ไม่พบผลการค้นหา
เหตุนองเลือดที่ฉนวนกาซาของปาเลสไตน์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 61 คน หลังมีการรวมตัวต้านสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเยรูซาเลมฝั่งอิสราเอล-ด้านสื่ออาหรับระบุชื่อประเทศหนุนสหรัฐฯ สวนกระแสยูเอ็น-นานาชาติเรียกร้องอิสราเอลหยุดใช้อาวุธจัดการพลเรือนปาเลสไตน์

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้วว่าการตั้งสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเยรูซาเลม เป็นหนึ่งในแนวทางผลักดันให้เกิดสันติภาพในตะวันออกกลาง และยุติปัญหาความขัดแย้งยืดเยื้อระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ และการเปิดสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเยรูซาเลมก็ดำเนินการแล้วเสร็จไปตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ตรงกับวันครบรอบ 70 ปีการประกาศเอกราชของอิสราเอลพอดี 

สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่า 32 ประเทศที่ส่งตัวแทนทางการทูตเข้าร่วมพิธีเปิดสถานทูตสหรัฐฯ ที่เยรูซาเลม ประกอบด้วย อัลเบเนีย, แองโกลา, ออสเตรีย, แคเมอรูน, สาธารณรัฐคองโก, ดีอาร์คองโก, โกตดิวัวร์, สาธารณรัฐเชก, โดมินิกัน, เอลซัลวาดอร์, เอธิโอเปีย, จอร์เจีย, กัวเตมาลา, ฮอนดูรัส, ฮังการี, เคนยา, เมียนมา, มาซิโดเนีย, ปานามา, ปารากวัย, เปรู, ฟิลิปปินส์, โรมาเนีย, รวันดา, เซอร์เบีย, เซาท์ซูดาน, แทนซาเนีย, ยูเครน, เวียดนาม, แซมเบีย รวมถึงไทย

การรายงานข่าวดังกล่าวทำให้กระทรวงการต่างประเทศของไทยเผยแพร่ข่าวสารนิเทศลงวันที่ 15 พ.ค. ย้ำว่า "เอกอัครราชทูต (ไทย) ณ กรุงเทลอาวีฟ ไม่ได้เข้าร่วมพิธีดังกล่าว และไม่มีผู้แทนไทยอื่นใดเข้าร่วมงานด้วย" ต่อมาภายหลัง อัลจาซีราได้นำชื่อประเทศไทยออกจากการรายงานข่าวดังกล่าวไป

ฉนวนกาซา-อิสราเอล-ปาเลสไตน์-ประท้วงสถานทูตสหรัฐฯ-อิวังกา-ลูกสาวทรัมป์-เปิดสถานทูต

(AP: สื่อสหรัฐฯ เผยภาพเปรียบเทียบว่าเกิดเหตุประท้วงรุนแรงขณะที่มีพิธีเปิดสถานทูตในกรุงเยรูซาเลม)

ย้ายสถานทูตยังไม่ช่วยกรุยทางให้สันติภาพ

การตั้งสถานทูตของประเทศต่างๆ ในกรุงเยรูซาเลมฝั่งตะวันตก ซึ่งอยู่ในความดูแลของอิสราเอลถือเป็นสิ่งที่นานาประเทศหลีกเลี่ยงมาโดยตลอด ไม่เว้นแม้แต่อดีตรัฐบาลสหรัฐฯ ทุกๆ รัฐบาล เพราะอิสราเอลและปาเลสไตน์มีข้อพิพาทเรื่องดินแดนมายาวนาน ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิในกรุงเยรูซาเลมทั้งคู่ แต่การที่สหรัฐฯ ตัดสินใจย้ายสถานทูตไปยังกรุงเยรูซาเลมฝั่งอิสราเอล เปรียบได้กับการรับรองอำนาจอธิปไตยของอิสราเอลต่อกรุงเยรูซาเลม ทั้งที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคู่ขัดแย้งที่สำคัญอย่างปาเลสไตน์ และเป็นการกระทำที่สวนทางกับมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ส่วนการตั้งสถานทูตสหรัฐฯ ครั้งนี้ เป็นการใช้สถานที่เดิมซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานกงสุลสหรัฐฯ และรัฐบาลสหรัฐฯ มีแผนจะขยายอาคารที่ทำการสถานทูตต่อไปในอนาคต แต่สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า ในระหว่างที่มีการแสดงดนตรีประกอบพิธีเปิดสถานทูตนั้น ชาวปาเลสไตน์หลายพันคนรวมตัวกันที่ชายแดนระหว่างอิสราเอลและฉนวนกาซาของปาเลสไตน์ ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 100 ก.ม. เพื่อต่อต้านการตั้งสถานทูตสหรัฐฯ และกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่พอใจขว้างระเบิดขวดและก้อนหินเข้าใส่ทหาร-ตำรวจอิสราเอลซึ่งประจำการอยู่บริเวณชายแดน ทำให้ฝ่ายอิสราเอลตอบโต้ด้วยกำลังอาวุธ

แม้การชุมนุมต่อต้านสถานทูตสหรัฐฯ ของฝ่ายปาเลสไตน์จะดำเนินมาตั้งแต่เดือน มี.ค. และมีผู้เสียชีวิตก่อนหน้านี้ประมาณ 40 ราย แต่การปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยกระสุนจริงในวันที่ 14 พ.ค. ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 61 คนในวันเดียว ทำให้สื่อต่างชาติระบุว่าเป็น 'วันแห่งความหายนะ' และผู้เสียชีวิตมีทั้งผู้ชุมนุม และทารกวัยไม่ถึงขวบที่เสียชีวิตเพราะแก๊สน้ำตา

คำเตือนและปฏิกิริยาจากนานาชาติ

นายเซอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNCHR) เผยแพร่ข้อความผ่านทวิตเตอร์เมื่อวานนี้ (15 พ.ค.) ประณามการใช้ความรุนแรงโจมตีพลเรือนปาเลสไตน์ พร้อมเรียกร้องให้อิสราเอลยุติการใช้กำลังอาวุธกับกลุ่มผู้ชุมนุม แต่กองทัพอิสราเอลระบุว่าจะไม่ยอมอ่อนข้อ โดยอ้างว่ากลุ่มติดอาวุธฮามาสซึ่งปกครองดินแดนฉนวนกาซายังคงยิงปืนใหญ่และก่อเหตุรุนแรงโจมตีฝั่งอิสราเอล

ด้านนายไมเคิล ลิงก์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยตะวันออกกลางเรียกร้องให้นานาชาติร่วมกันกดดันและเรียกร้องให้อิสราเอลดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงการใช้กำลังอาวุธเข้าปราบปรามพลเรือนปาเลสไตน์เมื่อวันที่ 14 พ.ค. โดยย้ำเป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ และผู้กระทำผิดฐานเข่นฆ่าผู้อื่นสมควรได้รับโทษ โดยจะต้องไม่ปล่อยให้เกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด พร้อมระบุว่าการปิดกั้นเส้นทางเข้าออกของชาวปาเลสไตน์โดยทหารอิสราเอลซึ่งดำเนินมาตลอด 11 ปี เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชาวปาเลสไตน์รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม และต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมกับการใช้ชีวิต

ส่วนประเทศอื่นๆ ที่แถลงประณามการใช้ความรุนแรงของฝ่ายอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ ได้แก่ เยอรมนี สหภาพยุโรป ตุรกี อิหร่าน เลบานอน ปากีสถาน และคูเวต แต่อีกหลายประเทศ เช่น เบลเยียม ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และเซาท์แอฟริกา ประท้วงสหรัฐฯ และอิสราเอล ด้วยการเรียกตัวทูตของตนกลับประเทศ ขณะที่อิสราเอลก็ตอบโต้ประเทศต่างๆ ด้วยการเรียกทูตของตนกลับเช่นกัน

ขณะเดียวกัน รัฐบาลอิสราเอลแถลงว่าผู้เสียชีวิต 24 ราย จากทั้งหมดกว่า 60 ราย เป็นสมาชิกกลุ่มติดอาวุธ ส่วนผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบขาวสหรัฐฯ รายงานอ้างอิงโฆษกรายหนึ่งซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ ยืนยันว่า การปล่อยให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตเป็นแผนของกลุ่มติดอาวุธฮามาสในปาเลสไตน์ที่ต้องการใส่ร้ายป้ายสีอิสราเอล

ความคืบหน้าล่าสุด (แต่เหตุขัดแย้งไม่หยุดแค่นี้)

หนังสือพิมพ์ฮาเร็ตซ์ สื่อเก่าแก่ของอิสราเอล รายงานด้วยว่า สหรัฐฯ ได้ใช้สิทธิในการเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) คว่ำมติของสมาชิกที่เหลือซึ่งต้องการให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการใช้กำลังอาวุธปราบปรามผู้ชุมนุมปาเลสไตน์ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 61 ราย และบาดเจ็บเกือบ 2,000 คนในวันเดียว

อย่างไรก็ตาม นางนิกกี เฮลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ แถลงว่าไม่มีประเทศไหนอีกแล้วที่จะมีความอดทนอดกลั้นมากไปกว่าอิสราเอล พร้อมทั้งประท้วงด้วยการเดินออกจากที่ประชุม UNSC ในนครนิวยอร์กเมื่อวานนี้ (15 พ.ค.)

ฮาเร็ตซ์รายงานว่า การชุมนุมประท้วงต่อต้านสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเยรูซาเลม รวมถึงการประท้วงกองทัพและตำรวจของอิสราเอลที่ใช้อาวุธสังหารผู้ชุมนุม ได้ลุกลามไปสู่เมืองต่างๆ ทั้งฝั่งอิสราเอลและปาเลสไตน์ โดยผู้ชุมนุมที่นครเทลอาวีฟได้ชูป้ายว่า "ยิวและอาหรับไม่ขอเป็นศัตรูกัน" และ "ยุติการเข่นฆ่า" แม้ว่าการชุมนุมจะทำให้จราจรติดขัดในเขตเมือง แต่ไม่มีการปะทะหรือมีผู้ถูกจับกุม ส่วนที่เมืองรามัลเลาะห์ในเขตเวสต์แบงก์ของปาเลสไตน์ มีการปะทะระหว่างผู้ประท้วงและตำรวจอิสราเอลอยู่เป็นระยะ

ด้านอิสมาอิล ฮานิเยห์ ผู้นำสายการเมืองของกลุ่มติดอาวุธฮามาสในฉนวนกาซา ประกาศว่าจะเดินหน้าต่อสู้กับอิสราเอลต่อไป ซึ่งสื่ออิสราเอลมองว่าท่าทีดังกล่าวเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเหตุการณ์บริเวณเส้นเขตแดนระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์จะเผชิญความไม่สงบและเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

ส่วนนายจาเร็ด คุชเนอร์ ลูกเขยของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาในรัฐบาลนี้ควบคู่ไปด้วย เปิดเผยว่าเขาได้ร่างแผนผลักดันสันติภาพตะวันออกกลางไปได้มากกว่าครึ่ง และคาดว่าจะนำเสนอแผนดังกล่าวได้ในเร็วๆ นี้ ขณะที่นายทรัมป์แสดงความยินดีกับการตั้งสถานทูตและประกาศว่าเป็นความสำเร็จที่เขาสามารถทำได้ตามที่เคยให้สัญญาเมื่อครั้งหาเสียงในปี 2559

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: