ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยประเทศไทย สามารถลดปริมาณขยะพลาสติกลงได้อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง พร้อมเตรียมติดบูมดักขยะในคลองและแม่น้ำทุกสายทั่วประเทศปีหน้า

นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการขยะพลาสติก เพื่อส่งเสริมการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืนของประเทศไทยในอนาคต ว่า ภาพรวมประเทศไทยสามารถลดปริมาณขยะพลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ถุงพลาสติกหูหิ้ว หลอดกาแฟลดลงอย่างเห็นได้ชัด 

โดยภาครัฐเป็นต้นแบบนำร่องการลดขยะพลาสติกมาใช้เป็นตัวชี้วัดหน่วยงานภาครัฐ 20 กระทรวงเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับภาคเอกชนและประชาชน ควบคู่กับงดใช้โฟมบรรจุอาหารและถุงพลาสติกในตลาดสดและอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว ประชาชน และร้านค้าให้ความร่วมมืออย่างดีมาใช้ถุงกระดาษ ถุงผ้า และวัสดุอื่นทดแทน สิ่งสำคัญกำลังเร่งแก้ปัญหาขยะพลาสติกในแม่น้ำสายต่างๆไหลลงสู่ทะเลมากที่สุดจนกลายเป็นขยะทะเลกว่าร้อยละ 70-80 

ซึ่งในปี 2562 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จะติดตั้งบูม เพื่อกั้นขยะจากคลองและแม่น้ำไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล แล้วเก็บนำขยะเหล่านั้นไปกำจัดอย่างถูกต้อง เนื่องจากแต่ละปีมีขยะพลาสติกไหลลงสู่ทะเลกว่า 8 ล้านตัน พบเป็นแพขยะในมหาสมุทรมีขนาดใหญ่กว่านครนิวยอร์ก ที่สำคัญขยะในทะเลร้อยละ 75 มาจากบนบกที่มีต้นกำเนิดจากแม่น้ำเพียง 10 สายเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นแม่น้ำในแถบเอเชีย หากลดจำนวนขยะพลาสติกในแม่น้ำได้ร้อยละ 50 จะช่วยลดขยะพลาสติกทั่วโลกได้ถึงร้อยละ 37

ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณร้อยละ 12 ของปริมาณขยะทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ปีละ 500,000 ล้านตัน แบ่งเป็น ขวดพลาสติกน้ำดื่ม 4,400 ล้านขวดต่อปี มีสัดส่วนการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap Seal) ร้อยละ 60 หรือประมาณ 2,600 ล้านขวด (520 ตันต่อปี) และถุงพลาสติกหูหิ้ว 45,000 ล้านใบต่อปี