ไม่พบผลการค้นหา
ปัญญาประดิษฐ์ยังคงเป็นรองมนุษย์ด้านการอภิปราย หลังพ่ายแพ้แชมป์โลกโต้วาที เนื่องจากเสียงราบเรียบ ไม่ค่อยดึงดูดความสนใจของผู้ฟัง

หลังจากมนุษยชาติพ่ายแพ้ให้กับปัญญาประดิษฐ์ในการแข่งขันหมากล้อม และ DOTA 2 จนกลายเป็นข่าวโด่งดัง ดูเหมือนอัตราต่อรองการแข่งขันจะเอนเอียงไปหาหุ่นยนต์ที่มีระดับการเรียนรู้ และความเก่งกาจก้าวล้ำมวลมนุษย์ไปเรียบร้อยแล้ว ทว่าเมื่อวันจันทร์ (11 กุมภาพันธ์ 2562) ที่ผ่านมา มนุษย์เดินดินกลับสามารถตีตื้นขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อปัญญาประดิษฐ์จาก IBM พ่ายแพ้แชมป์โต้วาทีระดับโลก

ในการอภิปรายบนเวทีสาธารณะที่มีผู้เข้าร่วมนับร้อยคน มิส ดีเบตเตอร์ (Miss Debater) ปัญญาประดิษฐ์ตัวแทนจากโปรเจกต์ดีเบตเตอร์ของ IBM ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2011 ได้ทำการถกเถียงกับ ฮาริช นาทาราจาน (Harish Natarajan) แชมป์เปี้ยนการโต้วาทีระดับโลก ภายใต้หัวข้อ ‘งบอุดหนุนการศึกษาระดับอนุบาล’ 

เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายต่างไม่ทราบหัวข้อการอภิปรายล่วงหน้า และมีเวลาเตรียมตัว 15 นาทีก่อนการดีเบตจะเริ่มขึ้น ซึ่งแชมป์โต้วาทีได้ทำการขีดเขียนความคิดจำนวนมากลงบนแผ่นกระดาษ เพื่อเตรียมความพร้อม ด้านปัญญาประดิษฐ์ก็มีสัญลักษณ์ ‘กำลังใช้ความคิด’ เป็นวงกลมสีน้ำเงินสามวงหมุนไปมาบนหน้าจอของมิส ดีเบตเตอร์ ซึ่งมีรูปลักษณ์เป็นกล่องสี่เหลี่ยมทรงสูงสีดำ 

ภายในปัญญาประดิษฐ์จาก IBM กระบวนการทำงานที่ไม่สามารถมองเห็นได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มิส ดีเบตเตอร์เรียนรู้เอกสารหลายร้อยล้านฉบับจากหนังสือพิมพ์ หรือวารสารวิทยาศาสตร์ที่เธอสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งตัวหนังสือทั้งหมดที่เธออ่านภายใน 15 นาทีมีอยู่ด้วยกันถึง 10 ล้านประโยค

หลังจากเรียนรู้ข้อมูลทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว มิส ดีเบตเตอร์ บอกว่า การอุดหนุนการศึกษาขั้นอนุบาลคือ ‘สิ่งจำเป็น’ โดยให้เหตุผลว่าการอุดหนุนครั้งนี้จะเป็นตัวช่วยชั้นดีสำหรับเด็กด้อยโอกาส และสามารถทำลายวงจรแห่งความยากจนลงได้ อีกทั้งการให้โอกาสกับผู้ที่ขาดแคลนควรเป็นภาระหน้าที่ทางศีลธรรมสำหรับมนุษย์ 

ขณะที่นาธาราจานตอบโต้ด้วยการบอกว่า การอุดหนุดการศึกษาระดับอนุบาลเปรียบเสมือนแรงจูงใจทางการเมือง ในการมอบงบประมาณแก่ชนชั้นกลาง และความเท่าเทียมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อประโยชน์ทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ด้อยโอกาส 

แน่นอนว่า หลังการกล่าวบทสรุปของแต่ละฝั่งจบลง ชัยชนะตกเป็นของนาทาราจานที่ผลงานทำได้ดีกว่าจากสายตาของผู้ชม 

