ไม่พบผลการค้นหา
ประเด็น ‘ความเป็นส่วนตัว’ และ ‘พื้นที่สาธารณะ’ เป็นคู่ตรงข้ามที่มักหยิบยกมาตั้งคำถาม ถกเถียง หรือนิยามใหม่ในหลายๆ ศาสตร์ จริงอยู่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และพร้อมจะเปิดบทสนทนา หรือปฏิสัมพันธ์ แต่ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร บวกกับลักษณะการขยายตัวของความเป็นเมืองสมัยใหม่ ที่ประชากรต้องเบียดเสียดยัดเยียดกันเป็นปลากระป๋อง ส่งผลให้คุณภาพชีวิตสาธารณะตกต่ำต่อเนื่อง ผู้คนจำนวนมากจึงกำลังต้องการเว้นระยะห่าง ขีดขอบเขตความเป็นส่วนตัว ซึ่งมันเป็นเหมือนมุมสงบเงียบ หลบความวุ่นวาย และสร้างความรู้สึกปลอดภัย

‘ความเป็นส่วนตัว’ บน ‘พื้นที่สาธารณะ’ สามารถเรียกอีกแบบหนึ่งได้ว่า ‘ระยะห่างระหว่างบุคคล’ (Personal Space) ในหนังสือเรื่อง The Spaces Between Us ผลงานของ ไมเคิล กราเซียโน (Michale Graziano) นักวิทยาศาสตร์ และนักเขียนชาวอเมริกัน ถ่ายทอดเรื่องราวการศึกษาระยะห่างระหว่างบุคคลเอาไว้อย่างน่าสนใจ

the-spaces-between-us.jpg

หนังสือเล่มนี้บอกว่าสัญชาตญานเรื่องพื้นที่ส่วนตัวถูก เฮนีย์ เฮดิเกอร์ (Heini Hediger) ผู้อำนวยการสวนสัตว์ซูริค หยิบมาศึกษาผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรกในปี 1950 โดยเขาค้นพบว่า สัตว์จะรู้สึกสบายใจมากขึ้นหากพวกมันอาศัยอยู่ในกรงที่ผ่านการออกแบบมาอย่างเหมาะสม ครอบคลุมทั้งเรื่องขนาด และรูปทรง เพราะพวกมันสามารถรับรู้ว่า ตัวเองกำลังถูกปกป้องเป็นพิเศษจากอันตรายภายนอก

อย่างไรก็ตาม เมื่อเฮดิเกอร์ออกเดินทางไปศึกษาสัตว์ที่อยู่ตามธรรมชาติเขาพบว่า สัตว์จำนวนหนึ่งรู้สึกสบายใจในแบบเดียวกัน ภายใต้เงื่อนไขว่า พวกมันต้องอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งห่างไกลจากศัตรูตามธรรมชาติ

ตัวอย่างเช่น เมื่อวิลเดอร์บีสต์ (สัตว์ตระกูลวัว แต่รูปร่างคล้ายกวาง) พบนักล่าอย่างสิงโต หรือสิ่งแปลกปลอมจากธรรมชาติอย่างมนุษย์ที่เดินถือกล้องอยู่แถวนั้น มันกลับไม่ได้วิ่งหนีทันที แต่เลือกจะรอจนกว่าสิงโตเดินลับไปในที่ที่ผู้อำนวยการสวนสัตว์ซูริคเรียกว่า ‘พื้นที่คุ้มกันสมมติ’ (Invisible Protected Zone) และค่อยๆ เคลื่อนตัวออกไปในระยะห่างพอจะหลบหนี หากเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น! 

ทั้งนี้ พื้นที่คุ้มกันสมมติของสัตว์แต่ละประเภทก็แตกต่างกันออกไป เช่น จระเข้จะอยู่ประมาณ 50 เมตร ส่วนกิ้งก่าต้องเข้าใกล้มากๆ ก่อนมันจะวิ่งหนี

ต่อมาการศึกษาของเฮดิเกอร์ถูก เอ็ดเวิร์ด ฮอลล์ (Edward Hall) นักจิตวิตวิทยาชาวอเมริกัน นำมาตีความอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเมื่อปี 1966 ฮอลล์ตีพิมพ์หนังสือนิยามระยะห่างระหว่างบุคคลของมนุษย์ในชื่อ ‘The Human Dimension’ ซึ่งเขาทำการเปรียบเทียบมนุษย์ในลักษณะคล้ายคลึงกับที่เฮดิเกอร์เคยศึกษาสัตว์ไว้ เช่น บ้านของมนุษย์เปรียบเสมือนพื้นที่คุ้มกันสมมุติของสัตว์ แต่แตกต่างกันตรงมนุษย์ไม่ได้มีบ้าน หรือสร้างโซนป้องกันไว้หลีกจากอันตรายเพียงอย่างเดียว เพราะอีกแง่หนึ่งมันหมายถึง ‘การเคารพผู้อื่นด้วย’

ฮอลล์ยังคิดว่า ความแตกต่างทางวัฒนธรรมส่งผลให้ระยะห่างระหว่างบุคคลมีหน้าตาไม่เหมือนกัน นักจิตวิทยาแดนลุงแซมบอกว่า ชาวอาหรับมีระยะห่างระหว่างบุคคลไม่มากนัก พวกเขามักรวมกลุ่มกันอย่างใกล้ชิด เมื่อต้องการถกปัญหาสักเรื่องหนึ่ง ขณะเดียวกันพวกเขาก็นิยามการสร้างกำแพงป้องกันตัวเองของชาวสหราชอาณาจักรว่า ‘ระยะห่างระหว่างบุคคลราคาแพง’ (Expensive Personal Space) จากวัฒนธรรมอันหรูหราของพวกเขา ซึ่งการเปรียบเทียบลักษณะดังกล่าวทำให้เกิดข้อถกเถียงตามมามากมาย เพราะดูเหมือนฮอลล์กำลังประทับตราวัฒนธรรมที่แตกต่างไปเรียบร้อยแล้ว แถมยังไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน โดยนักจิตวิทยาหลายคนเห็นว่า พื้นที่ส่วนบุคคลควรจะเป็นเรื่องราวอันหลากหลายมากกว่าที่ฮอลล์เผยแพร่ออกมา

แม้จะเกิดการถกเถียงมากมาย แต่การแยกประเภทพื้นที่ส่วนตัวของฮอลล์ก็ยังค่อนข้างน่าสนใจอยู่ โดยเขาแบ่งมันออกเป็น 4 ระยะคือ ระยะสนิทสนม, ระยะส่วนตัว, ระยะสังคม และระยะสาธารณะ

‘ระยะสนิทสนม’ ของนักจิตวิทยากำหนดไว้ใกล้มากขนาดไม่สามารถเพ่งสายตามองเห็นวัตถุตรงหน้าได้อย่างชัดเจนเลยด้วยซ้ำ ตามมาด้วย ‘ระยะส่วนตัว’ จะห่างประมาณช่วงแขนเอื้อม หรือเป็นระยะที่ใช้ในการสนทนากับเพื่อน ส่วน ‘ระยะสังคม’ จะห่างออกไป และดูเป็นทางการมากยิ่งขึ้น ใช้ในการพูดคุยธุรกิจ หรือสนทนากับบุคคลที่รู้จักกันไม่นาน สุดท้ายคือ ‘ระยะสาธารณะ’ ใช้สำหรับการปรากฎตัวอย่างเป็นทางการ และจำเป็นต้องใช้เสียงดังขึ้นด้วย

หลังจากฮอลล์ตีพิมพ์ทฤษฏีออกมา นักจิตวิทยาหลายคนเริ่มทำการทดลองตามแนวคิดของเขา เพื่อศึกษาปรากฎการณ์ของระยะห่างระหว่างบุคคลให้แน่ชัดขึ้น หนึ่งในการทดสอบตั้งเงื่อนไขให้อาสาสมัครเดินเข้าหากัน และต้องหยุดเมื่อรู้สึกว่าพื้นที่ส่งผลทำให้เกิดความไม่สบายใจ เมื่ออาสาสมัครรู้สึกว่าถูกจับตามอง และวัดผลระหว่างการทดลอง ความรู้สึกประหม่าที่เกิดขึ้น ทำให้ผลของการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

อีกการทดลองหนึ่งให้อาสาสมัครเดินเข้าไปหาคนแปลกหน้าตามพื้นที่สาธารณะ และคอยดูว่าเป้าหมายใช้เวลาเท่าไหร่ก่อนเขยิบตัวออกไปในพื้นที่ส่วนบุคคลของตัวเอง โดยสถานที่ทดลองคือ ‘ห้องน้ำ’ เมื่อผู้ทดลองเข้าไปในระยะกระชั้นชิด เป้าหมายแสดงความประหม่าออกมาชัดเจน และใช้เวลานานกับการเริ่มต้นปัสสาวะ ซึ่งเวลาก่อนจะเริ่มต้นปัสสาวะรวมถึงเวลาการขับถ่ายออกมาผกผันตามระยะห่างของอาสาสมัคร

การทดลองมากมายภายใต้ทฤษฎีของฮอลล์ มีผลลัพธ์อย่างหนึ่งที่ปรากฎเสมอมาคือ ระยะของพื้นที่ส่วนบุคคลจะขยายตัวตามความกระวนกระวายใจ เมื่อร่างกาย และสมองเอ่อล้นไปด้วยความเครียด และประหม่า พื้นที่ส่วนบุคคลมีแนวโน้มขยายตัว และรู้สึกเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นมากขึ้น ขณะเดียวกันหากคุณเต็มไปด้วยความผ่อนคลาย พื้นที่ส่วนบุคคลก็จะหดตัวลงมา

งานวิจัยเกี่ยวกับระยะห่างระหว่างบุคคลจำนวนหนึ่งมีความเห็นตรงกันว่า ผู้หญิงมักจะมีพื้นระยะห่างที่กว้างกว่าผู้ชายเสมอ อีกทั้งบุคคลที่มีสถานภาพเป็น ‘สาธารณชน’ หรือ ‘ผู้มีอำนาจ’ มักจะลดระยะห่างระหว่างบุคคลลง และพร้อมจะสนิทชิดเชื้อกับผู้อื่นมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพบกันแบบตัวต่อตัว

ในปี 1990 นักประสาทวิทยาได้ให้กำเนิดปรากฎการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ในการศึกษาระยะห่างระหว่างบุคคล เมื่อพวกเขาพบว่า เครือข่ายของเซลล์ประสาทในสมองจะทำการติดตามวัตถุใกล้เคียง ทำให้มนุษย์รู้สึกถึงการมีอยู่ของบุคคลรอบข้างเสมอ ซึ่งนักประสาทวิยาเรียกสิ่งนี้ว่า ‘เซลล์ประสาทส่วนบุคคล’ (Peripersonal Neurons)

ช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เซลล์ประสาทส่วนบุคคลมีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมในสังคมมากขึ้น และทำหน้าที่ควบคุมจิตใต้สำนึก คิดคำนวณขอบเขตของความปลอดภัย วิธีการ และปฏิกริยาการโต้ตอบกับบุคคลอื่น ซึ่งกลไกดังกล่าวทำงานด้วยความราบรื่นจนแทบไม่รู้สึกตัวถึงการมีอยู่ หรือกระบวนการที่เกิดขึ้น

http://thewilsonian.typepad.com/.a/6a012877006cf7970c0133ed14ea2c970b-pi


Journal of Cross-Cultural Psychology วารสารเกี่ยวกับความแตกต่างทางวัฒนธรรมเชิงจิตวิทยา เผยแพร่ในปี 2017 ระบุว่า แต่ละคนล้วนมีระยะห่างที่ไม่ต้องการให้ผู้อื่นเข้าใกล้ต่างกันออกไป สำหรับคนอาร์เจนตินา ไม่ต้องการให้คนแปลกหน้าเข้าใกล้เกินระยะ 76 เซนติเมตร สามารถให้คนรู้จักเข้าใกล้ได้ในระยะ 60 เซนเมตร และพวกเขายินดีให้คนสนิดชิดเชื้อเข้าใกล้ได้ในระยะ 39 เซนติเมตร 

งานวิจัยชิ้นเดียวกันเปิดเผยว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในอเมริกาใต้มีความต้องการระยะห่างระหว่างบุคคลน้อยกว่าประเทศแถบเอเชียอย่างเห็นได้ชัด โดยสถานที่ และวัฒนธรรมส่งผลให้พื้นที่ส่วนตัวของแต่ละประเทศมีระยะแตกต่างกันออกไป

ผู้คนจากโรมาเนียต้องการให้คนแปลกหน้าอยู่ไกลจากพวกเขา แต่ยินดีให้เพื่อนเข้าใกล้มากกว่าประเทศอื่น ขณะที่ผู้คนจากซาอุดิอาระเบีย ต้องการให้คนใกล้ชิดอยู่ห่างจากตัวเองในระยะเดียวกับที่ชาวอาร์เจนตินาต้องการสำหรับคนแปลกหน้า แต่คนฮังการียินดีให้คนรัก และคนแปลกหน้าเข้ามาใกล้ในระยะเดียวกันที่ 75 เซนติเมตร

พวกเขายังค้นพบอีกว่า ประชาชนผู้อยู่อาศัยในเมืองร้อนต้องการระยะห่างน้อยกว่าประเทศในเมืองหนาว และเมื่ออายุมากขึ้นระยะห่างระหว่างบุคคลก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

ย้อนกลับมาที่ ไมเคิล กราเซียโน นักวิทยาศาสตร์และนักเขียนชาวอเมริกัน กล่าวผ่านบทความ The Unconcious Rules of Personal Space ในฐานะที่ศึกษาเรื่องระยะห่างระหว่างบุคคลมานานกว่าทศวรรษ เขาสามารถพูดได้เต็มปากว่า สังคมของมนุษย์กำลังอพยพเข้าสู่โลกออนไลน์

พื้นที่ของการพูดคุย และปฏิสัมพันธ์เชิงกายภาพของมนุษย์ ถูกแทนที่ด้วยทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และการพิมพ์ข้อความ ส่งผลให้การสื่อสารของมนุษย์ในปัจจุบันมีความเป็นทางการน้อยลง

กราเซียโนบอกอีกด้วยว่า มนุษย์ดื่มดำไปกับพื้นที่สมมติในโลกออกไลน์ ส่งผลให้ระยะห่างระหว่างบุคคลเปลี่ยนไป ผู้คนมากมายใช้เวลาทั้งวันท่องไปในโลกสมมติ และขาดการปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัว ส่งผลให้ทักษะการเข้าสังคมตกลงมาอยู่ในขั้นพื้นฐาน

เดิมทีกราเซียโนคาดว่า การเปลี่ยนแปลงสังคมจากการปฏิสัมพันธ์ต่อหน้าไปอยู่ในโลกสมมติจะกลายเป็นหายนะ ทักษะทางสัมคมของมนุษย์ที่วิวัฒนาการต่อเนื่องมาหลายพันปี กำลังจะถูกทำลาย ซึ่งอาจเกิดปัญหายุ่งเหยิงในการพัฒนาทางสังคมตามมาในอนาคต เราอาจจะสูญเสียความสามารถในการเชื่อมโยงกับผู้อื่นแบบลึกซึ้ง โดยเฉพาะเมื่อปรากฎการณ์ที่เลวร้ายอย่าง การกลั่นแกล้งทางสังคมออนไลน์ (Cyber Bullying) ปรากฏให้เห็นออกมาเป็นระยะ

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ และนักเขียนชาวอเมริกันเชื่อว่า เรายังมีความหวังกับสังคมแบบใหม่ที่เกิดขึ้น เพราะปรากฎการณ์อย่าง #MeToo หรือ #TimesUp ซึ่งเป็นการยืนหยัดขับเคลื่อนสังคม คงไม่มีวันเกิดขึ้น หรือไม่โด่งดังจนถูกพูดถึงทั่วโลก หากไม่มีตัวกลางอย่างสังคมออนไลน์

บนเส้นทางอันยาวไกลของการคุกคามทางเพศ คือการที่ระยะห่างระหว่างบุคคลถูกกลั่นแกล้ง และนำไปแสงหาผลประโยชน์ มันเป็นปรากฎการณ์ของผู้ชายเจ้าชู้ที่พยายามครอบครอง และลุกล้ำระยะห่างระหว่างบุคคลของผู้หญิง สังคมออนไลน์สามารถดึงระยะห่างระหว่างบุคคลให้ใกล้กันมากกว่าการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันมันจะทำให้เสียงของผู้หญิงดังไกลมากไปกว่าเดิม

ความเข้าใจในระยะห่างระหว่างบุคคลเป็นเรื่องน่าสนใจ และช่วยให้เข้าใจแต่ละบทบาทของสังคมมากขึ้น แคทเธอรีน ซอเรลล์ (Kathryn Sorrells) ศาสตราจารย์จากภาควิชาการสื่อสารศึกษา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เขตนอร์ธริจ อธิบายวัฒนธรรมที่แตกต่างของระยะห่างระหว่างบุคคลกับ NPR ว่าระยะห่างที่แตกต่างกันของแต่ละวัฒนธรรมสามารถบ่งบอกอะไรได้หลายอย่าง มันบอกเรามากมายเกี่ยวกับธรรมชาติของความสัมพันธ์ ถ้าใครก็ตามรุกล้ำเข้ามาในระยะห่างส่วนบุคคลใกล้กว่าที่คุณเคยชิน คุณจะสับสนว่ามันเกิดอะไรขึ้น และง่ายมากที่จะเข้าใจผิดว่าผู้ที่รุกล้ำต้องการจะสื่อสารอะไรออกมา โดยเฉพาะเมื่อคุณมองมันผ่านวัฒธรรมของตัวเอง

ที่มา:

On Being
198Article
0Video
0Blog