สงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นสงครามที่มีตัวแสดงต่างๆ ในเวทีระหว่างประเทศเข้ามามีบทบาทไม่ในทางตรงก็ทางอ้อม แม้แต่สวิตเซอร์แลนด์ที่มีนโยบายวางตัวเป็นกลางนับตั้งแต่สงครามโลก ก็ยังเข้าร่วมการคว่ำบาตรรัสเซียในสงครามนี้
นอกจากนี้ ในการเปิดรับทหารอาสาทั่วโลกของกองทัพยูเครน จนมีเหล่าทหารอาสาจากชาติต่างๆ สมัครเข้าร่วมรบต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย แม้จะไม่ได้มีการส่งกองทัพนานาชาติเข้าไปร่วมรบจากทางรัฐโดยตรง แต่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ปรากฏการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่สงครามระหว่างสองรัฐ หากแต่เป็นสงครามระดับโลกทั้งในแง่เศรษฐกิจ การเมือง จนกระทั่งความเป็นพลเมืองโลกของพลเรือนในรัฐต่างๆ
มีอะไรเกิดขึ้น และอะไรคือปัจจัยของสงครามในครั้งนี้บ้าง นับตั้งแต่การรับรองเอกราชสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ และสาธารณรัฐประชาชนลูฮานสก์โดยรัสเซีย เมื่อ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา และการออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการรุกรานยูเครนของกองทัพรัสเซียในวันแรกเมื่อ 24 ก.พ. ของ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย จนถึงสถานการณ์ปัจจุบันของสงคราม ‘วอยซ์’ ชวนย้อนไปดูต้นตอของปัญหาที่เป็นประวัติศาสตร์ความขัดแย้งอันยาวนานตั้งแต่สมัยก่อนสงครามเย็น ซึ่งมีหลากหลายประเด็นที่ยึดโยงกับประวัติศาสตร์ที่ปูตินได้หยิบยกมาใช้เป็นข้ออ้างในการบุกยูเครนของกองทัพรัสเซีย ดังที่ได้กล่าวในวีดีโอแถลงการณ์ของเครมลิน
ย้อนกลับไปในปี 2461 ยูเครนประกาศอิสรภาพจากรัสเซียในสงครามไครเมีย นานาชาติยอมรับการเป็นรัฐเอกราชของยูเครนในสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Treaty of Brest-Litovsk) จนเมื่อกองกำลังโซเวียตโค่นอำนาจอธิปไตยของยูเครน สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครนก็ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2464 ต่อมาในปี 2482-2487 สหภาพโซเวียตได้ผนวกดินแดนยูเครนตะวันตกจากโปแลนด์และโรมาเนีย จนในภายหลังที่นาซีเยอรมันกับพันธมิตรอักษะได้บุกยึดสหภาพโซเวียตและเข้ายึดครองยูเครนในเวลาต่อมา
ผ่านมาหลายทศวรรษของการปกครองภายใต้สหภาพโซเวียต ยูเครนได้รับอิสรภาพคืนและประกาศเอกราชในปี 2534 จากการลงประชามติโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 92% ในเวลาต่อมา รัสเซีย ยูเครน และเบลารุส ได้ลงนามในข้อตกลงโดยตระหนักว่าสหภาพโซเวียตได้ถูกยุบลงไปแล้ว ยูเครนได้เริ่มเปลี่ยนประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด และเข้ามาครอบครองคลังอาวุธนิวเคลียร์จำนวนมากที่เคยเป็นของสหภาพโซเวียต แต่สุดท้าย ยูเครนได้ยอมปลดนิวเคลียร์ลงในปี 2537 เพื่อแลกกับคำสัญญาของรัสเซียว่าจะเคารพอธิปไตยของยูเครนในข้อตกลงบูดาเปสต์
ในปี 2557 กองกำลังรัสเซียมีเป้าหมายในการสร้างระเบียงระหว่างแหลมไครเมียของยูเครนที่ถูกผนวกเข้ากับรัสเซีย กับพื้นที่ที่ถูกยึดครองโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครนตะวันออกซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยรัสเซีย โดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนประกาศเป็นอิสระจากยูเครน และแยกตัวออกมาเป็นสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และสาธารณรัฐประชาชนลูฮานสก์ แต่กองกำลังยูเครนใกล้กับเมืองมือกอลายิวทางตะวันตก และเมืองมารีอูปอลทางตะวันออกเฉียงใต้มีการต่อต้านความพยายามดังกล่าวของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอย่างรุนแรง ทำให้การรุกรานของรัสเซียช้าลงเป็นอย่างมาก การปะทะทางทหารในภูมิภาคดอนบาสจึงเริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง
ทั้งนี้ การทำข้อตกลงที่กรุงมินสก์ (Minsk Accords) ในเมืองหลวงของเบลารุสเมื่อปี 2558 เพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทภูมิภาคดอนบาส เช่น การแลกเปลี่ยนนักโทษ การส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เขตปลอดทหาร การถอนอาวุธหนัก และมีความพยายามในการทำข้อตกลงฉบับสอง โดยการยื่นมือเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยของ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงได้พังทลายลงอย่างรวดเร็ว เพราะการละเมิดของทั้งสองฝ่าย ต่อมาในปี 2562 โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ได้ชนะจากผลโหวตเสียงข้างมาก และขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดียูเครน โดยเซเลนสกีสัญญาว่าจะสร้างสันติภาพกับรัสเซีย และฟื้นฟูภูมิภาคดอนบาสให้กลับคืนสู่ยูเครนอีกครั้ง
ในวันที่ 21 ก.พ. รัสเซียประกาศรับรองเอกราชของภูมิภาค ที่มีข้อพิพาทในภูมิภาคดอนบาสให้เป็นรัฐอิสระแยกจากยูเครน คือ สาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ และ สาธารณรัฐประชาชนลูฮานสก์ หลังจากการประกาศของรัสเซีย สหรัฐฯ ได้ออกมาประกาศทันทีว่า ตนจะไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำรัสเซีย-สหรัฐฯ ที่กำลังจะจัดขึ้นโดยผู้นำฝรั่งเศส เพื่อประท้วงรัสเซียจากประเด็นการรับรองเอกราชสองภูมิภาคในดอนบาส ซึ่งเวทีการประชุมสุดยอดควรจะจัดขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. และคาดหมายว่าจะเป็นการเจรจาครั้งสุดท้ายเพื่อหาทางออกให้กับวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนโดยสันติวิธี
ในวันที่ 24 ก.พ. กองทัพรัสเซียเคลื่อนกำลังของตนเข้าไปในภูมิภาคดอนบาสทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน นับเป็นวันแรกของการรุกราน โดยปูตินได้ออกวิดีโอแถลงการณ์สื่อสารกับชาวรัสเซียว่า เป้าหมายของเขาคือการ "กำจัดลัทธินาซีในยูเครน" เพื่อปกป้องประชาชนที่เขาอ้างว่าถูกกลั่นแกล้ง และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยรัฐบาลยูเครนมานานกว่าแปดปี
