ไม่พบผลการค้นหา
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควบคุมน้ำหนักและบำรุงที่จำหน่ายในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 3 และที่ 4 พบมีการปนปลอมยาลดน้ำหนัก ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาระบาย และยาไวอากร้า ซึ่งผู้บริโภคอาจได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตจากยาที่มีการปนปลอมค่อนข้างสูง

นพ. สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ ได้ตรวจเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควบคุมน้ำหนักและบำรุงกำลังที่จำหน่ายในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 3 (จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร ชัยนาท อุทัยธานี) และเขตสุขภาพที่ 4 (จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี นครนายก ลพบุรี และ สระบุรี) จำนวนทั้งสิ้น 72 ตัวอย่าง พบการปนปลอมของยาถึง 36 ตัวอย่าง คิดเป็น 50 เปอร์เซนต์ โดยพบยาในกลุ่มลดน้ำหนัก ได้แก่ ไซบูทรามีน (Sibutramine) จำนวน 13 ตัวอย่าง ซึ่งยานี้ไม่มีขึ้นทะเบียนในประเทศไทย ออกฤทธิ์กับประสาทส่วนกลาง ทำให้รู้สึกไม่อยากอาหารหากรับประทานมากๆ ติดต่อกันนานๆ อาจจะส่งผลให้ประสาทหลอน และพบยาฟลูออกซีทีน (Fluoxetine) พบจำนวน 4 ตัวอย่าง เป็นยารักษาโรคซึมเศร้าและอาการในกลุ่มโรควิตกกังวลซึ่งมีผลข้างเคียงในการช่วยทำให้ไม่อยากอาหารนอกจากนี้อาจทำให้เกิดอาการผื่นคัน มีไข้ หนาวสั่น ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ เหงื่อออก สับสน มีอาการชักท้องเสีย วิงเวียน หายใจลำบาก และพบยาระบายบิสซาโคดิล (Bisacodyl) อีกจำนวน 9 ตัวอย่างเป็นยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้ผนังลำไส้ใหญ่บีบตัว ทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวจนเกิดการขับถ่าย ใช้บรรเทาอาการท้องผูกเท่านั้นไม่มีผลต่อการลดความอ้วน

นอกจากนี้ยังพบยาในกลุ่มเสริมสมรรถภาพทางเพศ คือ ซิลเดนาฟิล (Sildenafil) รู้จักกันดีในชื่อยา ไวอากร้า (Viagra) อาจทำให้คลื่นไส้วิงเวียน ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหัวใจอาจหัวใจวายเสียชีวิตได้จำนวน 10 ตัวอย่างโดยผลิตภัณฑ์ที่ตรวจพบทั้งหมดอยู่ในรูปแบบแคปซูลและผง ทั้งหมดไม่พบการขึ้นทะเบียนตำรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จากข้อมูลข้างต้นจะพบว่าผู้บริโภคที่นิยมซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควบคุมน้ำหนักมาใช้ในการลดน้ำหนักมีโอกาสที่จะได้รับอันตรายจากยาที่มีการปนปลอมค่อนข้างสูง

 "ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีการปนปลอมยาแผนปัจจุบันจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์และเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นหากผู้บริโภคสนใจจะใช้อาหารเสริมดังกล่าว จำเป็นต้องมีความรู้และใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อ เลือกผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีคำรับรองจาก อย. และไม่หลงเชื่อคำโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ทั้งนี้หากมีอาการผิดปกติให้หยุดรับประทานผลิตภัณฑ์เหล่านี้รีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป" นพ.สุขุม กล่าว

ภาพประกอบ : unsplash