'ฟอร์บส์' จะเปิดเผยรายชื่อ 50 มหาเศรษฐีไทย พร้อมมีบทความระบุว่า ธุรกิจโทรทัศน์ไทยกำลังอยู่ในช่วงขาลง นับตั้งแต่รัฐบาลเปิดให้มีการประมูลช่องทีวีดิจิทัลกว่า 20 ช่อง ผู้ประกอบการจะประเมินกันว่าจะสามารถช่วงชิงค่าโฆษณาหลายแสนล้านบาทต่อปี ทำให้ราคาประมูลช่องทีวีดิจิทัลสูงมาก จนรัฐกวาดรายได้จากการประมูลไปได้มากกว่า 5 หมื่นล้านบาท
ในความเป็นจริง กระแสของทีวีดิจิทัลผ่านไปอย่างรวดเร็ว และปัจจุบัน อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลในประเทศไทยกำลังซบเซาอย่างมาก หลายช่องไม่สามารถทำเรตติ้งขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ ได้
โดยนายนภนต์ ใจแสน นักวิเคราะห์ด้านสื่อ จากบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวงระบุว่ารายได้จากโฆษณาทีวีในปี 2560 ตกลงมาจากเดิมถึงร้อยละ 6 มาอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกัน นิตยสารฟอร์บส์ยังระบุว่านับตั้งแต่การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรในเดือนตุลาคมปี 2559 ไทยก็อยู่ในช่วงไว้อาลัยอยู่นาน 1 ปี ทำให้คนดูทีวีน้อยลง ขณะเดียวกันราคาค่าโฆษณาลดลง การแข่งขันสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระค่าใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล และผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลยังต้องต่อสู้กับพฤติกรรมคนดูที่เปลี่ยนไป เมื่อหลายคนหันไปหาความบันเทิงและรับข่าวสารในสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตผ่านยูทูบและเฟซบุ๊ก แทนที่จะเปิดดูทีวี ทำให้ยอดคนดูทีวีจึงทรงตัวอยู่ที่ 33.3 ล้านคนและยอดลดลงไปเรื่อยๆ
นายโอบบุญ ถิรจิต ผู้อำนวยการ ฝ่ายจัดอันดับเครดิตภาคอุตสาหกรรมของบริษัทฟิทช์ เรตติ้งส์ในไทยคาดว่า ในปี 2561 การแข่งขันที่ดุเดือดจะยังทำให้ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลต้องทุ่มเงินมากขึ้น เพื่อผลิตเนื้อหารายการที่จะดึงดูดผู้ชมได้มากขึ้น
ขณะที่ ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลพยายามต่อรองให้รัฐบาลลดค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดินหรือพักชำระหนี้ค่าใบอนุญาต 3 ปี เนื่องจากกสทช.ก็ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขในการขยายพื้นที่ให้บริการทีวีดิจิทัลได้ตามเวลา แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับข้อตกลงเรื่องการผ่อนปรนการพักชำระหนี้ค่าใบอนุญาต
ธุรกิจทีวีดิจิทัลซบเซา ทรัพย์สินมหาเศรษฐีลดลง
เมื่อพิจารณาจากมูลค่าทรัพย์สินของนายวิชัย มาลีนนท์ มหาเศรษฐีที่มีอายุมากที่สุดในบรรดาเศรษฐี 50 คนของไทยลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งจากปี 2556 ที่มูลค่าทรัพย์สินประมาณ 65,000 ล้านบาท
โดยก่อนหน้านี้ บริษัท บีอีซี เวิล์ด ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของนายประชุม มาลีนนท์ ลูกชายคนเล็กของนายวิชัย ซึ่งประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัลในราคาสูงสุดกว่า 3,300 ล้านบาท แม้ช่องทีวีของบีอีซีเวิล์ดทั้ง 3 ช่องจะยังมีเรตติ้งดี แต่ราคาหุ้นของบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC กลับร่วงลงมากว่าร้อยละ 85 จากช่วงปี 2556 ที่เป็นช่วงพีคของบีอีซี เวิล์ด โดยบีอีซี เวิล์ดเปิดเผยว่า กำไรสุทธิของบริษัทลดลงมากร้อยละ 95 เหลือเพียง 1,900,000 บาทเท่านั้นในปี 2560 ที่ผ่านมา
ด้านมูลค่าทรัพย์สินของคุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล ประธานกรรมการบริษัท วัชรพล หรือ ไทยรัฐ ลดลงประมาณ 1 ใน 3 ไปให้กับไทยรัฐทีวี และก่อนหน้านี้มีการเลิกจ้าง (เลย์ออฟ) พนักงานออกด้วย
ส่วนนายกฤตย์ รัตนรักษ์ ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด และประธานกรรมการสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ก็ยังประสบปัญหาการดำเนินการทางด้านการเงิน แม้ช่อง 7 จะเป็นผู้นำตลาดก็ตาม
โดยปี 2559 รายได้ของช่อง 7 ลดลงกว่าร้อยละ 20 ขณะที่กำไรสุทธิลดลงมากกว่าร้อยละ 40 ทำให้มูลค่าทรัพย์สินของนายกฤตย์ร่วงจากประมาณ 160,000 ล้านบาทในปี 2557 ลงมาเหลือประมาณ 120,000 ล้านบาท
ที่มา: Forbes
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: