ความรุนแรงที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำและพลเมืองในฐานะเหยื่อเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ราวกับทุกฝ่ายหลงลืมกันเสียหมดว่าเมื่อวางบทบาทและหน้าที่ทางสังคมลงทุกคนเป็น 'มนุษย์' ไม่ต่างกัน
ตลอดช่วงการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและการปฏิรูปประเทศของไทยตั้งแต่กลางปี 2563 ไล่มาจนถึง ม.ค.ปี 2564 พฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ซึ่งใช้ความรุนแรงในการปราบปรามและสลายการชุมนุมเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดต่อทั้งสายตาคนไทยและต่างชาติ
ในอีกฟากของโลก โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับ 'จอร์จ ฟลอยด์' ยังคงตามหลอกหลอนผู้คนไม่เสื่อมคลายว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่ตำรวจเหล่านั้นถึงไร้ซึ่งจิตสำนึกความเป็นมนุษย์ถึงเพียงนี้ ซ้ำร้าย เมื่อประชาชนออกมาแสดงความไม่พอใจและเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปองค์กรตำรวจในสหรัฐฯ โลกยังได้พบเห็นความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ซ้ำรอยเดิมในม็อบเหล่านั้น
แม้แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะรวบรวมสถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่รายงานสรุปจาก 'โครงการวิจัยอิสระ' (Small Arms Survey) ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2550 - 2555 มีพลเรือนที่เสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายและมีเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ปีละประมาณ 19,000 ราย จากข้อมูลของทั้งหมด 33 ประเทศทั่วโลก
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชัลแนล องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศระบุว่า ในประเทศที่มีอัตราความรุนแรงที่เกิดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสูง สาเหตุที่แท้จริงมักเกิดจากการรวมตัวกันขององค์ประกอบหลายประการ อาทิ กฎหมายที่ยังไม่เข้มแข็งพอ, ปัญหาการเหยียดเชื้อชาติหรือการเหยียดหยามกันด้วยปัจจัยอื่น, ความไม่ปลอดภัยและความขัดแย้ง ไปจนถึงระบบนิรโทษกรรม
โดยมากพบว่า รัฐบาลที่ปกครองประเทศโดยการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อาทิ เสรีภาพในการแสดงออก หรือเสรีภาพในการชุมนุมโดนสันติ มักบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตอบโต้การแสดงออกและการชุมนุมประท้วงเหล่านี้ด้วยความรุนแรง เช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับ อิรัก, อิหร่าน, ซูดาน หรือฮ่องกง
เท่านั้นยังไม่พอ หลายประเทศยังบังคับใช้กฎหมายนิรโทษกรรมให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเหล่านี้ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ไม่รู้สึกถึงภาระที่ต้องรับผิดชอบหากตนเองปฏิบัติหน้าที่โดยขาดวินัยและจริยธรรมที่ควรเป็น
ในทางหนึ่ง เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวโทษตัวเจ้าหน้าที่รายบุคคลซึ่งอาจเรียกว่าเป็น 'เนื้อร้าย' ทำลายภาพลักษณ์องค์กรหรือผู้ปฏิบัติงานคนอื่น โดยมีเหตุปัจจัยมาจากเงื่อนไขหลากหลาย อาทิ จุดยืนทางการเมือง ความเชื่อในเชิงศาสนา หรือแม้แต่ศรัทธาต่อสีผิว อย่างไรก็ดี ปัญหาที่แท้จริงยังคงอยู่ที่ระบบบริหารเจ้าหน้าที่โดยรวมซึ่งมักสั่งการจากผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศ
บทความจาก The Atlantic ซึ่งวิเคราะห์สาเหตุอันนำไปสู่ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ สรุปในช่วงหนึ่งว่า แม้ต้นตอความรุนแรงจะสามารถแบ่งได้เป็นจากฝั่งตัวเจ้าหน้าที่เองและระบบที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่ แต่รากแก้วของปัญหาที่หยั่งลึกลงไปในวัฒนธรรมความรุนแรงเหล่านี้มาจาก 'วัฒนธรรมลดทอนความเป็นมนุษย์'
บทความดังกล่าวระบุว่า ความรุนแรงทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นจากการลดทอนความเป็นมนุษย์ การมองไม่เห็นใบหน้าความเป็นคนในผู้อื่น การมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ในผู้อื่น ซึ่งระบอบวัฒนธรรมลดทอนความเป็นมนุษย์เหล่านี้ถูกฝังอยู่ในองค์กรตำรวจมากมาย ทว่าก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้เพียงแต่ต้องใช้เวลา
เนื้อความข้างต้นสอดคล้องกับคำอธิบายในวลี 'นายสั่งมา' ในบริบทการประท้วงในประเทศไทยของ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เผยกับ 'วอยซ์' ว่า แม้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการจะได้รับคำสั่งมาจริงเจ้าผู้บังคับบัญชา แต่การตัดสินใจสุดท้ายยังคงเกิดจากตัวเจ้าหน้าที่เหล่านั้นเอง ด้วยเหตุนี้ หากอาศัยความเป็นมนุษย์เข้ามองผู้ร่วมชุมนุมแล้ว จะไม่อาจอ้างวลี 'นายสั่งมา' เพื่อเลี่ยงความรับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง
อ.ประจักษ์ ชี้ว่า เจ้าหน้าที่ที่มาควบคุมม็อบตลอดช่วงที่ผ่านมา ย่อมต้องประจักษ์แจ้งต่อสายตาว่าผู้มาชุมนุมมาโดนสันติ มาด้วยใจบริสุทธิ์อยากเห็นบ้านเมืองดีขึ้น ดังนั้น การตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ซึ่งมีราคาที่ต้องจ่ายและอาจต้องจ่ายค่อนข้างสูงสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้น้อยจึงเป็นต้นทุนที่ต้องคำนวณให้ดี ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เองต้องไม่ลืมว่า ผู้มาชุมนุมมีราคาที่ต้องจ่ายเช่นเดียวกันและราคาเหล่านั้นอยู่ในกำมือของผู้ควบคุมฝูงชน
อย่างไรก็ดี แม้เราจะเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความเป็นมนุษย์มากขึ้นในการตัดสินใจ ทุกฝ่ายต้องไม่ลืมว่า ระบอบการปกครองที่กดขี่ให้ผู้คนต้องแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่มีสิทธิและเสรีภาพอย่างที่ควรมีตามระบอบประชาธิปไตย คือคำตอบที่แท้จริงในคำถามว่า 'ทำไมตำรวจโหดร้ายกับประชาชน'
อ้างอิง; Amnesty International, HRW, CFR, VOX, The Guardian, NPR, Britannica, The Atlantic, WSJ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;