1.jpg
  • ฮาริช นาทาราจาน แชมป์โต้วาทีระดับโลกที่เพิ่งเอาชนะปัญญาประดิษฐ์สำเร็จ

ปัญญาประดิษฐ์เปรียบเสมือนเด็กที่สู้กับแชมป์โลกในการอภิปราย 

ทั้งที่ปัญญาประดิษฐ์กำลังพ่ายแพ้ แต่ใบหน้านักวิจัยของ IBM อย่าง โนม สโลนิม (Noam Slonim) ที่นั่งเชียร์ติดขอบเวทีกลับเต็มไปด้วยรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ เขาให้เหตุผลภายหลังว่า การได้มาอยู่ตรงนี้เหมือนกับเชียร์ลูกของคุณที่กำลังแข่งขันกับนักเปียโนระดับโลก พร้อมสมทบว่าการโต้วาทีไม่เหมือนกับการเล่นหมากรุก หรือตอบปัญหาเชาว์ สิ่งนี้ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจ และทำให้ผู้ฟังยอมรับมุมมองที่กล่าวออกมา ซึ่งปัจจุบันความสามารถดังกล่าวอยู่ในดินแดนของมนุษย์ 

มิส ดีเบตเตอร์ ใช้งานวิจัยและคำพูดจากนักการเมืองสนับสนุนข้อโต้แย้งของเธอ แต่ข้อได้เปรียบที่เหนือกว่างานวิจัยชิ้นใดจากฝั่งมนุษย์คือค วามสามารถในการสื่อสารด้วยอารมณ์ และความรู้สึก ซึ่งประกอบด้วยจังหวะ โทนเสียง รวมถึงการหยุด และตั้งคำถามกลับไปยังผู้ฟัง ซึ่งปัญญาประดิษฐ์พ่ายแพ้ต่อนาธาราจานสิ้นเชิงจากน้ำเสียงที่ราบเรียบเป็นโทนเดียวกันตลอดการอภิปราย

ย้อนกลับไปหนึ่งสัปดาห์ก่อนการโต้วาทีจะเริ่มขึ้น เจ้าของตำแหน่งแชมป์โลกก็เห็นความได้เปรียบของตนเองมาแต่ไกล นาธาราจานบอกว่า การคิดแบบเป็นตรรกะเป็นสิ่งที่ง่ายสำหรับมนุษย์มากกว่าเครื่องจักร และมีเหตุผลที่น่าเชื่อถือมากกว่าเมื่อผู้ฟังทั้งหมดเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน


ความฝันของ อลัน ทูริง กำลังจะเป็นจริง 

อย่างไรก็ตาม ผู้สันทัดกรณีและนักวิชาการหลายคนเห็นว่า มิส ดีเบตเตอร์ หรือโครงการดั้งเดิมอย่างโปรเจกต์ดีเบตเตอร์ คือสิ่งที่เข้าใกล้กับความฝันของ อลัน ทูริง (Alan Turing) นักคณิตศาสตร์ชื่อดังชาวอังกฤษมากขึ้น ในปี 1950 บิดาผู้ให้ให้กำเนิดคอมพิวเตอร์ได้ตั้งคำถามขึ้นมาว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่เครื่องจักรจะมีความคิดเป็นของตัวเอง พร้อมกับทำนายว่าในอนาคตเราจะสามารถคุยกับคอมพิวเตอร์ และไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรในกระบวนการนี้ได้อีกต่อไป 

ด้านสโลนิมบอกว่า ทีมวิจัยกำลังมองหาความเป็นไปได้ที่ปัญญาประดิษฐ์จะช่วยขยายขอบเขตความคิดความสามารถของมนุษย์ให้มากขึ้น นักวิจัยจาก IBM หวังว่า วันหนึ่งโปรเจกต์ดีเบตเตอร์จะสามารถช่วยเหลือทนายความในการอ่านบทสรุปคดีหลายพันหน้า หรือช่วยให้เด็กๆ พัฒนาความคิดเชิงวิพากษ์ได้ดีขึ้น 

อ้างอิง:

On Being
198Article
0Video
0Blog