ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจมหภาคกรุงไทยชี้ราคาสินค้าเกษตรปัจจัยท้าท้ายเศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดราคานิ่งในระดับต่ำ ประเมินจีดีพีทั้งปีโตร้อยละ 4.1 ตัวชูโรงหลักอยู่ที่การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างจากปีก่อนหน้ามีท่องเที่ยว-ส่งออกเป็นตัวนำ พร้อมฉายภาพผลกระทบสงครามการค้า-ภาวะเศรษฐกิจถดถอย-ดอกเบี้ยขาขึ้น-มาตรการกำกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย-ปีสุดท้ายซื้อ LTF ลดหย่อนภาษี

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงาน Global Business Developmemt and Stretegy ธนาคารกรุงไทย กล่าวถึงมุมมองเศรษฐกิจไทยปี 2562 ว่า เศรษฐกิจ (จีดีพี) จะมีการเติบโตร้อยละ 4.1 ซึ่งชะลอตัวลงจากคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปีที่ผ่านมา ที่น่าจะอยู่ร้อยละ 4.3 อีกทั้งตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของปีนี้ จะอยู่ที่การลงทุนทั้งการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะขยายตัวที่ร้อยละ 7.2 และ 5.5 ตามลำดับ 

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของการลงทุนยังต้องรอดูความเรียบร้อยของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นปีนี้ จึงจะมีความชัดเจนเพิ่มขึ้นถึงจำนวนเม็ดเงินการลงทุนที่จะออกมา

พชรพจน์ นันทรามาศ-ธนาคารกรุงไทย-นักเศรษฐศาสตร์

(พชรพจน์ นันทรามาศ)

"แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้จะต่างจากปีก่อนหน้า โดยเม็ดเงินการลงทุนภาครัฐและเอกชนจะเป็นตัวนำ ต่างจากปีก่อนที่มีการท่องเที่ยวกับการส่งออกเป็นตัวหลัก โดยคาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวของการท่องเที่ยวปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 4.5 จากร้อยละ 7.5 ในปีก่อน การส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 4 จากร้อยละ 7 ในปีที่ผ่านมา" นายพชรพจน์ กล่าว

รวมทั้งต้องจับตา อัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง และอาจมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อปีนี้ต่ำกว่าร้อยละ 1 ขณะที่ อัตราแลกเปลี่ยนมีโอกาสหลุด 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ราคาสินค้าเกษตรนิ่งในระดับต่ำ ความท้าทายเศรษฐกิจไทยปีหมู

ส่วนราคาสินค้าเกษตรในปี 2562 ยังเป็นภาพเดียวกับปีก่อนหน้า คือยังนิ่งในระดับต่ำ เช่น ราคายางพารา ก็ยังมีภาพเหมือนเดิม และในกรณีราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง ก็จะมีผลต่อราคาสินค้าเกษตร

"ปีนี้เรื่องราคาสินค้าเกษตรยังเป็นความท้าทายของเศรษฐกิจไทย อีกทั้งในมุมการเติบโตของจีดีพีไทยปีนี้ คาดว่า ในไตรมาส 1-2 ปีนี้ จีดีพีอาจไม่โตระดับร้อยละ 4 อย่างปีที่ผ่านมา ซึ่งมีปัจจัยพิเศษจากผลผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น แต่ปีนี้ปัจจัยนี้หมดไปแล้ว" นายพชรพจน์ กล่าว

ทั้งนี้ หน่วยวิจัยเศรษฐกิจมหภาคกรุงไทย (Krungthai Macro Research) จับตาเศรษฐกิจปี 2562 ใน 5 ประเด็นคือสงครามการค้า, เศรษฐกิจถดถอย, ดอกเบี้ยขาขึ้น, มาตรการกำกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย และปีสุดท้ายสิทธิลดหย่อนภาษีจากการซื้อ LTF

  • สงครามการค้า โดยคาดว่า สงครามการค้าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2562 มากกว่าปีก่อน เนื่องจากผลของของการขึ้นภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 10 จากสินค้าจีนที่เข้าไปในสหรัฐฯ ที่มีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ โดยปีนี้สงครามการค้ามีโอกาสจะส่งผลกระทบทั้งปี และอาจรุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราภาษีอาจเพิ่มเป็นร้อยละ 25 หากสหรัฐฯ และจีนยังไม่สามารถเจรจากันได้ภายในเดือน มี.ค. นี้ 

"ต้องจับตาสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง อีกทั้งในปีที่ผ่านมา จีนเกินดุลการค้ากับสหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยและเป็นประเด็นสำคัญของการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าด้วย ดังนั้นในปีนี้สินค้าส่งออกของไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนของจีน เป็นวัตถุดิบต้นทางจะมีต้องมีการบริหารความเสี่ยง และคาดว่า ปีนี้สินค้าส่งออกจากเวียนดนามและฟิลิปปินส์จะเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย โดยเฉพาะด้านค่าเงินที่อาจได้เปรียบกว่า" นายพชรพจน์ กล่าว

  • ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ลดประมาณการเศรษฐกิจโลก ขณะที่หลายฝ่ายจับตามองอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีและอายุ 2 ปี ที่มีแนวโน้มจะใกล้เคียงกัน ซึ่งอาจมีผลทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ถดถอยได้ แต่ธนาคารกรุงไทยมองว่า โอกาสที่จะเกิดขึ้นไม่สูงนัก เพราะการบริโภคในสหรัฐยังไม่ได้ตกลงเหมือนในตลาดหุ้นตลาดเงิน 

อย่างไรก็ตาม ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ เนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าต้นทางให้จีนนำไปผลิตต่อ และที่ผ่านมายอดการสั่งซื้ออิเล็กทรอนิกส์จากจีนในตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่องและลดลงแรง ซึ่งหากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ผู้ส่งออกจากไทยก็ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้ส่งออกสินค้าไปจีน รวมถึงด้านการท่องเที่ยว ซึ่งคนจีนเป็นนักท่องเที่ยวหลักของไทย 

  • อัตราดอกเบี้ย กรุงไทยคาดการณ์ว่า ปีนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้ง เพื่อให้ไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 2 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 1.75 และคาดการณ์ว่าภายในปี 2562 อาจจะขึ้นไปแตะระดับร้อยละ 3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบนี้ และไม่น่าจะขึ้นไปสูงกว่านี้ เนื่องจากยังมีปัจจัยเงินเฟ้อ ซึ่งไม่น่าจะเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 2 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอาจต้องประเมินผลของต้นทุนการเงิน ซึ่งหากอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 2 อาจมีผลทำให้อัตราดอกเบี้ย MLR (ดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินกู้ที่มีระยะเวลา) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.16-0.24 

เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าแตะ 31 บาทต่อดอลล์

ขณะที่ นายกิตติพงษ์ เรือนทิพย์ รองผู้อำนวยการฝ่าย สายงาน Global Business Development and Streategy ธนาคารกรุงไทย กล่าวถึงมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะมีผลตั้งแต่เดือน เม.ย. นี้ ซึ่งธนาคารกรุงไทยประเมินว่า ในกรณีผู้ไม่พร้อมทางการเงิน หรือมีบ้านที่กำลังผ่อนอยู่ หรือกลุ่มที่ซื้อเพื่อการลงทุน กลุ่มนี้จะชะลอการซื้อ และอาจส่งผลให้ยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ลดลงร้อยละ 22 ของสินเชื่อใหม่ทั้งปี 

กรุงไทย แถลง

(กิตติพงษ์ เรือนทิพย์)

เรื่องสุดท้ายคือ ปี 2562 จะเป็นปีสุดท้ายของการซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เพื่อลดหย่อนภาษี ซึ่งอาจมีผลต่อผู้มีรายได้สูงลดการบริโภคมากกว่าคนกลุ่มอื่น และอาจกระทบการบริโภคภาคเอกชนโดยรวมเพียงร้อยละ 0.06 เนื่องจากมีผู้ซื้อ LTF เพียง 2.8 แสนคน 

ด้านนายจิตติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในประเทศเรื่องเศรษฐกิจถดถอยอาจเกิดที่ฝั่งอเมริกา ไม่ใช่ทั่วโลก ดังนั้นหากสงครามการค้าวุ่นวาย การบริโภคของผู้บริโภคสหรัฐลดลง ก็อาจเกิดถดถอยได้ แต่สิ่งที่จะเจอแน่นอน คือ synchronized slowdown หรือการชะลอตัวของเศรษฐกิจใหญ่หลายประเทศที่ลดลง เช่น สหรัฐฯ เศรษฐกิจชะลอลงจากร้อยละ 2.9 ในปี 2561 เป็นร้อยละ 2.5 ในปี 2562 ยุโรปลดลงจากร้อยละ 1.9 เป็นร้อยละ 1.6 ญี่ปุ่นโตเท่าเดิมที่ร้อยละ 0.9 ส่วนจีนโตลดลงร้อยละ 6.6 เป็นร้อยละ 6.2 เป็นต้น

กรุงไทย แถลง

(จิตติพล พฤกษาเมธานันท์)

"ต้องจับตาดูการเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐที่จะเกิดขึ้นช่วงต้นเดือนมี.ค. นี้ ซึ่งคาดว่า น่าจะยังไม่มีข้อสรุปในช่วงไตรมาส 1-2 นี้ และมีโอกาสให้เศรษฐกิจจีนเติบโตเพียงร้อยละ 6.2 ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบนี้ของจีน" 

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน คาดว่า เงินบาทจะอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์สงครามการค้าด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :