ไม่พบผลการค้นหา
ครม.เห็นชอบระงับการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ 3 เดือน (ส.ค.-ต.ค.) แก้ปัญหาราคาในประเทศตกต่ำ พร้อมอนุมัติงบกลางกว่า 3,100 ล้านบาท ช่วยเกษตรกรผู้ประสบภัยน้ำท่วมช่วงปี 2560

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหามะพร้าว โดยห้ามการนำเข้ามะพร้าวชั่วคราวในช่วงเวลา 3 เดือน หรือ ระหว่างเดือน ส.ค.- ต.ค. 2561 ตามที่คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่สินค้ามะพร้าวของไทยให้ผลผลิตมาก โดยมาตรการดังกล่าวจะช่วยพยุงราคามะพร้าวภายในประเทศไม่ให้ราคาตกต่ำ จากการตีตลาดของมะพร้าวที่นำเข้า

เนื่องจากในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมามีความต้องการใช้มะพร้าวกว่า 1.25 ล้านตัน ขณะที่เพาะปลูกในประเทศได้ผลผลิตเพียง 8.7 แสนตัน/ปี จึงจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ กระทั่งในปี 2559 มีวิกฤตการณ์แมลงศัตรูพืช ทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง ราคามะพร้าวดีขึ้น พอมาปี 2561 ปัญหาแมลงศัตรูพืชระบาดหมดไป และผลผลิตต่อไร่ยังสูงขึ้น ทำให้ราคามะพร้าวตกลง

โดยขณะนี้ราคามะพร้าว จ.ประจวบคีรีขันธ์ อยู่กิโลกรัมละ 5 บาท ชุมพร 2 บาท สุราษฏร์ 2.50 บาท และนครศรีธรรมราชประมาณ 2 บาทต่อผล ต่างกันที่ราคาขนส่ง โดยราคาต้นทุนที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประมาณอยู่ที่ 7.50-8 บาทต่อผล

สำหรับในปี 2561 คาดว่าผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ปริมาณ 0.833 ล้านตัน และ 754 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 0.860 ล้านตัน และ 783 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.27 และร้อยละ 3.85 ตามลำดับ คาดว่ามีปริมาณความต้องการใช้ 1.1 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 22.05 จากปี 2560 (1.413 ล้านตัน)

ขณะที่ ราคามะพร้าวผลปี 2561 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเดือน ม.ค. - มิ.ย. ที่ผ่านมา ราคามะพร้าวเฉลี่ยกิโลกรัมละ 9.74 บาท ล่าสุดราคามะพร้าวในเดือนมิ.ย. อยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 5.96 บาท ลดลงจากปี 2560 ในเดือนเดียวกันที่ราคากิโลกรัมละ 14.10 บาท หรือลดลงร้อยละ 58

อนุมัติงบกลางช่วยเกษตรกรประสบภัยน้ำท่วมปี 2560

ขณะเดียวกัน ครม. มีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยภาคใต้ปี 2560 (ช่วง 1 พ.ย.-31 ธ.ค. 2560) 

พร้อมกับอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2560 ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือครัวเรือนละ 3,000 บาท รวม 3 ช่วงภัย ได้แก่ (1) ช่วงภัยวันที่ 5 ก.ค.-15 ส.ค. 2560 (พายุตาลัสและเซินกา) (2) ช่วงภัยวันที่ 16 ส.ค. - 31 ต.ค. 2560 (พายุทกซูรี หย่อมความกดอากาศ และร่องมรสุม) และ (3) ช่วงภัยวันที่ 1 พ.ย.-31 ธ.ค. 2560 กรอบวงเงินทั้งสิ้น 3,136.735 ล้านบาท โดยขอถัวจ่ายงบประมาณระหว่างภัยได้ ทั้งนี้ คำขออนุมัติจัดสรรงบประมาณของกระทรวงเกษตรฯ ให้ถือว่าเป็นคำขออนุมัติจัดสรรงบประมาณของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ทั้งนี้ ยังให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่กระทรวงการคลังอนุมัติให้ขยายเวลาเบิกจ่ายเงินงบประมาณถึงวันทำการสุดท้ายของเดือนกันยายน 2561 ในกรอบวงเงิน 3,136.735 ล้านบาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือ มีลักษณะเดียวกับการช่วยเหลือที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2560 และ 7 พ.ย. 2560 โดยกำหนดคุณสมบัติเกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือ มีดังนี้

(1)  เกษตรกรที่มีพื้นที่การผลิตอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน [อุทกภัย หรือ อุทกภัยและวาตภัย หรืออุทกภัยและ....(หมายถึง อุทกภัยและภัยอื่น ๆ ตามที่จังหวัดประกาศ) หรือน้ำไหลหลาก หรือน้ำเอ่อล้นตลิ่ง] ช่วงภัยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.- 31 ธ.ค. 2560 ในพื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา สุราษฎร์ธานี สงขลา สตูล และพังงา และต้องเป็นเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2560 (ช่วงพายุตาลัสและเซินกา) และวันที่ 7 พ.ย. 2560 (ช่วงพายุทกซูรี หย่อมความกดอากาศ และร่องมรสุม)

(2) เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรและมีการทำกิจกรรมการเกษตรตามที่แจ้งขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของ กษ. ก่อนเกิดภัยเท่านั้นหากเกษตรรายใดได้รับผลกระทบมากกว่า 1 ด้าน ให้ได้รับการช่วยเหลือเพียง 1 ด้าน (ด้านพืช ด้านประมง หรือด้านปศุสัตว์) โดยให้เกษตรกรเป็นผู้ระบุว่าจะขอรับการช่วยเหลือด้านใด

(3)  เป็นเกษตรกรที่มีคุณสมบัติตาม (1) และ (2) และคณะกรรมการระดับหมู่บ้าน/ชุมชนรับรอง 

ส่วนการบริหารจัดการ คณะกรรมการตรวจสอบและรับรองข้อมูลเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ระดับจังหวัด และระดับกระทรวง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :