นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องของการจัดสรรโควตาส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรป (อียู) ว่า ครม.มีมติให้ขยายปริมาณการจัดสรรโควตาส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรป (อียู) แก่ผู้ประกอบการค้าขายข้าวที่เชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP (ข้าวที่มีการปฏิบัติตามระบบการเกษตรที่ดี) แบบครบวงจร ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
โดยขยายปริมาณการจัดสรรโควตาการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรป ให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ ภายใต้โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร เป็นร้อยละ 25 หรือ 5,000 ตัน จากเดิมร้อยละ 10 หรือ 2,000 ตัน ของปริมาณโควตาทั้งหมด ภายในปี 2564 เพื่อให้ปริมาณข้าวอินทรีย์มีตลาดรองรับตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และหวังเป็นการสร้างแรงจูงใจแก่เกษตรกร
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการฯ ที่อยู่ในโควตาร้อยละ 10 แรก สามารถส่งออกข้าวชนิดใดก็ได้ตามเงื่อนไขของสหภาพยุโรป ส่วนผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่ในโควตาที่เกินร้อยละ 10 จะต้องใช้โควตาเพื่อการส่งออกข้าวอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Organic Thailand หรือ ได้มาตรฐานข้าวอินทรีย์ของประเทศปลายทางเท่านั้น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกันดำเนินงานโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร ปี 2560/2561 โดยมีกระทรวงพาณิชย์จัดสรรโควตาการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรปให้กับโครงการจำนวน 2,000 ตัน หรือ ร้อยละ 10 ของปริมาณโควตาทั้งหมด สำหรับเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์กับกลุ่มเกษตรกร
โดยมีผู้ประกอบการค้าข้าวทั้งสิ้น 28 ราย ที่ได้ทำบันทึกข้อตกลงซื้อขายข้าว (MOU) และรับซื้อข้าวจากเกษตรกร แบ่งเป็น ข้าวอินทรีย์จากเกษตร 60 กลุ่ม มีปริมาณข้าวเปลือก 1,716.32 ตัน ข้าว GAP จากเกษตรกร 14 กลุ่ม มีปริมาณข้าวเปลือก 4,975.15 ตัน รวมทั้งสิ้นเป็นเกษตรกร 74 กลุ่ม ปริมาณข้าวเปลือก 6,691.47 ตัน
ขณะที่ มีผู้ประกอบการค้าข้าว 9 ราย ได้รับการจัดสรรโควตาการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรป ปริมาณ 2,000 ตัน โดยส่งออกข้าวปริมาณ 1,962.36 ตัน (ร้อยละ 98) คงเหลือ 37.64 ตัน ซึ่งส่วนที่เหลือนี้จะนำไปรวมเป็นโควตากองกลางสำหรับการจัดสรรต่อไป
อีกด้านหนึ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แบ่งชนิดของข้าวในโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวที่ผ่านการเตรียมความพร้อม (T1) ข้าวที่ผ่านระยะปรับเปลี่ยนแล้ว (T2) และข้าวที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอินทรีย์ (T3) ซึ่งพบว่า ตั้งแต่ปี 2561-2564 จะมีข้าวอินทรีย์ที่โครงการรวมกันถึง 997,000 ตันข้าวเปลือก
นบข. เห็นชอบขยายปริมาณจัดสรรโควตา สั่งพาณิชย์-เกษตรประเมินผลผลิต-ส่งออกรายปี
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้มีมติรับทราบผลการดำเนินงานโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และเป็นเป้าหมายโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ปี 2560/2561 และเห็นชอบการขยายปริมาณการจัดสรรโควตาดังกล่าว รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาสัดส่วนโควตาที่เหมาะสมตามการประเมินผลผลิตข้าวในโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสถิติการส่งออกข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ประมวลได้เป็นรายปีต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีรายงานสถานการณ์ข้าวโลก ปี 2561/2562 ตามที่กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา หรือ USDA คาดการณ์ ณ สิ้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า ผลผลิตข้าวโลก จะมีปริมาณ 487.57 ล้านตัน ลดลงจากปีการผลิต 2560/2561 ร้อยละ 0.20 เนื่องจากคาดว่า ผลผลิตข้าวของจีน อินเดีย และปากีสถาน จะมีปริมาณลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 0.20 และจีนปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นแทนข้าว เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง
ขณะที่ การบริโภคข้าวโลกปี 2562 จะมีปริมาณ 487.81 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.31 จากปี 2561 เนื่องจากประชากรโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนสต็อกข้าวโลก ปลายปี 2562 จะมีปริมาณ 143.57 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 0.17 จากปลายปีนี้
สำหรับการส่งออกช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-21 ส.ค. 2561) พบว่า อินเดียส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก ในปริมาณ 7.98 ล้านตัน รองลงมาคือ ไทย ส่งออก 6.81 ล้านตัน เวียดนาม 4.65 ล้านตัน ปากีสถาน 2.08 ล้านตัน และสหรัฐฯ 1.94 ล้านตัน
โดยราคาข้าวไทยเทียบกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญ พบว่า ราคาส่งออกข้าวสารของ The Rice Trader ณ วันที่ 27 ส.ค. 2561 ข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ ปากีสถานและเวียดนาม ขายที่ตันละ 395 ดอลลาร์สหรัฐ อินเดีย 390 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ไทย 385 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ส่วนข้าวหอม อินเดียขายตันละ 1,080 ดอลลาร์สหรัฐ ไทยขายตันละ 818 ดอลลาร์สหรัฐ เวียดนามตันละ 525 ดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ราคาส่งออกข้าวไทยส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากอยู่ระหว่างส่งมอบข้าวเอกชนและมีคำสั่งซื้อข้าวเพิ่มเติมจากภูมิภาคเอเชีย ขณะที่ราคาข้าวหอมมะลิปรับตัวลดลงเนื่องจากผู้นำเข้ารอประเมินผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่
คาดปี 2561/2562 ราคาข้าวทรงตัว ยกเว้นข้าวเปลือกหอมมะลิอาจปรับตัวลดลง
สำหรับการเพาะปลูกข้าวไทยปี 2561/2562 รอบที่ 1 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดเป้าหมายพื้นที่ส่งเสริมการปลูกข้าว รอบที่ 1 จำนวน 58.21 ล้านไร่ ขณะที่เพาะปลูกแล้ว 48.22 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 82.84 ของเป้าหมาย และมีการเก็บเกี่ยวแล้ว 3.51 ล้านไร่ ทั้งนี้ หลายจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง เช่น พิษณุโลก พิจิตร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เช่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ประสบภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ต้นข้าวขาดน้ำในแปลงนามีวัชพืชมาก ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวรอบที่ 2
ส่วนการเพาะปลูก รอบที่ 2 กระทรวงเกษตรฯ กำหนดเป้าหมายพื้นที่ส่งเสริมการปลูกข้าว จำนวน 12.21 ล้านไร่ เกษตรกรจะเพาะปลูกช่วงเดือน พ.ย. 2561-เม.ย. 2562 การขึ้นทะเบียนเกษตรกร ปี 2561/2562 รอบที่ 1 มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวแล้ว 3.37 ล้านครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 84.25 ของเป้าหมาย ที่มี 4 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 46.18 ล้านไร่
ด้านสถานการณ์ราคาข้าว พบว่า ส่วนใหญ่ทรงตัวใกล้เคียงกับครั้งที่ผ่านมา ยกเว้นข้าวเปลือกหอมมะลิที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อย และปรับตัวตามความต้องการของตลาดและปริมาณข้าว
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรชี้ข้าวหอมมะลิบุรีรัมย์ตันละ 17,500 บาท
นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานสถานการณ์ราคาข้าว ณ วันที่ 6 พ.ย. ระบุว่า ข้าวเปลือกเจ้าพันธุ์ หอมปทุมธานี 1 ความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์หอมปทุมธานี 1 หจก.โพธิบูรพ์ ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ราคา 10,500 บาท/ตัน ส่วน ความชื้น 25 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์หอมปทุมธานี 1 หจก.โพธิบูรพ์ ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ราคา 9,000 บาท/ตัน
ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ 105 ( ต้นข้าว 35 กรัม ) จากท่าข้าว ธ.ก.ส. อ.เมือง จ.ขอนแก่น ราคา 15,000 บาท/ตัน ตลาดกลางพืชไร่ อ.เมือง จ. ศรีสะเกษ ราคา 16,000 บาท/ตัน โรงสีไฟไทยเจริญวัฒนา อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ราคา 16,500 บาท/ตัน โรงสีกิจทวียโสธร อ.เมือง จ.ยโสธร ราคา 16,800 บาท/ตัน โรงสีสหพัฒนา อ.สะตึก จ.บุรีรัมย์ ราคา 17,500 บาท/ตัน โรงสีเต็กเฮง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ราคา 17,000 บาท/ตัน และ โรงสีสหกรณ์การเกษตรสุวรรณภูมิ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ราคา 15,000 บาท/ตัน
อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ105 (ต้นข้าว 35 กรัม) เป็นราคาข้าวใหม่ ส่วนข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ 105 (ต้นข้าว 35 กรัม) จ.สุรินทร์ และ จ.อำนาจเจริญ ราคาสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการมากขึ้น และข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ 105 (ต้นข้าว 35 กรัม) จ.ยโสธร ราคาลดลง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :