ไม่พบผลการค้นหา
อนุภาคพลาสติกเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารมนุษย์แล้ว หลังนักวิจัยพบอนุภาคพลาสติกในอุจจาระมนุษย์เป็นครั้งแรก

ผลการศึกษาล่าสุดของสำนักงานสิ่งแวดล้อมของออสเตรียพบว่า มีอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรหรือ ไมโครพลาสติกอยู่ในอุจจาระมนุษย์เป็นครั้งแรก และไมโครพลาสติกอาจกระจายอยู่ในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ในปริมาณมากแล้ว

การศึกษาครั้งนี้ตรวจอุจจาระของกลุ่มตัวอย่าง 8 คนจากยุโรป ญี่ปุ่น และรัสเซียโดยใช้เครื่องฟลูเรียร์ทรานส์ฟอร์ม อินฟราเรดสเปคโทรมิเตอร์ และพบว่าอุจจาระของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีไมโครพลาสติกตั้งแต่ขนาด 50 - 500 ไมโครเมตรปนเปื้อนอยู่ โดยเฉลี่ยประมาณ 20 อนุภาคต่ออุจจาระ 10 กรัม และผลการศึกษาพบพลาสติกมากถึง 9 ชนิดจากที่มีการทดสอบพลาสติก 10 ชนิด โดยโพลีโพรพิลีน และโพลีเอธิลีน เทเรฟธาเลต เป็นพลาสติก 2 ชนิดที่พบมากที่สุด

จากผลการศึกษานี้ นักวิจัยประเมินว่าประชากรมนุษย์มากกว่าครึ่งหนึ่งน่าจะมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในร่างกายและอุจจาระแล้ว แต่จะต้องมีการศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวนมากขึ้น เพื่อยืนยันข้อสันนิษฐานนี้ต่อไป

นายฟิลิปป ชวาเบิล นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยการแพทย์เวียนนา ซึ่งเป็นหัวหน้าการวิจัยครั้งนี้ระบุว่า นี่เป็นการศึกษาครั้งแรกว่าไมโครพลาสติกเข้ามาสู่ห่วงโซ่อาหารมนุษย์ตามที่สันนิษฐานกันหรือไม่ และส่งผลกระทบกับมนุษย์อย่างไร โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร

นายชวาเบิลกล่าวว่า อนุภาคพลาสติกที่เล็กที่สุดสามารถเข้าไปในกระแสเลือด ระบบน้ำเหลือง และอาจเข้าไปถึงตับได้ หากไมโครพลาสติกเข้าไปในระบบทางเดินอาหารก็อาจจะกระทบไปถึงภูมิคุ้มกันของระบบย่อยอาหาร หรืออาจช่วยแพร่เชื้อโรคหรือสารพิษ

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังไม่สามารถตอบได้ว่าไมโครพลาสติกที่พบในอุจจาระของกลุ่มตัวอย่างมาจากไหน เพราะบันทึกการกินของกลุ่มตัวอย่างก็แสดงให้เห็นว่าทุกคนมีโอกาสจะกินพลาสติกเข้าไปโดยไม่รู้ตัว จากการกินอาหารที่ห่อด้วยพลาสติก หรือดื่มน้ำจากขวดพลาสติก ไม่มีใครในกลุ่มตัวอย่างเป็นมังสวิรัติ และ 6 ใน 8 คนนี้กินปลาทะเล

ไมโครพลาสติกบางส่วนเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เครื่องสำอาง ขณะเดียวกัน ไมโครพลาสติกก็เกิดขึ้นจากพลาสติกขนาดใหญ่ที่ฉีกขาดเป็นชิ้นเล็กๆ ในทะเล

ก่อนหน้านี้ มีการศึกษาที่พบไมโครพลาสติกในน้ำประปาทั่วโลก ในมหาสมุทร และในน้ำอัดลมด้วย อีกทั้งยังพบไมโครพลาสติกในท้องปลา ไปจนถึงแมลงต่างๆ ขณะที่นกหลายชนิดเริ่มพัฒนาโครงสร้างภายในลำไส้เล็กสำหรับการย่อยพลาสติก ซึ่งไปขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก และยังทำให้ตับทำงานหนักอีกด้วย

ที่มา : The Guardian, Forbes

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: