ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เชี่ยวชาญสรุป แปลความผิด "วัคซีนไข้เลือดออก" ยังได้ผลดีในคนที่เคยติดเชื้อ ส่วนคนไม่เคยติดเชื้อหากฉีดอาจพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่โรคไม่ได้รุนแรงกว่าเดิมตามข่าว ระบุไม่ระงับการฉีด แต่หากต้องการฉีดวัคซีนควรปรึกษาหมอ

จากกรณีประเทศฟิลิปปิน สั่งระงับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกให้แก่นักเรียน เนื่องจากมีผลข้างเคียงทำให้โรครุนแรงขึ้น  ขณะที่ประเทศอยู่ระหว่างการพิจารณาในเรื่องนี้เพราะ วัคซีนดังกล่าวได้ ขึ้นทะเบียนวัคซีนไข้เลือดออก และใช้เปิดขายตาม รพ.เอกชนเมื่อต้นปี2559 ที่ผ่านมา

วันนี้ (8 ธ.ค.) จากการประชุมผู้เชี่ยวชาญจากหลายองค์กร ทั้งสมาคมโรคติดแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมควบคุมโรค ศูนย์วัคซีน กลุ่มกุมารแพทย์ที่มีการใช้วัคซีนดังกล่าว และผู้เชี่ยวชาญทางด้านสถิติ ร่วมประชุมเพื่อทบทวนว่าควรจะระงับการฉีดวัคซีนไข้เลือดออกหรือไม่

ทั้งนี้ที่ผ่านมาประเทศไทย มีการสั่งซื้อมาฉีด 30,000 เข็ม ฉีดไปแล้ว 10,000 เข็ม บางส่วนยังอยู่ในห้องยา

 ผลการประชุมผุ้เชี่ยวชาญ  รศ.นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้ข้อสรุปว่า การเสนอข้อมูลว่าฉีดแล้วมีผลข้างเคียงรุนแรงขึ้นเป็นเรื่องเข้าใจผิดจากการแปลผิดพลาด ข้อเท็จจริงคือ หลังจากที่มีการฉีดวัคซีนแล้วมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่ไม่ตัวโรคไม่ได้มีความรุนแรงไปมากกว่าเดิม และไม่ได้รุนแรงมากไปกว่าคนที่ไม่ได้รับวัคซีน

ส่วนประสิทธิภาพของวัคซีนได้ข้อสรุปว่า ยังคงได้ผลดีสำหรับคนที่เคยติดเชื้อเดงกีมาแล้วตั้งแต่อายุ 9 ขวบขึ้นไป โดยลดความเจ็บป่วย ลดความรุนแรง ลดการนอนโรงพยาบาลได้ ส่วนผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน

สรุปคร่าวๆ ว่า มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาล 1.4 เท่าของผู้ไม่ได้รับวัคซีน แต่ความรุนแรงของโรคไม่ได้แตกต่างจากคนที่เคยติดเชื้อมาก่อนแล้วไม่ได้ฉีดแต่อย่างใด

"จากข้อมูลพบว่า เด็กไทยที่อายุ 9 ขวบ เคยติดเชื้อเดงกีซึ่งเป็นเชื้อไวรัสก่อโรคไข้เลือดออกมาแล้วร้อยละ 80 ส่วนผู้ใหญ่อายุ 20-55 ปี พบว่า เคยมีการติดเชื้อหรือป่วยแล้วร้อยละ 90 ดังนั้น คนที่กำลังฉีดหรือคิดอยากจะฉีด หากได้ประวัติว่าเคยเป็นไข้เลือดออกมากก่อนก็ให้ฉีด คนที่ฉีดไปแล้วและไม่รู้ว่าไข้เลือดออกมาก่อนหรือไม่ ควรต้องปรึกษาแพทย์อีกครั้งหนึ่ง”

 อย่างไรก็ตาม คงไม่มีการนำมาบรรจุเข้าเป็นวัคซีนพื้นฐานของคนไทย เพราะวัคซีนตัวนี้เป็นเพียงวัคซีนเริ่มต้น และยังมีการวิจัยหาวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกอีกหลายรุ่น ตอนนี้อย่างน้อยก็มีอยู่ 2 ตัวที่คนไทยมีส่วนร่วมและกำลังสุกงอม

 ทั้งนี้ เชื่อว่าไข้เลือดออกยังคงเป็นปัญหาของประเทศเขตร้อน คาดว่าอีกประมาณ 60 ปีข้างหน้าจะพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอีกเท่าตัวเพราะโลกร้อนขึ้น ยุงเยอะขึ้น ทั่วโลกจะมีคนเสี่ยงประมาณ 6,000 ล้านคน จากปัจจุบันมีความเสี่ยงอยู่ที่ 3,000 ล้านคน" รศ.นพ.ทวี กล่าว

นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการ อย. กล่าวว่า จากผลการประชุมของผู้เชี่ยวชาญ วัคซีนไข้เลือดออกก็ถือว่ายังมีประสิทธิภาพ เพียงแต่อาจจะต้องเพิ่มคำแนะนำว่าควรใช้ในกลุ่มใด ซึ่งจากข้อมูลคือคนที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อนเลย ทั้งนี้ คงไม่ต้องถึงขั้นพิจารณาการถอนทะเบียน