จากกรณีที่มีข่าวออกมาระบุว่ากระทรวงสาธารณสุขไทยสั่งระงับการนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก หลังจากพบผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนดังกล่าวในประเทศฟิลิปปินส์ และทางการฟิลิปปินส์สั่งระงับการใช้ไปแล้วก่อนหน้านี้
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. นพ.พรศักดิ์ อยู่เจริญ ผอ.กองโรคป้องกันได้ด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในประเทศไทยยังไม่มีการสั่งระงับการใช้วัคซีนดังกล่าว เพราะเป็นอำนาจของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงคือวัคซีนไข้เลือดออกตัวนี้เป็นวัคซีนตัวเดียวบนโลก เพิ่งได้รับการรับรองจากอย.ไปเมื่อปี 2559 มีการใช้บ้างในส่วนของรพ.เอกชน แต่ยังไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับฉีดทั่วไปภายในประเทศจึงยังไม่มีปัญหา แต่ในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ ทางกรมควบคุมโรคจะมีการหารือเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง ส่วนภาคเอกชนอาจจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง
นพ.พรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ผลข้างเคียงอาจจะเป็นอันตรายที่ไม่ถึงกับอันตรายรุนแรงนัก เพียงแต่ว่าหากฉีดในเด็กที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อนจะมีอาการมากกว่าเด็กที่ติดเชื้อมาก่อนแล้ว คือต้องเข้าใจธรรมชาติของโรคไข้เลือดออก จะมี 4 สายพันธุ์ จะรุนแรงในการติดเชื้อครั้งที่ 2 ดังนั้นถ้าคนไม่เคยติดเชื้อแล้วมาฉีดก็จะเหมือนเป็นการติดเชื้อครั้งที่ 1 ด้วยวัคซีน เพราะวัคซีนนี้เป็นวัคซีนเชื้อเป็น และลึกๆ แล้ววัคซีนตัวนี้ยังสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเดงกี่ทุกสายพันธุ์ไม่ดีนัก พออยู่ในพื้นที่ที่มียุงเยอะ หากโดนกัดอีกก็เสี่ยงเป็นการติดเชื้อครั้งที่ 2 และเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงขึ้น แต่หากคนที่เคยติดเชื้อมาแล้วมาฉีดครั้งที่ 2 การติดเชื้อครั้งที่ 2 จะไม่รุนแรง ดังนั้นภาครัฐจึงยังไม่ได้อนุมัติให้เป็นวัคซีนพื้นฐาน รอการวิจัยวัคซีนตัวอื่นๆ ในอนาคตที่จะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง
ด้านนพ.ทวี โชคิพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงบ่ายวันที่ 7 ธ.ค. จะเชิญผู้เชี่ยวชาญ อาทิ อย. ผู้เชี่ยวเชี่ยวชาญด้านสถิติ นักแปลภาษา สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย เพื่อวิเคราะห์กรณีเผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับผลที่ได้รับจากการฉีควัคซีนไข้เลือดออกในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยจะต้องดูว่าฉีดไปแล้วมีผลอย่างไร คนรับวัคซีนมีมากแค่ไหน
แต่เท่าที่ทราบยังไม่ใช่วัคซีนพื้นฐานที่ฉีดในรพ.รัฐ ในกลุ่มคนทั่วไป แต่เปิดให้ฉีดเสรีในรพ.เอกชน ที่ต้องการป้องกันไข้เลือดออก คาดว่าตอนนี้มีการนำเข้าและฉีดไปแค่ประมาณพันคนเท่านั้น ไม่เหมือนที่ฟิลิปปินส์ที่มียอดสูงถึงแสนคน
ทั้งนี้ ที่ต้องเอานักสถิติมาร่วมด้วยเพราะข้อมูลการแปลมีการเชื่อมโยงข้อมูลสถิติเชิงวิทยาศาสตร์ ที่ระบุถึงจำนวนคนป่วยและสัดส่วนของคนที่ได้รับวัคซีน จึงถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องการข้อมูลจำเพาะ และจะแจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการอีกครั้งร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 8 ธ.ค.นี้.