ปูตินอ้างว่ารัสเซียถูกมองเป็นผู้ร้าย เมื่อต้องการแทรกแซงด้วยเหตุผลทางด้านมนุษยธรรมในภูมิภาคดอนบาส ที่มีชายแดนติดกันกับรัสเซีย และมีข้อพิพาทในประเด็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทั้งสอง ทั้งๆ ที่สหรัฐฯ ก็เคยกระทำการในลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน โดยการแทรกแซงผ่านองค์การระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ เช่น เหตุการณ์ในอิรัก เหตุการณ์ในซีเรีย ฯลฯ โดยปูตินกล่าวว่าการอ้างเหตุผลด้านมนุษยธรรมของสหรัฐฯ นั้นไม่มีความชอบธรรม
ทั้งนี้ ในวิดีโอยังมีการกล่าวตอกย้ำความสามัคคีที่ฝังแน่นในหมู่ชาวสลาฟตะวันออก กล่าวคือ รัสเซีย ยูเครน และเบลารุส ที่สืบเชื้อสายมาจากจักรวรรดิเคียฟรุสในยุคกลาง ซึ่งเน้นย้ำถึงความเป็นเอกภาพของจักรวรรดิรัสเซียและชาวสลาฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความเป็น “สลาฟ” และ แกนกลางของศาสนาคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ ทั้งยังมีการกล่าวอ้างว่าอัตลักษณ์ของยูเครนและเบลารุสที่ดูแตกต่างกัน เป็นผลมาจากการแทรกแซงโดยต่างประเทศใน "โครงการต่อต้านรัสเซีย"
“เราต้องหยุดความโหดร้ายนั้น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของผู้คนนับล้านที่อาศัยอยู่ที่นั่น และผู้ที่ฝากความหวังไว้ที่รัสเซีย ให้กับพวกเราทุกคน” ปูตินกล่าว
ทั้งนี้ เรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยูเครนนั้นไม่มีมูล แต่เป็นส่วนหนึ่งของการเล่าเรื่องที่รัสเซียทำซ้ำมาหลายปีโดย ดมีโทร คูเลบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครน ได้กล่าวว่า “มันบ้ามาก บางครั้งพวกเขาก็ไม่สามารถอธิบายสิ่งที่พวกเขาอ้างถึงได้”
ปูตินยังกล่าวถึงการตอบกลับของนานาชาติ ทั้งสหรัฐฯ และพันธมิตรของสหรัฐฯ ว่าได้คุกคามรัสเซียด้วยการเคลื่อนยุทโธปกรณ์ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) เข้ามาใกล้เขตแดนของรัสเซีย ปูตินเชื่อว่าการที่ NATO เริ่มมีพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐตน เป็นการกระทําที่ไม่มีความชอบธรรม แต่กลับถูกสนับสนุนจากนานาชาติทั้งๆ ที่ความชอบธรรมที่ สหรัฐฯ สร้างขึ้นมา เป็นการสร้างบรรทัดฐานระเบียบโลกหลังสงครามเย็นขึ้นมาโดยสหรัฐฯ เอง
นับตั้งแต่การประกาศรับรองเอกราชของสองภูมิภาคในดอนบาสของรัสเซีย เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา สหรัฐฯ และพันธมิตรโลกตะวันตกอย่างสหราชอาณาจักร แคนาดา ญี่ปุ่น ฯลฯ ได้พากันประกาศคว่ำบาตรต่อรัสเซียทันที เช่น การประกาศให้รัสเซียถูกจำกัดออกจากระบบการชำระเงินทั่วโลก (SWIFT) รวมถึงสหภาพยุโรปได้ขึ้นบัญชีดำนักการเมือง สมาชิกสภานิติบัญญัติ และเจ้าหน้าที่รัสเซีย ห้ามนำเข้าเหล็กจากรัสเซีย ห้ามนักลงทุนในสหภาพยุโรปซื้อขายพันธบัตรรัฐของรัสเซีย มีการชะลอโครงการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ซึ่งเป็นท่อส่งแก๊สตรงเข้าสู่เยอรมนีโดยไม่ต้องผ่านยูเครน
สหรัฐฯ แคนาดา และสหภาพยุโรป ยังได้ห้ามนำเข้าน้ำมันรัสเซียในทั้งหมดและบางส่วน แม้แต่สวิตเซอร์แลนด์ที่มีนโยบายวางตัวเป็นกลางนับตั้งแต่สงครามโลก ก็ยังเข้าร่วมการคว่ำบาตรรัสเซียในสงครามนี้ด้วย ผ่านการคว่ำบาตรธุรกรรมกับธนาคารกลางรัสเซีย ระงับทรัพย์สินในต่างประเทศ ห้ามการส่งออกที่มีส่วนในการเพิ่มสมรรถนะทางการทหารและเทคโนโลยีของรัสเซีย ใช้มาตรการของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการเข้าถึง SWIFT ของธนาคารรัสเซีย และอายัดทรัพย์สินรัสเซียมูลค่ากว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.1 แสนล้านบาท) ฯลฯ
สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กองทัพรัสเซียตัดสินใจก่อในครั้งนี้ ส่งผลให้ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนตัวมากที่สุดในรอบหลายปี และการคว่ำบาตรของนานาชาติทำให้รัสเซียติดหนี้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2541 เพราะการตัดความสัมพันธ์ทางการเงินของนานาชาติทำให้การเงินของรัสเซียหยุดชะงัก โดยรัสเซียผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3.5 พันล้านบาท)
ทิโมธี แอช นักยุทศาสตร์ด้านการลงทุนของบริษัทบลูเรย์ แอสเซท แมเนจเมนท์กล่าวว่า สำนักงานควบคุมสินทรัพย์ต่างชาติ (OFAC) ในสังกัดกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลการคว่ำบาตรด้านเศรษฐกิจและการค้านั้น สามารถสั่งระงับไม่ให้รัสเซียชำระหนี้พันธบัตรผ่านทางสถาบันการเงินในฝั่งตะวันตกได้ทุกเวลา ซึ่งจะทำให้รัสเซียกลายเป็นประเทศที่ผิดนัดชำระหนี้ได้ทุกเวลาเช่นกัน
รัสเซียเข้าควบคุมเมืองท่ามารีอูปอล หลังจากการปิดล้อมที่กินเวลานานกว่าสองเดือน ก่อนสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา ส่วนในปัจจุบัน กองทัพรัสเซียได้ทำการเข้าควบคุมเมืองลีซีซานสก์ทางตะวันออกของยูเครนสำเร็จ โดยกองกำลังยูเครนยืนยันว่าพวกเขาได้ถอนตัวจากเมืองลีซีซานสก์แล้ว
เจ้าหน้าที่รัสเซียกล่าวว่ากองกำลังของพวกเขากำลังต่อสู้เพื่อ "การปลดปล่อยอย่างสมบูรณ์" ของภูมิภาคดอนบาส ซึ่งในขณะนี้ รัสเซียได้ควบคุมพื้นที่ทั้งหมดของภูมิภาคลูฮานสก์แล้ว ความคืบหน้านี้ของรัสเซียเกิดขึ้นจากการยึดเมืองเมืองเซเวโรโดเนสก์ที่อยู่ใกล้เคียงเมื่อไม่นานมานี้ได้สำเร็จ โดย เซเลนสกีได้ให้คำมั่นว่ากองกำลังของยูเครนจะกลับมาเพื่อยึดลีซีชานสก์คืน "ด้วยการจัดหาอาวุธสมัยใหม่เพิ่มขึ้น"
หลังจากกองทัพรัสเซียสามารถควบคุมเมืองลีซีชานสก์ และภูมิภาคลูฮานสก์ได้สำเร็จ แผนถัดไปของรัสเซียคาดว่าจะเป็นการยึดครองภูมิภาคโดเนตสก์ ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักร (MoD)
ทั้งนี้ กองทัพรัสเซียยังคงโจมตีกองกำลังยูเครนอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ทางตอนใต้ของยูเครนอย่างเมืองซาปอริซเชีย, เคอร์ซอน, มือกอลายิว และ ดนีปรอเปตรอฟสค์ สถาบันการศึกษาแห่งสงคราม (ISW) รายงานว่า การให้ลำดับความสำคัญในปัจจุบันของรัสเซียในพื้นที่ตอนใต้ของยูเครน คือ การหยุดการตอบโต้ของกองกำลังยูเครน ซึ่งกองทัพรัสเซียประสบความสำเร็จในการยึดครองดินแดนได้บางบางส่วน แต่ในทางทิศตะวันตก รัสเซียตั้งเป้าที่จะเข้าควบคุมโอเดสซา ออบลาสต์ และขัดขวางไม่ให้ยูเครนเข้าถึงทะเลดำได้ อย่างไรก็ดี กองทัพรัสเซียถูกขัดขวางในเมืองมือกอลายิว และถูกบีบกลับให้ถอยไปสู่เคอร์ซอนโดยกองกำลังยูเครน
ในเดือน มี.ค. รัสเซียประสบความสำเร็จในการยึดเกาะงูในทะเลดำ และใช้การป้องกันทางอากาศประจำการที่เกาะเพื่อปกป้องเรือของกองทัพเรือรัสเซียที่ปิดกั้นชายฝั่งยูเครน และขัดขวางการค้าทางทะเลของยูเครนในทะเลดำ อย่างไรก็ตาม กองทัพรัสเซียถอนกำลังออกจากเกาะเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. โดยยูเครนกล่าวว่าตนได้ประสบความสำเร็จในการบีบกองทัพรัสเซีย ผ่านการโจมตีด้วยปืนใหญ่ ทั้งนี้ รัสเซียกล่าวถึงการถอนตัวออกจากเกาะว่าการถอนกำลังในครั้งนี้นับเป็น "การแสดงความปรารถนาดี"
ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอดผู้นำตะวันตก G7 โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และประธาน G7 ให้คำมั่นในการแถลงข่าวปิดการประชุมว่า “สิ่งสำคัญคือการยืนหยัดร่วมกันในระยะยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น” อย่างไรก็ตาม ในการประชุมสุดยอดมีความขัดแย้งในประเด็นเรื่องการหาวิธีลดกระแสเงินเข้าสู่รัสเซียจากการบริโภคพลังงานจากรัสเซียของตะวันตก
เยอรมนีเกรงว่าการจำกัดราคาน้ำมันหรือก๊าซจะนำไปสู่การตัดขาดแหล่งพลังงานของรัสเซียอย่างสมบูรณ์ และจะเป็นการล่มสลายของอุตสาหกรรมในยุโรป ซึ่ง G7 กล่าวว่าจะ "ดำเนินการทันทีเพื่อรักษาแหล่งพลังงานและลดราคาที่พุ่งสูงขึ้นจากสภาวะตลาดที่ผันผวน โดยรวมไปถึงการสำรวจมาตรการเพิ่มเติม เช่น การจำกัดราคา"
ทิศทางของสงครามจะดำเนินไปทางไหน ต้องมีผู้บริสุทธิ์สูญเสียอีกเท่าไหร่ และผลลัพธ์ของความบาดหมางครั้งนี้จะจบลงอย่างไร ถูกกำหนดในหมากเกมการเมืองของผู้นำที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายทางการเมือง ความสูญเสียมิได้เกิดกับผู้จุดชนวนสงคราม แต่เป็นพลเรือนหลายล้านคนที่กลายเป็นเหยื่อของความรุนแรง ทั้งเด็กที่กลายเป็นเด็กกำพร้า อัตราการถูกข่มขืน ความสูญเสียในทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย ตลอดจนชีวิตของพลเรือน
เรียบเรียงโดย สายธาร เลิศสุริยะกุล
ที่มา:
https://www.nytimes.com/2022/03/26/world/europe/ukraine-russia-tensions-timeline.html
https://www.csis.org/analysis/russias-war-ukraine-identity-history-and-conflict
https://www.reuters.com/world/europe/extracts-putins-speech-ukraine-2022-02-21/
https://www.bbc.com/news/world-europe-56720589
http://en.kremlin.ru/events/president/news/67843
https://www.dw.com/en/russia-recognizes-independence-of-ukraine-separatist-regions/a-60861963
https://www.government.nl/topics/russia-and-ukraine/the-netherlands-position
https://www.aljazeera.com/news/2022/2/9/what-is-the-minsk-agreement-and-why-is-it-relevant-now
https://graphics.reuters.com/UKRAINE-CRISIS/SANCTIONS/byvrjenzmve/
https://www.bbc.com/news/world-europe-60506682
https://www.theguardian.com/world/2022/jun/28/g7-summit-talks-russia-war-ukraine