ไม่พบผลการค้นหา
อดีตนักการทูต นักสันติวิธี และสื่อมวลชนอิสราเอล เสนอทางออกจากความขัดแย้ง หลังผู้นำสหรัฐฯ มีแผนรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอล โดยระบุว่าสหรัฐฯ ต้องรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของปาเลสไตน์ด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตะวันออกกลางลุกเป็นไฟ

The Policy Working Group ซึ่งเป็นคณะทำงานด้านนโยบายเพื่อสันติภาพตะวันออกกลาง และเป็นการรวมตัวกันของอดีตนักการทูต นักสันติวิธี และสื่อมวลชนของอิสราเอล 25 คน ลงนามในหนังสือเรียกร้องให้นายเจสัน กรีนแบลตต์ ผู้ดำรงตำแหน่งทูตสันติภาพตะวันออกกลางของสหรัฐฯ เตือนนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้ตระหนักถึงผลกระทบร้ายแรงที่จะตามมา หากว่ามีการประกาศรับรองสถานะเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลอย่างเป็นทางการ เพราะถือว่าผิดต่อพันธกิจของสหรัฐฯ ที่ระบุว่า จะผลักดันให้เกิดสันติภาพในตะวันออกกลาง และอาจทำให้ถูกตีความได้ว่าสหรัฐฯ เลือกข้างอิสราเอล

เนื้อหาในหนังสือดังกล่าวระบุว่า "สถานะของเยรูซาเลม คือเมืองที่ตั้งสถานที่สำคัญของ 3 ศาสนา และเป็นใจกลางปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ การดำเนินการใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องจะต้องเป็นไปในบริบทที่มุ่งสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งเป็นสำคัญ"

"ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ไม่เคยเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงที่ว่าเยรูซาเลมเป็นบ้านของประชาชนทั้งสองเชื้อชาติ การประกาศของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่าจะรับรองเยรูซาเลมในฐานะเมืองหลวงของอิสราเอล แต่ไม่ใยดีต่อความปรารถนาของปาเลสไตน์ ย่อมจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างสองฝ่ายยิ่งกว่าเดิม เป็นอันตรายต่อกระบวนการสันติภาพในภูมิภาคตะวันออกกลาง"

คณะทำงานฯ จึงเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยึดมั่นนโยบาย 2 รัฐ ซึ่งเป็นแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางด้วยการรับรองสถานะของรัฐอิสราเอลและรัฐปาเลสไตน์ด้วยกันทั้งคู่ แม้จะยังไม่บรรลุผล แต่ก็เป็นนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งสหประชาชาติและสหภาพยุโรป หากมีการรับรองสถานะเยรูซาเลมในฐานะเมืองหลวงอิสราเอลเกิดขึ้นจริง สหรัฐฯ ก็จะต้องประกาศรับรองเยรูซาเลมในฐานะเมืองหลวงของปาเลสไตน์ด้วย เพราะตามเงื่อนไขการเจรจาสันติภาพระบุว่า เยรูซาเลมตะวันตกเป็นที่ตั้งเมืองหลวงของอิสราเอล และเยรูซาเลมตะวันออกเป็นเมืองหลวงของปาเลสไตน์

000_UW7YV.jpg

'ทรัมป์ยึดมั่นในสันติภาพจริงหรือ?'

เว็บไซต์เดอะการ์เดียนของอังกฤษรายงานว่า การออกมาเคลื่อนไหวของคณะทำงานฝ่ายอิสราเอล เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกลุ่มรัฐบาลประเทศมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นตุรกี อียิปต์ โมร็อกโก ซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน อิรัก ซึ่งคัดค้านท่าทีของนายทรัมป์ โดยย้ำว่าการกระทำดังกล่าวจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศมุสลิม

ด้านนายมาห์มุด อับบาส ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ ระบุว่าการรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอลจะทำให้เกิดแรงต่อต้านขั้นรุนแรงตามมา เพราะชาวมุสลิมที่ไม่พอใจอาจพุ่งเป้าโจมตีชาวอิสราเอลและชาวอเมริกัน ขณะที่สถานกงสุลสหรัฐฯ ในเยรูซาเลมประกาศเตือนเจ้าหน้าที่ชาวอเมริกัน และครอบครัวของเจ้าหน้าที่ทุกคนที่พำนักอยู่ในอิสราเอล ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังย่านเมืองเก่าหรือโอลด์ซิตี้ของเยรูซาเลม รวมถึงเมืองเบธเลเฮมและเมืองเจริโค เพราะจะมีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลสหรัฐฯ เกิดขึ้น ซึ่งนักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งก็มองว่ากลุ่มติดอาวุธแอบอ้างศาสนาอิสลามอาจก่อเหตุรุนแรงโดยอ้างเรื่องดังกล่าวเป็นเหตุผลหลัก และจะส่งผลให้ชาวอเมริกันทั่วโลกตกเป็นเป้าโจมตีของแนวร่วมกลุ่มสุดโต่ง

ด้านนายฮูซาม ซอมล็อต เลขาธิการพรรคพีแอลโอ ซึ่งเป็นปีกการเมืองของขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์ เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ ว่านายทรัมป์เคยให้คำมั่นสัญญากับพีแอลโอและตัวแทนฝ่ายปาเลสไตน์อื่นๆ ว่าจะผลักดันให้กระบวนการสันติภาพตะวันออกกลางบรรลุผลสำเร็จ โดยจะไม่สร้างความขัดแย้งเพิ่มเติม และจะไม่ดำเนินการใดๆ หากไม่ได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากปาเลสไตน์และอิสราเอล แต่ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ไม่ตรงกับสิ่งที่ทรัมป์เคยพูดไว้ แม้แต่ผู้นำและกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส และจีน ต่างแสดงความคิดเห็นคัดค้านแผนของนายทรัมป์ พร้อมย้ำว่าการรับรองให้เยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอลจะทำให้ตะวันออกกลางเกิดความโกลาหลวุ่นวายอย่างใหญ่หลวง

000_UW0F8.jpg

'ขั้นตอนย้ายสถานทูตสหรัฐฯ อาจใช้เวลาเป็นปี'

แม้กระทั่งสำนักข่าววีโอเอซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยังรายงานอ้างอิงนักวิเคราะห์ซึ่งระบุว่า การรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอลจะทำให้เกิดผลเสียตามมามากกว่าผลดี ขณะที่ซาราห์ แซนเดอร์ส โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันว่านายทรัมป์มุ่งมั่นว่าจะดำเนินการตามแผนที่วางไว้ โดยถือเป็นการตัดสินใจที่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของสหรัฐฯ เป็นหลัก แต่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ไม่ได้อยู่ในประเทศด้วยตอนที่นายทรัมป์ตัดสินใจว่าจะรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอล บ่งชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งระหว่างทิลเลอร์สันและทรัมป์ยังไม่คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น 

หลังจากที่สหรัฐฯ รับรองเยรูซาเลมในฐานะเมืองหลวงอิสราเอลอย่างเป็นทางการ จะต้องเริ่มต้นกระบวนการย้ายสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ จากกรุงเทลอาวีฟไปยังเยรูซาเลมด้วย เพราะกฎหมายสหรัฐฯ ระบุว่าจะต้องตั้งสถานทูตสหรัฐฯ ในเมืองหลวงของแต่ละประเทศ แต่กรณีของอิสราเอลเป็นข้อยกเว้นมานาน เพราะอดีตประธานาธิบดีคนก่อนหน้าทรัมป์ต่างลงนามในคำสั่งขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายการตั้งสถานทูตนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 (พ.ศ.2538) เป็นต้นมา เพื่อไม่ให้เป็นชนวนเหตุความขัดแย้งรุนแรงในตะวันออกกลางเพิ่มเติม แต่กระบวนการย้ายสถานทูตอาจใช้เวลาเป็นปี และไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นทันทีหลังประกาศรับรองสถานะของเยรูซาเลม

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานอ้างอิงแหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่านายทรัมป์จะประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อสถานะของเยรูซาเลมในเวลา 13.00 น.ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ วันที่ 6 ธันวาคม ซึ่งตรงกับเวลา 01.00 น.วันที่ 7 ธันวาคมตามเวลาในประเทศไทย โดยแหล่งข่าวคนดังกล่าวระบุว่าทรัมป์ต้องการรับรองสถานะเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลในฐานะที่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเกิดขึ้นและดำเนินอยู่มาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากอิสราเอลประกาศมาตลอดว่าเยรูซาเลมคือเมืองหลวงของประเทศ และเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ ทั้งยังเป็นที่ตั้งของสถานที่คัญทางการเมือง ทั้งทำเนียบรัฐบาล ศาลฎีกา และรัฐสภา

000_Nic6386094.jpg

'สถานทูตไทยในอิสราเอลยังไม่มีแถลงการณ์เตือน'

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมากนัก แต่หากมีเหตุการณ์รุนแรงที่เป็นผลจากการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์ อาจทำให้แรงงานชาวไทยที่อยู่ในอิสราเอลตกอยู่ในอันตรายได้ โดยเมื่อ ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) กลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ยิงจรวดโจมตีฝ่ังอิสราเอล ทำให้แรงงานชาวไทยในสหกรณ์การเกษตรละแวกใกล้เคียงเสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง หากมีการใช้ความรุนแรงตอบโต้อีกครั้งต่อจากนี้ อาจกระทบต่อผู้ที่ทำงานหรืออาศัยอยู่ใกล้กับย่านเมืองเก่าของเยรูซาเล็มและสถานที่อื่นๆ ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงเทลอาวีฟ ไม่ได้ออกแถลงการณ์เตือนพลเมืองไทยในอิสราเอล แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงเทลอาวีฟได้สำรวจสถานการณ์ด้านแรงงานไทยเอาไว้ตั้งแต่ปี 1997 (พ.ศ.2540) พบว่าแรงงานไทยทำงานอยู่ในภาคส่วนต่างๆ ของอิสราเอลประมาณ 26,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในนิคมสหกรณ์การเกษตรของทั้งเอกชนและรัฐบาล รวมกว่า 715 แห่ง และในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำอิสราเอล ในกรุงเทลอาวีฟ ระบุว่าสามารถติดต่อฮอทไลน์สายด่วนของศูนย์ดำรงธรรมในต่างประเทศได้ตามเวลาทำการปกติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ทรัมป์ไม่สนคำเตือน เตรียมย้ายสถานทูตไปเยรูซาเลม

ทำไมการรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอลจึงเป็นเรื่องใหญ่?

ย้อนรอยความขัดแย้งปาเลสไตน์ - อิสราเอล