภาส กล่าว

หมายเหตุ : ภาพสำหรับประกอบรายงานข่าวเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: