นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในปี 2561 พบว่า (ข้อมูล ณ วันที่ 24 มิ.ย. 2561) จังหวัดน่านมีเนื้อที่ปลูกลำไย 37,501 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 1.96 มีเนื้อที่ให้ผล 33,320 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.75 ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 643 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.07 ผลผลิตรวม 21,425 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.90 เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการติดช่อดอกและการเจริญเติบโตของผล และการดูแลเอาใจใส่ที่ดีขึ้นของเกษตรกร
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าผลผลิตลำไยจังหวัดน่านจะออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือน ก.ค. - กลางเดือน ก.ย. 2561 ว่าจะมีปริมาณผลผลิตในเดือนกรกฎาคม จำนวน 808 ตัน เดือนส.ค. จำนวน 16,913 ตัน และเดือนกันยายน จำนวน 3,704 ตัน โดยผลผลิตส่วนใหญ่ส่งออกไปต่างจังหวัดและต่างประเทศประมาณร้อยละ 70 ที่เหลืออีกร้อยละ 30 จำหน่ายภายในจังหวัดน่าน
ด้านนายบุญลาภ โสวัณณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก (สศท.2) กล่าวเสริมว่า ปี 2560 ที่ผ่านมา พบว่า ราคาที่เกษตรกรขายได้ของจังหวัดน่านลำไยสดตะกร้าขาวอยู่ระหว่าง 19 -22 บาทต่อกิโลกรัม ราคาลำไยช่อสด17 – 20 บาทต่อกิโลกรัม ลำไยสดร่วงเกรด AA 16.28 – 15.64 บาทต่อกิโลกรัม ลำไยสดร่วงเกรด A 11.73 – 8.11 บาทต่อกิโลกรัม ลำไยสดร่วงเกรด B 4.75-6.43 บาทต่อกิโลกรัม และลำไยสดร่วงเกรด C อยู่ที่ 1 บาทต่อกิโลกรัม
สำหรับทิศทางราคาในปีนี้คาดว่าจะปรับลดลงจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย เนื่องจากมีปริมาณลำไยในพื้นที่มาก และพบว่า ราคาลำไยสด Size AA แบบสดร่วงสูงกว่าแบบช่อสด ซึ่งขณะนี้ผลผลิตในจังหวัดยังออกสู่ตลาดน้อยคิดเป็นร้อยละ 3 สำหรับราคาลำไยช่อสดเกรด AA 20-21 บาทต่อกิโลกรัม ลำไยช่อสดเกรด A 16-17 บาทต่อกิโลกรัม ลำไยช่อสดเกรด B 15 บาทต่อกิโลกรัม ลำไยสดร่วงเกรด AA 25 บาทต่อกิโลกรัม ลำไยสดร่วงเกรด A 15 บาทต่อกิโลกรัม และ ลำไยสดร่วงเกรด B 5 บาทต่อกิโลกรัม
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการลำไยของจังหวัด ได้มีคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคเหนือร่วมกัน วางแนวทางการบริหารสมดุล Demand Supply ซึ่งในปีนี้จังหวัดน่านมีความต้องการใช้ (Demand) 50,965 ตัน ซึ่งเป็นความต้องการของผู้ประกอบการแปรรูปลำไยอบแห้งในจังหวัดและต่างจังหวัดสูงกว่าปริมาณผลผลิตที่มีในจังหวัด (Supply) ที่มีจำนวน 21,425 ตัน
อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่ผลผลิตที่ออกกระจุกตัว อาจส่งผลด้านราคาตามกลไกตลาดได้ซึ่งหน่วยงานภาครัฐทั้งที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การตลาด และบริษัทประชารัฐในจังหวัดได้เตรียมแผนบริหารจัดการสินค้าและเชื่อมโยงกับตลาดภายนอกจังหวัดเพื่อบริหารจัดการผลผลิตในช่วงที่ผลผลิตออกกระจุกตัวในช่วงเดือนสิงหาคมนี้เรียบร้อยแล้ว อาทิ การจำหน่ายลำไยเพื่อบริโภคสดในประเทศ โดยมุ่งเน้นกระจายออกนอกแหล่งผลิต ผ่าน Modern Trade ตลาดประชารัฐ ตลาดสดในจังหวัด เครือข่ายสหกรณ์ และการจัดมหกรรมสินค้าเกษตรของจังหวัด ตลอดจนการจำหน่ายให้ผู้ประกอบการแปรรูปเป็นลำไยอบแห้งทั้งเปลือก อบแห้งเนื้อสีทอง และการส่งออกผลสดไปยังตลาดต่างประเทศ จึงขอเชิญชวนผู้บริโภคร่วมสนับสนุนผลผลิตลำไยของเกษตรกร ซึ่งพร้อมออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนดังกล่าวนี้ด้วย