ไม่พบผลการค้นหา
เศรษฐกิจโลกยังปั่นป่วน ขณะที่เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกยังต้องลุ้นผลการเลือกตั้งว่าจะเข้ามาช่วยหนุนได้ขนาดไหน นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตร้อยละ 4-4.5 แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ มุมมองของนักลงทุนต่างชาติที่เคยมองเศรษฐกิจว่ายอดเยี่ยมแต่ปัจจุบันเหลือแค่ 'ดี'

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ สายงานตลาดเงินและตลาดทุน ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกปี 2562 มี 3 ปัญหาหลัก ประกอบไปด้วย 1) การประท้วงหยุดงานในหลายภาคส่วนของประเทศสหรัฐฯ หากการประท้วงหยุดงานยืดเยื้อออกไปจนถึงเดือนมีนาคม มีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกจะไม่เติบโตเลย หรือ มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 0

2) เบร็กซิตยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่หาทางออกไม่ได้ของภูมิภาคยุโรป หลังจากรัฐสภาอังกฤษลงมติเกินครึ่งไม่รับเงื่อนไขของทางสหภาพยุโรป (อียู)

(3) สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ยังคงเป็นประเด็นกระทบเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง

เมื่อพิจารณาทั้ง 3 องค์ประกอบหลักที่สร้างความอ่อนไหวให้กับเศรษฐกิจโลก นายทิมกล่าวว่า ธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 3.6 ซึ่งมากกว่าตัวเลขที่ออกมาจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ที่คาดการณ์ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจโลกไว้ที่ร้อยละ 3.5

ส่วนสาเหตุที่แสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ให้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าสถาบันอื่นนั้น เพราะแม้จะมีความอ่อนไหวและปัญหาจากทั้ง 3 ส่วนข้างต้น แต่ทุกฝ่ายล้วนพยายามแก้ไขหาทางออกด้วยกันทั้งสิ้น โดยยกตัวอย่างว่า กรณีเบร็กซิตได้มีการพูดคุยทำประชามติรอบที่สองเพื่อหาทางออกให้กับสถานการณ์

ขณะเดียวกัน ประเด็นสงครามการค้าที่ผ่านมา จีนจะเป็นฝ่ายถูกกดดันเป็นส่วนใหญ่ แต่ปีนี้สหรัฐฯ เริ่มได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน จึงอาจส่งผลให้การเจรจาดำเนินไปอย่างร่วมมือร่วมใจมากขึ้น ดังนั้นธนาคารจึงเชื่อว่าปัญหาต่างๆ จะสามารถคลี่คลายได้


"สิ่งที่น่าสนใจตอนนี้คือ ทุกอย่างมันดูเป็นความกังวล แต่มันยังไม่มีอะไรมาทำให้ความกังวลเหล่านั้นเป็นความจริง" นายทิม กล่าว

เศรษฐกิจไทยในวันที่เต็มไปด้วยความชุลมุน

จากแถลงการณ์ครั้งนี้ ธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมองอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ที่มากกว่าร้อยละ 4 แต่ไม่เกินร้อยละ 4.5 โดยถือว่าเป็นตัวเลขคาดการณ์ที่ค่อนข้างสูงและไม่ได้มีการปรับคาดการณ์ลงจากปีที่แล้ว

นายทิมอธิบายว่าแม้ไทยจะเจออุปสรรคทั้งภายนอกและภายในประเทศ ซึ่งให้มองว่าเป็นความท้าทายและมองว่าไทยควรหันกลับมาพึ่งพาการเติบโตจากภายในประเทศมากกว่าการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่เศรษฐกิจของประเทศจะยังโตได้ด้วยแรงหนุนในครึ่งปีแรกจากการเลือกตั้งและในครึ่งปีหลังจากการลงทุนของภาครัฐ และตอนนี้ผ่านมาเพียง 3 สัปดาห์เท่านั้นของปี 2562 จึงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทย

การเมืองเป็นเครื่องต่อลมหายใจ

นายทิมเริ่มประเด็นเศรษฐกิจไทยจากปัจจัยที่ร้อนแรงที่สุดในขณะนี้ คือการเลือกตั้งที่จะมาถึงในวันที่ 24 มีนาคม โดยกล่าวถึงไทม์ไลน์การเลือกตั้งว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นั้นจะเป็นช่วงเวลาแห่งการหาเสียงอย่างจริงจัง ขณะที่ผลการเลือกตั้งจะประกาศทันทีในช่วงเย็นวันที่ 24 มีนาคม แต่ทางการก็ยังต้องใช้เวลา 60 วัน สำหรับตรวจสอบการทุจริตต่างๆ ก่อนผลการเลือกตั้งจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฏรครั้งแรกในช่วงเดือนมิถุนายน

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญสำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ในมุมมองของธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ดและภาคเอกชนคือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเลือกตั้ง ตั้งแต่ บัตรแบบใบเดียวสำหรับทั้ง ส.ส.แบบเขตและแบบพรรค รวมถึงจำนวนที่นั่งของ ส.ส. ที่เปลี่ยนแปลง โดย ส.ส.แบบเขต เหลือ 350 ที่นั่ง จากเดิม 375 ที่นั่ง ในขณะที่ ส.ส.แบบพรรค เพิ่มขึ้นเป็น 150 ที่นั่ง จากเดิม 125 ที่นั่ง ธนาคารมองว่าด้วยระบบ ส.ส. แบบใหม่ ทำให้การที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะได้เสียงข้างมากอย่างถล่มทลายดูจะเป็นเรื่องยาก และมีความเป็นไปได้สูงว่ารัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเป็นรัฐบาลผสม จึงไม่ควรมองข้ามพรรคที่มีความนิยมในระดับกลางๆ อย่างพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากพรรคเหล่านี้จะเป็นตัวแปรหลักว่าพรรคใดจะได้เป็นรัฐบาล

