ไม่พบผลการค้นหา
วันที่ 5 มิ.ย.ของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและร่วมมือกันแก้ไข ปีนี้เราได้รวบรวม 5 ตัวเลขควรรู้เกี่ยวกับมลพิษจากพลาสติก

วันที่ 5 มิ.ย. ปีนี้ สหประชาชาติได้กำหนดแคมเปญประจำปี รณรงค์ให้ร่วมกัน “เอาชนะมลพิษจากพลาสติก” โดยมีเป้าหมายสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมของรัฐบาล ธุรกิจและประชาชนทั่วไป ในการลดปริมาณการใช้พลาสติกทั่วโลก ซึ่งมีแคมเปญหลักในการรณรงค์ 4 ข้อ คือ 1. ลดปริมาณการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง 2. ปรับปรุงการจัดการขยะพลาสติก 3. ลดปริมาณไมโครพลาสติก 4. ร่วมกันวิจัย เพื่อหาวัสดุอื่นที่จะมาทดแทนพลาสติกได้


8,300 ล้านตัน

พลาสติกเป็นวัสดุราคาถูก น้ำหนักเบา และทนทาน ทำให้ความต้องการในการใช้พลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสหประชาชาติประเมินว่า ทุกปีมีการใช้ถุงพลาสติกถึง 5 ล้านล้านใบ และต้องใช้น้ำมันถึง 17 ล้านบาร์เรลในการผลิตพลาสติกเหล่านี้

ความสะดวกสบายในการใช้พลาสติก ทำให้การใช้พลาสติกเพิ่มขึ้น จากช่วงปี 1950 ที่มีการใช้พลาสติกประมาณ 5 ล้านตันต่อปี เพิ่มขึ้นมาเป็น 300 ล้านตันในปี 2017 รวมพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้นในช่วงหลายทศวรรษมีมากถึง 8,300 ล้านตัน และพลาสติกที่ผลิตขึ้นมาส่วนใหญ่จะถูกทิ้งไปในเวลาอันรวดเร็ว


1 ครั้ง

พลาสติกที่ใช้ในปัจจุบันประมาณร้อยละ 50 เป็นพลาสติกที่ใช้เพียง 1 ครั้งแล้วทิ้งหรือรีไซเคิล เช่น ถุงพลาสติก หลอด ที่คนกาแฟ ขวดน้ำ และพลาสติกห่ออาหารทั้งหลาย ทำให้ขยะพลาสติกมีสัดส่วนร้อยละ 10 ของขยะที่มนุษย์สร้างขึ้น

ปัจจุบัน หลายประเทศเริ่มใช้มาตรการแบนการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง เช่น เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษเพิ่งประกาศห้ามขายหลอดที่คนกาแฟ และคอตตอนบัดที่ทำจากพลาสติก ขณะเดียวกันซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ทั่วโลกเช่นไอซแลนด์ก็พยายามลดการใช้ถุงพลาสติกและพลาสติกห่ออาหาร

นอกจากนี้ แคนาดาและอีกหลายประเทศก็ออกมาตรการแบนไมโครบีดส์พลาสติก หรือชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของพลาสติกในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ยาสีฟัน น้ำยาทำความสะอาด และอื่นๆ เนื่องจากไบโครบีดส์เหล่านี้จะตกไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการศึกษาล่าสุดพบว่า น้ำดื่มบรรจุขวดกว่าร้อยละ 90 และน้ำประปาร้อยละ 83 มีไมโครพลาสติกปนเปื้อน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเลือด ท้อง และปอดของเรา

WT_พลาสติก.jpg



450 ปี

ในขณะที่เวลาที่เราใช้พลาสติกอาจกินเวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น แต่การย่อยสลายพลาสติกต้องใช้เวลานานมาก โดยขวดน้ำดื่มพลาสติก 1 ขวดอาจต้องใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 450 ปี ขณะที่ถุงพลาสติกที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้อาจต้องอยู่ในบ่อขยะนาน 10 - 1,000 ปีกว่าจะย่อยสลาย และแม้ถุงพลาสติกจะย่อยสลายในมหาสมุทรได้ในเวลาประมาณ 1 ปีเท่านั้น แต่เศษพลาสติกขนาดเล็กเหล่านี้ก็ยังมีสารพิษอย่างบิสฟีนอล เอ (BPA) และพีเอส โอลิโกเมอร์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลและมนุษย์เอง


100,000 ตัว

ทุกปี ขยะพลาสติก 13 ตันตกลงไปสู่ท้องทะเล คิดเป็นร้อยละ 70 ของขยะทั้งหมดที่ตกลงสู่ท้องทะเล และขยะพลาสติกเหล่านี้ก็ทำให้สัตว์น้ำกว่า 100,000 ตัวต้องตาย

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็เพิ่งมีข่าววาฬขนาดเล็กนำร่องเกยตื้นบนชายหาดทางตอนใต้ของไทย ซึ่งเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เนื่องจากในท้องของวาฬตัวนั้นมีขยะพลาสติกอยู่ในท้องถึง 8 กิโลกรัม หรือมากกว่า 80 ถุง และเมื่อปีก่อนเจ้าหน้าที่สเปนก็เปิดเผยว่าวาฬหัวทุยยักษ์เกยตื้นมาพร้อมถุงพลาสติกหนักกว่า 30 กิโลกรัมอยู่ในท้องของมัน

66.jpg


อันดับ 7

ทีมนักวิจัยอเมริกันและออสเตรเลียที่นำโดยเจนนา แจมเบ็ก วิศวกรสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยจอร์เจียได้จัดอันดับประเทศที่สร้างมลพิษทางน้ำด้วยขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก โดยจีนเป็นประเทศที่ปล่อยให้ขยะพลาสติกตกลงไปสู่น่านน้ำสากลมากที่สุดในโลกในปริมาณมากถึง 8.8 เมตริกตันต่อปี รองลงมาเป็น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ศรีลังกา อียิปต์ และไทยมาเป็นอันดับ 7 โดยไทยปล่อยให้ขยะพลาสติกลงสู่น่านน้ำสากลกว่า 1 เมตริกตันต่อปี

ประเทศทิ้งขยะพลาสติกลงทะเล


จากการประเมินพบว่า แต่ละปีประเทศไทยมีขยะมากถึง 27 ล้านตัน หรือวันละ 74,000 ตัน ในจำนวนนี้เป็นขยะจำพวกพลาสติกกว่าร้อยละ 20-25 โดยรายงานของเดอะ วอลสตรีท เจอร์นัลเมื่อปี 2010 ระบุว่า ไทยและอีกหลายประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียนไม่มีกระบวนการจัดการขยะพลาสติกและการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพมากพอ ทำให้ขยะพลาสติกเหล่านี้ปนเปื้อนในแหล่งน้ำธรรมชาติ และไหลลงสู่ทะเลในปริมาณมหาศาล


ที่มา: News.com.au, Inter Press Service, Statista