หลังจากรายงานข่าวดังกล่าวถูกส่งต่ออกไปจนทั่วทั้งโซเชียลมีเดียว่า การเปลี่ยนชื่อดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความสับสน รวมถึงงบประมาณในการเปลี่ยนชื่อป้ายต่างๆ จากที่สาธารณะจาก ‘Bangkok’ ไปเป็น ‘Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok)’ ซึ่งจะทำให้เกิดความยาวที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เพจเฟซบุ๊กของ ราชบัณฑิตยสภา ออกมาชี้แจงว่า 'กรุงเทพมหานคร' ยังคงใช้ได้ทั้ง “KrungThep Maha Nakhon' และ 'Bangkok'
วอยซ์ขอชวนคุณย้อนดูกระแสการเปลี่ยนชื่อบ้านเมืองของตนเอง ซึ่งมักเกิดในประเทศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย โดยข้ออ้างของการเปลี่ยนชื่อในแต่ละประเทศและเมืองมักหนีไม่พ้นสาเหตุในด้านการโหยหาอัตลักษณ์ความเป็นชาติของตนเอง ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นในสถานที่ต่างๆ ที่อาจทำให้ผู้คนสงสัยว่า ‘จะเปลี่ยนชื่อไปทำไม?’
‘เออร์โดกัน’ เปลี่ยนชื่อ ‘ตุรกี’ เป็น ‘ตุรเคีย’
เรเจป ทายยิป เออร์โดกัน ประธานธิบดีของตุรกี ประกาศเปลี่ยนชื่อ ‘ตุรกี’ (Turkey) ให้เป็น ‘ตุรเคีย’ (Turkiye) เมื่อช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่า ตุรเคียมีความหมายและแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรม อารยธรรม และคุณค่าของความเป็นชนชาติตุรกีได้ดีที่สุด
นอกจากนี้ เออร์โดกันได้เรียกร้องให้นานาชาติยอมรับการเรียกชื่อตุรกีใหม่ให้เป็นตุรเคียในมาตรฐานเดียวกัน โดยชื่อว่าตุรเคียจะถูกใช้แทนชื่อต่างๆ ในภาษาอื่นๆ เช่น Turkey, Turkei, Turquie และชื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่ ‘Turkiye’
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนชื่อตุรกีเป็นตุรเคียของเออร์โดกันยังคงไม่ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลตุรกี โดยเออร์โดกันระบุว่า การประกาศใช้ชื่อใหม่นี้ยังคงอยู่ภายใต้การพิจารณาของรัฐบาลตุรกี และถึงแม้เวลาการประกาศใช้จะยังไม่ถูกเปิดเผยออกมา “แต่กระบวนการกำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน”
ตุรกีใช้ชื่อประเทศของตุรเคียมาตั้งแต่ราวปี 2466 หลังการเข้ายึดครองของโลกตะวันตกเมื่อครั้งจักรวรรดิออตโตมานล่มสลาย ชื่อตุรเคียเริ่มเพี้ยนเสียงกลายเป็นตุรกีจากรากศัพท์ในภาษาลาตินว่า ‘Turquia’ เรื่อยมา จนกลายเป็นชื่อตุรกีในปัจจุบัน นอกจากนี้ Turkey ยังไปคล้องเสียงกับไก่งวงในภาษาอังกฤษ ซึ่งก่อให้เกิดความสับสนขึ้นบ่อยครั้ง
เผด็จการคาซัคสถานเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงเพื่อยกย่อง ปธน.คนแรก
ในปี 2562 หลังจากการขึ้นสาบานตนรับตำแหน่งของ คาสซิม โจมาร์ต โทกาเยฟ ประธานาธิบดีของคาซัคสถาน โทกาเยฟได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงของประเทศจาก ‘อัสตานา’ ไปเป็น ‘นูร์ซุลตัน’ เพื่อ “ยกย่องประธานาธิบดีคนแรก” อย่าง นูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ ที่ปกครองประเทศคาซัตสถานมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี
หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต คาซัคสถานอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการมาอย่างยาวนาน ทั้งการจำกัดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประชาชน ทั้งนี้ นโยบายหนึ่งในการปกครองเผด็จการสุดขั้วหนีไม่พ้นการเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงของตนเอง เพื่อยกย่องมรดกผู้นำเผด็จการของประเทศต่อไป
การเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงมาเป็นนูร์ซุลตันของคาซัคสถาน ไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนมากนัก จากรายงานข่าวระบุว่า มีประชาชนอย่างน้อย 20 รายเดินประท้วงการตั้งชื่อเมืองหลวงใหม่ อย่างไรก็ดี ผู้ประท้วงทั้งหมดถูกจับกุมโดยทางการคาซัคสถาน
กษัตริย์ ‘สวาซิแลนด์’ เปลี่ยนชื่อประเทศ กันคนสับสนเป็น สวิสเซอร์แลนด์
ในปี 2561 อดีตสวาซิแลนด์ ประเทศที่ถูกปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในทวีปแอฟริกาเปลี่ยนชื่อประเทศตนเองไปเป็น ‘เอสวาตินี’ หรือที่แปลว่า "แผ่นดินแห่งชาวสวาซี" เนื่องในโอกาสครอบรอบการประกาศเอกราชประเทศครบ 50 ปี ด้วยสาเหตุของสมเด็จพระราชาธิบดี อึมสวาติที่ 3 ที่ว่ากันไม่ให้คนสับสนชื่อประเทศตนเองกับสวิสเซอร์แลนด์
การเปลี่ยนชื่อประเทศดังกล่าวไม่ได้เป็นชื่นชอบของประชาชนมากนัก เพราะมันถูกประกาศออกมาอย่างไม่คาดฝัน ประชาชนบางส่วนมองว่ากษัตริย์ของ ‘เอสวาตินี’ ควรมุ่งความสนใจไปที่การแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่ทำให้ประชาชนกำลังพบกับปัญหาความยากจน มากกว่าการมานั่งเปลี่ยนชื่อประเทศของตนเอง
สมเด็จพระราชาธิบดี อึมสวาติที่ 3 เรียกชื่อประเทศตนเองว่า ‘เอสวาตินี’ มาเป็นเวลานาน ทั้งในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2560 และการประชุมใหญ่สหภาพแอฟริกาในปี 2557 แต่การประกาศใช้ชื่อใหม่แบบทันทีทันใดกลับทำให้ประชาชนเกิดความสับสนมากขึ้นไปกว่าเดิม
การเปลี่ยนชื่อบ้านเมืองมักเกิดขึ้นในหลายเหตุผล จำนวนไม่น้อยเกิดขึ้นจากลัทธิชาตินิยมเมื่อประเทศนั้นๆ ปกครองอยู่ภายใต้เผด็จการ เช่น พม่าภายใต้การปกครองเผด็จการทหารเมื่อปี 2532 ที่เปลี่ยนชื่อประเทศตนเองมาเป็นเมียนมา เช่นเดียวกันกับประเทศไทยที่เคยมีชื่อว่าสยาม และถูกเปลี่ยนใหม่เป็นไทยในปี 2488 ภายใต้การปกครองของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ก่อนที่ในปี 2565 นี้ ทางการไทยจะประกาศให้ใช้ชื่อเมืองหลวงในภาษาอังกฤษจาก ‘Bangkok’ ไปเป็น ‘Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok)’
ที่มา:
https://www.trtworld.com/magazine/why-turkey-is-now-turkiye-and-why-that-matters-52602
https://www.bbc.com/news/blogs-trending-47652680
https://www.dw.com/en/from-swaziland-to-eswatini-whats-in-a-name-change/a-45372631