ผลกระทบที่ชัดเจนต่อเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้ง คือ เศรษฐกิจภูมิภาค เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจภูมิภาคของไทยมีการเติบโตน้อยมากจนแทบจะเป็นศูนย์ อันเนื่องมาจากภาวะการตกต่ำของภาคเกษตรกรทั่วโลก ส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชนรายได้น้อยในต่างจังหวัด อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการหาเสียงเพื่อการเลือกตั้งอย่างจริงจัง ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจฐานราก อย่างน้อยก็ในช่วงระหว่างการหาเสียง

นายทิมยังกล่าวอีกว่า ปัจจัยอีกประการที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคคือโครงการต่างๆของรัฐบาล คสช. ตั้งแต่ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561 ที่ออกมาช่วยประชาชนในต่างจังหวัด

ทิศทางที่ตลาดทั้งภาคเอกชนและนักลงทุนต่างประเทศมองเศรษฐกิจไทย ไม่ใช่ในช่วงการหาเสียงหรือการเลือกตั้ง แต่เป็นมุมมองหลังจากการเลือกตั้งไปแล้ว โดยภาคเอกชนให้ความสำคัญกับเสถียรภาพของรัฐบาลชุดใหม่


"ช่วงเลือกตั้งความรู้สึก (นักลงทุน) ดีขึ้น แต่เรื่องที่ยากจะตอบวันนี้ คือเสถียรภาพของรัฐบาลชุดใหม่มีมากน้อยแค่ไหน" นายทิม กล่าว

ปัจจัยอื่นๆ ต่อเศรษฐกิจไทย

ในปี 2562 ประเทศไทยจะมีการลงทุนเบิกจ่ายในโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างมาก และแนวโน้มการลงทุนและการเบิกจ่ายในอัตรานี้จะยังคงอยู่กับประเทศไทยต่อไปอีก 2-3 ปี เนื่องจากอานิสงส์ของโครงการโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ รถไฟสีต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร รถไฟรางคู่ และ มอเตอร์เวย์ เป็นต้น

ด้านภาคการส่งออก ธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ดยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์และความไม่แน่นอน นายทิมกล่าวว่า เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ดุลการค้าของไทยเกินดุลน้อยลง โดยในปี 2559 ประเทศไทยเกินดุลอยู่ที่ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 634,700 ล้านบาท ปี 2560 ประเทศไทยเกินดุลการค้าอยู่ที่ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 476,000 ล้านบาท และล่าสุดปี 2561 ประเทศไทยเกินดุลการค้าอยู่เพียง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 95,000 ล้านบา��

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว แม้รัฐบาลจะออกมาย้ำว่ามาตรการการฟรีค่าธรรมเนียม วีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือ Visa on Arrival จะสามารถทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวปีที่แล้วโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเข้าเป้าที่ 38 ล้านคนได้

แต่เมื่อไปดูตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนในปี 2561 พบว่า ประเทศที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมไปเที่ยวคือ เกาหลีใต้ ฮ่องกง และญี่ปุ่น และลดความนิยมท่องเที่ยวไทยลงไป ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากค่าเงินบาทเทียบเงินหยวนแข็งค่ามาก ทำให้คนจีนมีกำลังซื้อน้อยลง ประกอบกับสภาพอากาศของไทยในปัจจุบันซึ่งกำลังเผชิญภาวะวิกฤต และคนจีนอาจจะกำลังเบื่อไทยด้วย

เมื่อผนวกสองปัจจัยด้านการส่งออกและการบริการ ธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมองว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปี 2562 น่าจะเกิดดุลอยู่ที่ร้อยละ 5 จากเดิมที่ร้อยละ 8 ในปี 2561

ในด้านหนึ่งจะส่งผลต่อการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจาก 1-2 ปีที่ผ่านมา ไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่แข็งแรงมากเกือบร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในช่วงแรกๆ ไทยอาจไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นตามเหมือนอินเดียหรือฟิลิปปินส์

แต่เวลานี้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลน้อยลง ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่า ธปท. น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปีนี้ ไปจบที่ร้อยละ 2.25 สอดคล้องไปธนาคารกลางของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 2 ครั้งในปีนี้เช่นกัน

ส่วนประเด็นอัตราเงินเฟ้อ สแตนดาร์ดฯ คาดว่าภายในปีนี้น่าจะต้องมีการพูดคุยถึงการปรับกรอบอัตราเงินเฟ้อของไทย ที่เดิมอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ลง เพราะมีวความไม่สมจริงเท่าไหร่นัก ขณะที่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในปีที่ผ่านมาลดลงไปต่ำกว่าร้อยละ 1 จึงอาจเป็นที่มาของคำถามสำคัญว่า แบงก์ชาติตั้งกรอบเงินเฟ้อไว้สูงเกินไปหรือไม่ และถึงเวลาที่จะต้องมีการทบทวนกรอบเงินเฟ้อแล้วหรือยัง

“เราเคยเป็นประเทศที่ยอดเยี่ยม (great country) แต่ตอนนี้เราเป็นเพียงประเทศที่ดี (good country) ในมุมมองของนักลงทุน” นายทิม กล่าว

ท้ายที่สุดแล้วประเทศไทยจะก้าวผ่านกับดักของตัวเองได้ไหม คงต้องอาศัยทุกปัจจัยเข้ามาผสมกัน เพื่อที่ว่าเราจะได้กลับไปเป็นประเทศที่ยอดเยี่ยมในสายตานักลงทุนอีกครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :