ไม่พบผลการค้นหา
เรื่องร้อนฉ่าในแวดวงกระบวนการยุติธรรมไทย หันไปทางไหนก็เจอแต่ปมร้อนให้ชี้แจงไม่เว้นวัน แต่เวลานี้ดูเหมือนคดีไหนจะไม่ดังเท่า เครือข่าย 'ทุนมินลัต' นักธุรกิจผู้ใกล้ชิด 'มินอ่องหล่ายน์' ผู้นำเผด็จการเมียนมา ฐานความผิดฟอกเงินและค้ายาเสพติด ซึ่งปัจจุบันทุนมินลัตและพวกถูกจับกุมในประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายน 2565 และอยู่ระหว่างการฝากขัง

1. คดีนี้ดูเหมือนคนที่เปิดคนแรกคือ 'หมาแก่' ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ นักข่าวชื่อดังที่เปิดโปงความเชื่อมโยงบางๆ ระหว่างทุนมินลัตกับ ส.ว.คนหนึ่งผ่านธุรกิจ/ธุรกรรมแถวชายแดนไทย-เมียนมา จากนั้นจึงถูกขยี้หนัก จากการเปิดโปงของ 'รังสิมันต์ โรม' ส.ส.ก้าวไกล ในผังที่โยงใยหลายระดับนั้น ประเด็นหนึ่งที่รังสิมันต์กล่าวถึง คือ การถอนการอนุมัติหมายจับ 'ส.ว.ทรงเอ' ซึ่งโรมระบุว่าคือ อุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภาในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ต่อมาทั้งดนัย, รังสิมันต์ รวมถึงอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ถูกอุปกิตฟ้องหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เรียกค่าเสียหาย 50 ล้าน 100 ล้าน และ 50 ล้านตามลำดับ

2.จากปมเล็กๆ นี้ถูกขยายให้เด่นชัดไม่กี่วันที่ผ่านมา ผ่าน 'โลกโซเชียล' ที่เผยแพร่จดหมายชี้แจงของ พ.ต.ท.มานะพงศ์ วงศ์พิวัฒน์ สารวัตรสืบสวน สน.พญาไท ตำรวจรายนี้เป็นอดีตตำรวจชุดรับผิดชอบคดียาเสพติดที่ขยายผลไปยัง 'เครือข่ายทุนมินลัต' และ ส.ว.คนดังกล่าว โดยจดหมายลงวันที่ 5 มี.ค.2566 เป็นการชี้แจงต่อหนึ่งในกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เล่าข้อเท็จจริงเรื่องการอนุมัติและถอนหมายจับในวันเดียวกัน

3.จดหมายชี้แจงระบุชัดว่ามีการแทรกแซงการออกหมายจับ และขอให้ตัดหลักฐานที่เชื่อมโยงไปยัง ส.ว.คนดัง โดยนายตำรวจระดับสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ตำรวจผู้รับผิดชอบคดียังคงยืนยันไปตามหลักฐานที่มีอยู่ 2 ลัง

4.จดหมายชี้แจงระบุว่า ผู้อนุมัติหมายจับคือ ผู้พิพากษาเวรที่ศาลอาญา แต่ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา มีการเรียกให้กับไปพบอธิบดีและรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา โดยผู้มีบทบาทหลักที่ต้องการให้ถอนหมายจับคือรองอธิบดีคนหนึ่ง และท้ายที่สุดอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเป็นผู้ตัดสินใจถอนหมายจับ โดยให้ผู้พิพากษาเวรที่อนุมัติหมายจับเป็นผู้เขียนข้อความเพิกถอนหมายจับ แล้วระบุให้ตำรวจออกเป็นหมายเรียกมาสอบปากคำแทน ภายใน 15 วัน แต่จนปัจจุบันยังไม่เคยมีการออกหมายเรียกแต่อย่างใด

5.ประเด็นที่น่าใจตามเอกสารมีหลายเรื่อง เช่น 1.รองอธิบดีอ้างว่า ผู้พิพากษาเวรที่จะอนุมัติหมายจับ-หมายค้น 'บุคคลสำคัญ' จะต้องปรึกษาผู้บริหารก่อน ตามระเบียบศาล ไม่แน่ใจว่าธรรมเนียบปฏิบัตินี้เป็นมาอย่างไร และด้วยเหตุผลประการใด 2.การเพิกถอนหมายจับระบุเหตุผลใด เรื่องนี้ยังไม่แจ้งชัดเนื่องจาก 'มือปล่อยเอกสารในโซเชียล' ไม่ได้ปล่อย "สำเนารายงานกระบวนพิจารณา" ด้วย

6.ต้องกล่าวด้วยว่า หลังจากเกิดการถอนหมายจับส.ส.คนดัง ไม่กี่เดือนถัดมา กุมภาพันธ์ 2566 มีสั่งย้ายตำรวจชุดที่ทำคดีเครือข่ายทุนมินลัตรวมถึง พ.ต.ท.มานะพงษ์ด้วย ทำให้เขาต้องออกจากตำรวจยาเสพติดไปเป็นสารวัตสอบสวนของ สน.พญาไท

7.เมื่อเอกสารชี้แจงเบื้องลึกเบื้องหลังระหว่าง ตำรวจผู้ใหญ่-ศาลผู้ใหญ่ ที่เกี่ยวพันกับกระบวนการถอนหมายจับถูกเปิดเผย เผือกร้อนถูกโยนไปยังตำรวจทันที 'พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง' โฆษก ตร. ออกมาชี้แจงว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ไม่ได้นิ่งนอนใจหลังทราบเรื่องที่เกิดขึ้น ได้ให้ตรวจสอบว่าเหตุใดทำสำนวนจึงล่าช้า พร้อมสั่งการให้ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ตรวจสอบเอกสารที่หลุดว่าเป็นเอกสารจริงหรือไม่ "และมีการขออนุมัติหมายจับจากผู้บังคับบัญชาก่อนหรือไม่" ส่วนการโยกย้ายตำรวจชุดที่ทำคดีนี้นั้น โฆษกตำรวจยืนยันว่าเป็นไปตามกรอบกฎหมาย แต่งตั้งด้วยความสุจริตเป็นธรรม

8. สื่อมวลชนรายงานว่า เบื้องต้น บช.น.ได้สอบถามไปยัง พ.ต.ท.มานะพงศ์แล้ว พบว่าเป็นเอกสารจริง แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้เผยแพร่

9. คำถามสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ทำไมต้องแยกคดีของ 'ทุนมินลัตและพวก' กับ ส.ว.คนดัง ทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน เรื่องนี้ พล.ต.ต. คมสิทธิ์ รังไสย์ ผู้บังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 3 (บก.ปส.3) ในฐานะพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ชี้แจงว่าสำนวนที่ 1 เป็นคดีระหว่าง พ.ต.ท.มานะพงษ์ ผู้กล่าวหาทุนมินลัตและพวก รวม 9 คน (ในจำนวนนี้เป็นนิติบุคคล 3 แห่ง) ซึ่งมีการยื่นคำร้องขออนุมัติหมายจับและจับกุมตัวได้แล้วบางส่วน โดย พ.ต.ท.มานะพงษ์ มาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับ ส.ว.อุปกิตเพิ่มเติมภายหลัง จากการพิจารณาของตำรวจร่วมกับอัยการมีความเห็นว่า พฤติการณ์ของผู้ต้องหาในสำนวนที่ 1 เป็นความผิดตามกฎหมายไทยที่ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร และผู้ต้องหาเข้าข่ายเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

ในส่วนของการร้องทุกข์เอาผิด ส.ว.คนดัง ถูกแยกเป็นสำนวนที่ 2 แม้ว่าการพิจารณาพนักงานสอบสวนร่วมกับอัยการเห็นว่า เป็นความผิดตามกฎหมายไทยที่กระทำนอกราชอาณาจักรเช่นเดียวกับสำนวนที่ 1 ผบก.ปส. 3 ชี้แจงว่าหากรวมสำนวนเข้าด้วยกันจะทำให้การดำเนินคดีไม่ครบถ้วนและล่าช้า เนื่องจากพยานหลักฐานในสำนวนของ ส.ว.คนดัง ยังไม่สมบูรณ์ และถูกร้องทุกข์เพิ่มเติมในภายหลัง พร้อมยืนยันว่าไม่มีการใช้อำนาจเข้ามากดดันกระบวนการสอบสวน หรือการช่วยเหลือแต่อย่างใด

10. เผือกร้อนลูกที่ 2 ถูกโยนมาที่อัยการ 'โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง' รองโฆษกสำนักอัยการสูงสุด กล่าวถึงประเด็นความล่าช้าของสำนวน ส.ว.คนดัง ว่า สำนักงานอัยการได้มีคำสั่งให้สอบสวนสำนวนคดีเพิ่มเติมใน 4 ประเด็น พร้อมยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและสอบสวนให้สังคมสิ้นความสงสัย ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วน อย่างไรก็ตาม ถึงเวลานี้สถานะของ ส.ว.คนดังกล่าวยังถือเป็น 'ผู้ถูกกล่าวหา' เท่านั้น เพราะทางตำรวจยังไม่มีการเรียกมาแจ้งข้อหาอย่างเป็นทางการ ส่วนกรณีเอกสารหลุดออกมานั้น เป็นเรื่องเกิดขึ้นก่อนเรื่องเข้าสู่สำนักงานอัยการสูงสุด

11. เผือกร้อนลูกที่ 3 ในประเด็นถอนอนุมัติหมายจับ พุ่งตรงไปยังศาลยุติธรรม 'สรวิศ ลิมปรังษี' โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่าโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ ประธานศาลฎีกา มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการ 'รับฟังข้อเท็จจริง' เพื่อรายงานต่อประธานศาลฎีกาภายใน 30 วัน แต่การรวบรวมข้อเท็จจริง ยังไม่ใช่ขั้นตอนการดำเนินการทางวินัย

12. ล่าสุด 'รังสิมันต์ โรม' ใช้พื้นที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) กางป้ายข้อมูลเปิดโปงอดีตตำรวจยศ 'พล.ต.อ.' ชื่อย่อ 'ส' ที่มีความพยายามเปลี่ยนรูปคดี เพื่อช่วยเหลือ ส.ว.คนดังกล่าว และเตรียมยื่นเรื่องไปยัง ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบตุลาการกรณีถอนอนุมัติหมายจับ รังสิมันต์ยังแสดงความผิดหวังต่อการทำหน้าที่ล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมไทย